x close

เงินในบัญชีหาย ถูกดูดเงินไป ทำไงดี รวมวิธีแก้ไขพร้อมป้องกันก่อนตกเป็นเหยื่อ

          เงินในบัญชีหาย เพราะถูกมิจฉาชีพดูดเงินออกจากบัญชีไปใช้ เจอแบบนี้จะทำอย่างไรได้บ้าง พร้อมแนะนำวิธีป้องกันบัญชี-บัตรเครดิตถูกแฮก 
          แม้การทำธุรกรรมออนไลน์จะให้ความสะดวกอย่างมากในยุคปัจจุบัน แต่ก็ต้องแลกกับความเสี่ยงถูกโจรกรรมข้อมูลได้ง่ายขึ้น อย่างที่เราได้ยินข่าวกันบ่อย ๆ ว่า มีเคสเงินในบัญชีหายไปทั้งที่เจ้าของบัญชีไม่ได้เบิกถอนหรือซื้อของใด ๆ เลย ซึ่งบัญชีส่วนใหญ่ที่โดนแฮกมักเป็นบัญชีบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตที่เคยผูกไว้กับแอปพลิเคชัน เกม หรือบริการต่าง ๆ บนออนไลน์ แล้วถ้าเราเป็นหนึ่งในผู้เสียหายจะต้องทำอย่างไรนะ ?
เงินในบัญชีหายไป ทำยังไงได้บ้าง
เงินในบัญชีหาย

          หากพบว่าเงินหายไปจากบัญชีให้ตรวจสอบและดำเนินการได้ดังนี้

1. โทร. สอบถามคอลเซ็นเตอร์ของธนาคาร

          ขั้นแรกโทร. ไปสอบถามคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารก่อนว่าเงินที่ถูกถอนออกไปนั้นเป็นค่าใช้จ่ายส่วนไหนหรือไม่ ใครเป็นผู้เรียกเก็บเงิน เพราะบางคนเคยสมัครใช้บริการรายปีกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วให้หักเงินจากบัญชีอัตโนมัติ เช่น ค่า SMS แจ้งเตือน, ค่าธรรมเนียมบัตรเดบิต, ชำระค่าสาธารณูปโภค, ค่าสมาชิกต่าง ๆ จนลืมไปแล้ว หรือแม้แต่ค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีที่ไม่เคลื่อนไหวมานาน เลยเข้าใจว่าเงินหายจากบัญชีไป ดังนั้นลองสอบถามธนาคารดูก่อน

          แต่ถ้ามั่นใจว่าถูกมิจฉาชีพถอนเงินออกจากบัญชีจริง ๆ ก็ให้แจ้งธนาคารเพื่อระงับและตรวจสอบในเบื้องต้นได้เลย

          สำหรับกรณีบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตถูกคนอื่นนำไปใช้ ให้แจ้งอายัดบัตรทันที โดยทำได้ผ่านแอปพลิเคชัน หรือติดต่อคอลเซ็นเตอร์ของธนาคาร หรือไปที่สาขาธนาคาร

รวมเบอร์ Call Center แจ้งอายัดบัตรธนาคารต่าง ๆ รีบโทร. ถ้าทำบัตรเดบิต-บัตรเครดิตหาย

2. รีบถอนเงินออกจากบัญชี

          เมื่อพบบัญชีไหนกำลังถูกถอนเงิน หรือถอนออกไปบางส่วนแล้ว แต่ยังมีเงินเหลือติดบัญชีอยู่ แนะนำให้เจ้าของบัญชีรีบถอนเงินหรือโอนเงินไปยังบัญชีอื่น ๆ เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพถอนจนเกลี้ยงบัญชี 

3. ยกเลิกการผูกบัญชี ผูกบัตรต่าง ๆ บนออนไลน์

          เนื่องจากไม่อาจทราบได้ว่าคนร้ายนำข้อมูลบัญชีหรือบัตรของเรามาจากช่องทางใด ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ให้เข้าไปยกเลิกการผูกบัญชี-บัตรในแอปพลิเคชันหรือบริการต่าง ๆ บนออนไลน์ทั้งหมดไว้ก่อน รวมทั้งเปลี่ยนพาสเวิร์ดในอีเมลหรือเว็บไซต์ต่าง ๆ ด้วย 

4. เก็บรวบรวมข้อมูลหลักฐานทั้งหมด

    เตรียมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้พร้อม เช่น
  • แคปภาพหน้าจอหรือพรินต์รายการเดินบัญชีที่มีความเคลื่อนไหวผิดปกติออกมา โดยทำเครื่องหมายตรงยอดเงินที่ผิดปกติ พร้อมกับถ่ายเอกสารไว้อย่างน้อย 2 ชุด
  • สมุดบัญชีธนาคาร
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเรา
  • เอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)

5. แจ้งความ

          นำหลักฐานทั้งหมดเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ใกล้บ้าน เพื่อความสะดวกในการเดินทางไปติดต่อ

6. ติดต่อธนาคาร

          นำใบแจ้งความและเอกสารต่าง ๆ ไปแจ้งปฏิเสธการทำรายการ และยื่นแสดงหลักฐานต่อธนาคาร เพื่อให้ทางธนาคารดำเนินการต่อไป
วิธีป้องกันถูกแฮกบัญชี-บัตรเครดิต
เงินในบัญชีหาย

           สำหรับคนที่ยังไม่เจอเหตุการณ์เช่นนี้ก็ควรหาทางป้องกันตัวไม่ให้ตกเป็นเหยื่อและลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ด้วยวิธีการต่อไปนี้

1. ใช้บริการแจ้งเตือนของธนาคาร

          ควรใช้บริการแจ้งเตือนของธนาคารเพื่อตรวจสอบยอดเงินเข้า-ออกจากบัญชี ไม่ว่าจะมาจากการใช้บัตรเดบิต หรือเบิกถอนผ่านแอปพลิเคชัน รวมทั้งยอดเงินที่เกิดจากการใช้จ่ายบัตรเครดิต เพราะหากเราไม่ได้เป็นผู้ทำธุรกรรมนั้น ๆ จะได้รู้ตัวโดยเร็ว

2. จำกัดวงเงินการทำธุรกรรม

          โดยเข้าไปที่แอปฯ ของธนาคารแล้วตั้งค่าวงเงินการถอน การโอน การจ่ายบิลต่าง ๆ ทั้งบัญชีธนาคารและบัตรเดบิตต่อครั้ง ต่อวัน ให้เป็นจำนวนที่น้อยลง อย่างน้อยก็ลดความเสียหายจากการถูกโกงได้ หรือจะตั้งเป็น 0 บาทเลยก็ได้ พอต้องการใช้งานค่อยเปลี่ยนแปลงวงเงินอีกครั้ง เมื่อทำแบบนี้จะไม่มีใครสามารถถอนเงินออกจากบัญชีเราได้  

3. ไม่ผูกบัญชีธนาคาร-บัตรเดบิตกับธุรกรรมออนไลน์

          ใครเคยผูกบัญชีธนาคารหรือบัตรไว้กับแอปพลิเคชัน เฟซบุ๊ก เกม หรือพ่วงกับบริการออนไลน์ต่าง ๆ ควรทำการยกเลิกทั้งหมด และไม่ผูกบัญชีหรือบัตรไว้กับธุรกรรมออนไลน์ใด ๆ หากไม่จำเป็น โดยเฉพาะบัตรเดบิตที่จะถูกตัดเงินทันที ต่างจากบัตรเครดิตซึ่งยังมีระยะเวลาในการร้องเรียนหรือยกเลิกการใช้จ่าย

4. เปิดบัญชีใหม่เพื่อใช้จ่ายกับออนไลน์โดยเฉพาะ

          หลายคนใช้บัญชีเงินเดือนหรือบัญชีที่มีเงินก้อนผูกกับแอปฯ หรือเอาไว้จ่ายค่าบริการต่าง ๆ บนออนไลน์ ซึ่งถ้าถูกแฮกขึ้นมาย่อมมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินเกือบทั้งหมด ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องผูกบัตรเพื่อทำธุรกรรมออนไลน์ก็ควรเปิดบัญชีสำหรับการใช้จ่ายหรือช้อปปิ้งออนไลน์โดยเฉพาะ แล้วฝากเงินติดบัญชีไว้นิดหน่อย เมื่อจะซื้อของค่อยโอนเงินเข้าบัญชีอีกที แบบนี้จะได้ไม่ต้องเสียเงินก้อนใหญ่

          นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังการผูกบัตรกับแพลตฟอร์มที่มีความเสี่ยง เช่น เกมออนไลน์ แพลตฟอร์มที่ไม่มีการยืนยันตัวตนก่อนเข้าใช้งาน หรือไม่มี OTP
เงินในบัญชีหาย

5. เปลี่ยนรหัสผ่านบ่อย ๆ

          ไม่ว่าจะเป็นรหัสผ่านเข้า Mobile Banking, Internet Banking, อีเมลส่วนตัวที่ผูกกับบัญชี หรือรหัสบัตรเดบิต-บัตรเครดิต ควรเปลี่ยนรหัสเป็นประจำทุก 3 เดือน โดยมีเทคนิคการตั้งรหัสให้ปลอดภัยและเดาได้ยาก เช่น

  • ไม่ใช้เลขซ้ำกัน เช่น 1111, 5555
  • ไม่ใช้เลขเรียงกัน เช่น 123456, 987654
  • ไม่ใช้รหัสที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง เช่น เลขวันเกิด เลขบัตรประชาชน ชื่อ-นามสกุล
  • กรณีเป็นรหัสผ่านเว็บไซต์หรืออีเมล ควรใช้ภาษาอังกฤษทั้งตัวพิมพ์ใหญ่และตัวพิมพ์เล็ก ผสมกับตัวเลข เพื่อให้ยากต่อการเดา

6. กรณีใช้บัตรเครดิตให้ปิดรหัสเลข 3 หลัก CVV ไว้

          รหัส CVV คือ เลข 3 หลักที่อยู่หลังบัตร ซึ่งเป็นรหัสเพื่อการยืนยันตัวตนในการชำระเงินออนไลน์ และหากมิจฉาชีพได้รหัสนี้ไปก็มีโอกาสที่จะนำไปซื้อสินค้าได้ง่าย ๆ โดยเราสามารถป้องกันได้ด้วยการจดจำตัวเลขหรือจดบันทึกรหัสไว้ในที่ปลอดภัย แล้วขูดรหัส CVV ด้านหลังบัตรทิ้ง หรืออาจจะใช้วิธีติดสติ๊กเกอร์ปิดรหัส CVV ไว้ก็ได้เช่นกัน เพื่อป้องกันมิจฉาชีพแอบถ่ายรูปด้านหน้าและหลังบัตรแล้วนำไปใช้จ่ายในโลกออนไลน์  

7. อย่าบอกข้อมูลส่วนตัวกับใคร

          มิจฉาชีพอาจปลอม SMS ไลน์ หรืออีเมลของธนาคาร มาหลอกสอบถามข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลบัตรเครดิต ซึ่งโดยปกติแล้วธนาคารไม่มีนโยบายส่ง SMS หรืออีเมลมาสอบถามข้อมูลลูกค้า ดังนั้นหากใครได้รับข้อความที่ผิดปกติให้สอบถามจากธนาคารก่อน อย่ากรอกข้อมูลโดยเด็ดขาด แต่ถ้าเผลอบอกไปแล้วให้รีบเปลี่ยนรหัสต่าง ๆ ทันที

8. ระวังการเข้าเว็บไซต์ปลอม

          เมื่อต้องการเข้าเว็บไซต์ใด โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่ต้องใช้บริการทางการเงิน ให้พิมพ์ชื่อ url ของเว็บไซต์เอง เพราะอาจมีเว็บไซต์ปลอมที่หน้าตาคล้ายกันมาก แต่มีข้อแตกต่างตรงชื่อเว็บไซต์เพียงเล็กน้อย ซึ่งเว็บปลอมเหล่านี้ล่ะที่หลอกเอาข้อมูลของเราไป

9. ไม่กดรับข้อความ SMS หลอกลวง

          เดี๋ยวนี้คนร้ายนิยมใช้วิธีส่ง SMS มาเชิญชวนให้รับเงิน โดยอ้างว่าได้โอนเงินเข้าบัญชีของคุณแล้ว หรือมีข้อเสนอให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำ แล้วให้เราคลิกลิงก์ต่อ ตรงนี้ห้ามกดรับข้อความหรือคลิกลิงก์เด็ดขาด เพราะเมื่อกดเข้าไปและกรอกข้อมูลจะเสี่ยงต่อการถูกแฮกบัญชีต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลในโทรศัพท์ด้วย

10. หมั่นตรวจสอบบัญชีต่าง ๆ อยู่เสมอ

          คนที่มีบัญชีธนาคารหลายเล่มควรตรวจสอบความเคลื่อนไหวของบัญชีเป็นประจำ อย่าปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่ปรับสมุดหรือเช็กยอดเงิน เพราะเราจะไม่ทราบเลยว่าบัญชีของเราถูกแฮกไปหรือยัง หากพบความผิดปกติให้แจ้งธนาคารทันที
          ในเมื่อภัยทางไซเบอร์ใกล้ตัวและมีทริกใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกวัน ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องรู้ให้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ เพื่อป้องกันตัวเองในทุกวิถีทาง และบอกต่อคนอื่น ๆ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อได้โดยง่าย

บทความที่เกี่ยวข้องกับภัยทางการเงิน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เงินในบัญชีหาย ถูกดูดเงินไป ทำไงดี รวมวิธีแก้ไขพร้อมป้องกันก่อนตกเป็นเหยื่อ อัปเดตล่าสุด 20 ตุลาคม 2564 เวลา 08:44:55 91,958 อ่าน
TOP