x close

9 ขั้นฝ่าวิกฤตการเงิน เมื่อถูกลดเงินเดือน รายได้หดหาย เงินไม่พอใช้ ทำไงดี ?

          หากใครกำลังเผชิญสถานการณ์ลำบาก ต้องตกงาน ถูกลดเงินเดือน รายได้ลดลง ขายของได้น้อยลง หมุนเงินไม่ทัน ในขณะที่รายจ่ายยังเท่าเดิม ถึงเวลาต้องจัดการตัวเอง 
หนี้

          จากผลสำรวจของอิปซอสส์ (Ipsos) บริษัทวิจัยการตลาดชื่อดังระดับโลก พบว่า การระบาดของโควิด 19 จนเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ส่งผลให้คนไทยกว่า 38% มีรายได้ลดลงไปกว่าครึ่ง และมีถึง 14% ที่รายได้เป็นศูนย์ หมายถึงว่า ไม่มีรายรับเข้ามาเลย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการถูกลดเงินเดือน งานหดหาย ขายของได้น้อยลง หรือหนักสุดถึงขั้นตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว 

          เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาสำคัญของหลายคน เพราะเมื่ออยู่ ๆ เงินเดือนลดลง รายได้หายไป ขณะที่รายจ่ายมีแต่เพิ่มขึ้น จากที่เคยใช้เงินแบบสบาย ๆ มาวันนี้กลับชักหน้าไม่ถึงหลัง หมุนเงินไม่ทัน แล้วเราควรจัดการชีวิตตัวเองในยามที่ขัดสนเงินทองอย่างไร ลองมาดูขั้นตอนแก้ปัญหา เผื่อจะมีประโยชน์ช่วยให้ทุกคนผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้

แนวทางแก้ปัญหาเมื่อรายได้ลดลง เงินไม่พอใช้

1. สำรวจทรัพย์สินของตัวเอง

หนี้

          ขั้นแรกให้รีบสำรวจทรัพย์สินของตัวเอง เช่น เงินฝากที่มีอยู่ตามบัญชีธนาคาร กองทุน พอร์ตลงทุน หุ้น สลากออมทรัพย์ ของมีค่า ฯลฯ มีอยู่เท่าไร ส่วนไหนที่สามารถถอนออกมาใช้ยามฉุกเฉินได้บ้าง หรือแปลงสภาพเป็นเงินได้ทันที

2. ลิสต์รายรับ-รายจ่ายอย่างละเอียด

หนี้

          ต้องรู้ให้ชัดเจนว่า ปัจจุบันเรายังมีรายรับ รายจ่าย อยู่เท่าไร ถึงจะวางแผนขั้นต่อไปได้ 
* รายรับ
          ในแต่ละเดือนจะมีเงินเข้ามาแค่ไหน อะไรคือรายได้ที่แน่นอน (เช่น เงินเดือน ค่าแรง) อะไรคือรายได้ที่ไม่แน่นอน หรือรายได้เสริม (เช่น เงินจากการค้าขาย อาชีพเสริมต่าง ๆ รวมทั้งผลตอบแทนจากดอกเบี้ย การลงทุน ฯลฯ)
* รายจ่าย
          ทุกเดือนต้องจ่ายอะไรออกไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ (เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนสินค้า ค่าเช่าหอ) และค่าใช้จ่ายผันแปร (เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล เงินใส่ซอง ค่าซ่อมรถ-ซ่อมบ้าน ฯลฯ) ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในเดือนนั้น ๆ ควรเขียนไว้ล่วงหน้า 3-6 เดือน

          เมื่อทราบแล้วให้นำ "รายจ่าย" มาหักออกจาก "รายได้" ดูว่ายังเหลือเงินอยู่ไหม หรือติดลบเท่าไร 

          เช่น ปกติได้เงินเดือน 20,000 บาท มีรายจ่ายเดือนละ 16,000 บาท ยังเหลือเงินเก็บอยู่ 4,000 บาท แต่ในช่วงโควิด 19 ถูกลดเงินเดือนเหลือ 15,000 บาท โดยที่รายจ่ายยังเท่าเดิม เท่ากับว่าเดือนนี้ไม่เหลือเงินเก็บเลย แถมยังติดลบอีก กรณีนี้ยังติดลบไม่มาก เราก็อาจนำเงินสำรองฉุกเฉินที่เก็บไว้เพื่อการนี้อยู่แล้ว มาหมุนใช้ไปก่อนได้ แต่ถ้าติดลบหนักมาก ต้องอ่านข้อต่อ ๆ ไป

3. กางหนี้ทั้งหมดที่มีออกมา

          ถึงเวลาต้องมาแจกแจงหนี้สินของตัวเองกันแล้ว ให้เขียนตารางออกมาเลยว่า มีหนี้อะไรบ้าง จัดเป็นกลุ่ม ๆ เช่น หนี้ธนาคาร หนี้สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) หนี้นอกระบบ ฯลฯ แต่ละตัวมียอดเงินเท่าไร ชำระขั้นต่ำได้แค่ไหน ต้องจ่ายคืนวันไหน สถานะเป็นอย่างไร เช่น
หนี้สิน

          จากนั้นมาดูกันว่า ถ้าตอนนี้จ่ายหนี้ไม่ไหว เราสามารถจัดการกับหนี้แต่ละตัวได้อย่างไรบ้าง 
* เลื่อนการชำระ
           ค่าใช้จ่ายที่สามารถเลื่อนจ่ายออกไปก่อนได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยไม่เสียดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมก็ให้เลื่อนไปก่อน เช่น เงินสมทบประกันสังคม เบี้ยประกันชีวิต ฯลฯ แต่ต้องเช็กเงื่อนไขให้ชัดเจนด้วยว่าเลื่อนได้ถึงเมื่อไร 
* เปลี่ยนจากจ่ายรายปีเป็นรายเดือน
          อย่างพวกเบี้ยประกันต่าง ๆ ประกันรถ ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ถ้าปกติเราจ่ายเป็นรายปีก็ขอปรับเป็นจ่ายรายเดือนแทน จำนวนเงินที่ต้องจ่ายจะได้น้อยลง ไม่ต้องจ่ายก้อนใหญ่ทีเดียว
* พักชำระหนี้
          ถ้าเป็นหนี้กับสถาบันการเงิน เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด จะได้ลดการจ่ายขั้นต่ำอัตโนมัติ หรือถ้าเป็นหนี้บ้าน หนี้รถ สินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนใหญ่จะมีมาตรการพักชำระหนี้เพื่อช่วยลูกหนี้อยู่แล้ว เราสามารถติดต่อธนาคารเพื่อขอลดจำนวนเงินงวด หรือพักชำระหนี้ได้ ซึ่งมีทั้งพักชำระเงินต้น พักชำระทั้งต้นทั้งดอก แต่ต้องรู้ไว้ด้วยว่า หากเลือกทางนี้จะมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในตอนท้าย 
          ดังนั้น ถ้ายังพอจ่ายไหว แนะนำให้จ่ายเต็มจำนวนจะได้ไม่มีหนี้เพิ่ม แต่ถ้าจ่ายไม่ไหวจริง ๆ ควรเลือกพักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยไปก่อน เพราะหากไม่จ่ายทั้งต้นทั้งดอกเลย หนี้จะยิ่งทบไปเรื่อย ๆ

          สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย รอบ 3 จะสามารถลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยจะได้รับความช่วยเหลือขั้นต่ำ ดังนี้ 
          อย่างไรก็ตาม แนะนำให้สอบถามธนาคาร หรือสถาบันการเงินของเราดูก่อนว่ามีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง เพราะแต่ละแห่งอาจมีเงื่อนไขแตกต่างกัน ซึ่งเราได้รวบรวมข้อมูลไว้แล้วข้างล่างนี้

มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้โควิด รอบ 3 พักหนี้-คืนรถ-ลดค่างวด เช็กด่วนแบงก์ไหนช่วยอะไรบ้าง

          นอกจากนี้ในกลุ่มนายจ้าง-ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการตามมาตรการของรัฐ และอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดงเข้ม) หรือนอกพื้นที่ควบคุมฯ แต่ได้รับผลกระทบ ทางแบงก์ชาติก็ยังมีนโยบายให้ธนาคาร สถาบันทางการเงินต่าง ๆ รวมทั้งลิสซิ่ง ออกมาตรการพักชำระเงินต้น-ดอกเบี้ย 2 เดือน โดยต้องลงทะเบียนภายในเดือนสิงหาคม 2564 ดังรายละเอียดต่อไปนี้

พักชำระหนี้ 2 เดือน ธนาคารไหนเข้าร่วมบ้าง ลงทะเบียนพักหนี้อย่างไร ใครมีสิทธิ์ เช็กเลย !

* เจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้
          ถ้ายังไม่เป็นหนี้เสีย สามารถติดต่อสถาบันการเงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ได้ ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น ขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ออกไปเพื่อให้ค่างวดลดลง, ขอลดอัตราดอกเบี้ย, ผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้, เปลี่ยนประเภทหนี้จากสินเชื่อดอกเบี้ยสูงเป็นสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่า รวมทั้งการรีไฟแนนซ์ปิดสินเชื่อเดิมไปใช้สินเชื่อใหม่ที่มีเงื่อนไขดีกว่า 
* รวมหนี้เป็นก้อนเดียว

          หากเรามีหนี้หลายประเภทจากสถาบันการเงินเดียวกัน สามารถนำหนี้ เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อ มารวมกับหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อใช้บ้านเป็นหลักประกันได้เลย โดยหนี้บ้านนั้นต้องไม่เป็น NPL หรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน 

          การรวมหนี้จะช่วยลดดอกเบี้ยลง โดยอัตราดอกเบี้ยของหนี้บ้านจะไม่เพิ่มจากเดิม ส่วนหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่ออื่น ๆ จะได้ดอกเบี้ยที่ถูกลงโดยไม่เกิน MRR 

          ยกตัวอย่างเช่น มีหนี้บ้านค้างกับธนาคาร A จำนวน 2 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3% ต่อปี และยังมีหนี้ค้างบัตรเครดิตกับธนาคาร A อีก 1 แสนบาท เป็น NPL แล้ว และคิดดอกเบี้ย 18% ต่อปี ขณะที่ MRR ของธนาคารนี้อยู่ที่ 6% ต่อปี

          หากรวมหนี้ จะมีหนี้ 2.1 ล้านบาท โดยเสียดอกเบี้ยบ้าน 3% เหมือนเดิม ส่วนหนี้บัตรเครดิตจะได้ปรับลดลงไม่เกิน MRR คือ เสียดอกเบี้ยไม่เกิน 6% ต่อปี นั่นหมายความว่า ดอกเบี้ยจะลดลง ค่างวดก็ลดลง และผ่อนหนี้บัตรได้นานขึ้น

        สามารถติดต่อธนาคารได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

* หนี้เสียให้ติดต่อคลินิกแก้หนี้
          ถ้ามีหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสดที่เป็นหนี้เสียก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ให้ติดต่อคลินิกแก้หนี้เพื่อรวมหนี้เป็นก้อนเดียว แล้วจะผ่อนจ่ายเงินต้นที่ค้างชำระ พร้อมดอกเบี้ยที่ปรับลดเหลือแค่ 5% ต่อปี ผ่อนได้นานสูงสุด 10 ปี  

คลินิกแก้หนี้ ลูกหนี้คดีแดงก็สมัครได้ อยากปลดหนี้มาทางนี้ !

คำแนะนำ : ถ้ายังพอมีเงินเหลืออยู่บ้าง แล้วเลื่อนจ่ายหนี้ไม่ได้ หรือไม่อยากเลื่อนจ่ายหนี้ ให้เลือกชำระหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน เพื่อลดภาระดอกเบี้ยก้อนใหญ่

4. พักการออมเงินและลงทุนไว้ก่อน

         ช่วงที่ยังมีรายได้ดี มีเงินเข้าบัญชีทุกสิ้นเดือน หลายคนอาจใช้วิธีหักเงินจากบัญชีอัตโนมัติ แล้วไปฝากบัญชีออมเงินที่ได้ดอกเบี้ยสูง ๆ หรือลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทน แต่ถ้าวันนี้เงินที่มีแทบไม่พอค่าใช้จ่าย ก็จำเป็นจะต้องลดจำนวนเงินออมลง หรือหยุดพักการลงทุนไปก่อน เพื่อจะได้มีเงินมาหมุนใช้ในช่วงนี้ พอทุกอย่างเริ่มดีขึ้นค่อยกลับไปลงทุนใหม่ก็ยังไม่สาย

         อ้อ ! ข้อสำคัญที่ต้องเตือนก็คือ ระวังการนำเงินไปลงทุนในแชร์ลูกโซ่ หรือเชื่อคำโฆษณาที่บอกว่าจะได้รับผลตอบแทนเป็นเท่าตัวภายในระยะเวลาสั้น ๆ เพราะคุณอาจสูญเงินก้อนสุดท้ายไปแบบไม่เหลืออะไร

5. ลดค่าใช้จ่าย

ช้อปปิ้งออนไลน์

          ในเมื่อรายได้ลดลง แต่รายจ่ายเท่าเดิม สิ่งที่ทำได้ง่ายและเร็วที่สุดก็คือ ต้องลดค่าใช้จ่ายบางอย่างลงให้ได้ ยกตัวอย่างเช่น
  • ลดช้อปปิ้งออนไลน์ ห่างกันสักพักกับร้านค้าตามเฟซบุ๊ก ตาม IG
  • ลดการสั่งอาหารออนไลน์ ถ้าทำอาหารรับประทานเองได้ ไม่ต้องรับประทานนอกบ้านหรือสั่งออนไลน์จะช่วยประหยัดเงินได้มาก ทั้งค่าอาหารและค่าส่ง  
  • เปลี่ยนโปรมือถือ จากเดิมเคยจ่ายหลักพัน ก็อาจปรับลดลงมาเหลือแค่หลักร้อยต้น ๆ หรือถ้าใช้แบบเติมเงินอยู่ก็ลดปริมาณการโทร. และใช้อินเทอร์เน็ตให้น้อยลง หรือใช้แพ็กเกจ Share Plan ใช้ร่วมกันหลายๆ เบอร์
  • ลดแพ็กเกจดูภาพยนตร์ออนไลน์ ช่วงนี้ถ้าหยุดดูซีรีส์ไปก่อนจะช่วยประหยัดได้ หรือถ้าอยากดูจริง ๆ ลองหาเพื่อนหลาย ๆ คนมาช่วยหารค่าแพ็กเกจ
  • หาห้องพักใหม่ที่ค่าเช่าถูกลง หรือย้ายไปอยู่หอพักที่ใกล้ที่ทำงานมากขึ้น เพื่อลดค่าเช่าห้องหรือค่าเดินทางอย่างใดอย่างหนึ่ง  
  • ชงกาแฟกินเอง แทนการซื้อกาแฟดื่ม
  • ซักผ้า-รีดผ้าเอง ประหยัดกว่าใช้เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ
  • ซ่อมอุปกรณ์บางอย่างที่ชำรุดเอง หากเสียหายไม่มาก ลองหาวิธีซ่อมจากเว็บไซต์ คลิปต่าง ๆ เรียนรู้ด้วยตัวเองก่อน 
  • ล้างรถ และเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเอง 
  • ยกเลิกบัตรสมาชิกที่ต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่ไม่ค่อยได้ใช้ เช่น บัตรเอทีเอ็ม, บัตรเครดิต, บัตรสมาชิกร้านอาหาร, บัตรสมาชิกฟิตเนส ฯลฯ
  • ยกเลิกค่าสมาชิกรายเดือนที่ตัดผ่านบัตรเครดิตอัตโนมัติ เช่น หนัง เพลง อีเมล พื้นที่เก็บข้อมูล บางคนไม่ได้ใช้แล้ว แต่ลืมยกเลิก เลยถูกตัดเงินจากบัตรทุกเดือน
  • ปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเองที่บ้าน เช่น พริกขี้หนู โหระพา กะเพรา มะนาว ผักชี ต้นหอม ซึ่งพืชผักเหล่านี้ปลูกได้ไม่ยาก ถ้ามีผลผลิตเหลือก็เอาไปขายได้อีกต่างหาก
  • ประหยัดน้ำ-ประหยัดไฟ เป็นวิธีลดค่าใช้จ่ายง่าย ๆ ที่หลายคนมองข้ามไป โดยเฉพาะค่าไฟ แค่เราปิดแอร์ตัวเดียวก็ประหยัดเงินได้เยอะแล้ว หรือพยายามใส่เสื้อผ้าที่ไม่ต้องรีด ก็ช่วยลดค่าไฟ

6. หาวิธีเพิ่มรายได้

อาชีพเสริม

          ถ้าลดค่าใช้จ่ายแล้วก็ยังไม่พอ คงต้องสร้างกระแสเงินสดเพิ่มเติมจากแหล่งอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่หลายวิธีที่เราสามารถทำได้ เช่น
* หาลูกค้ากลุ่มใหม่ 
          หากงานที่เราทำ หรือสินค้าที่เราขายอยู่ เคยจับกลุ่มลูกค้าเพียงไม่กี่กลุ่ม ก็ต้องลองขยายกลุ่มลูกค้าออกไปให้กว้างขึ้น หรือเพิ่มช่องทางการซื้อสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มอื่น ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ช่องทางออนไลน์ที่ง่ายและเร็วที่สุด เช่น ประกาศฝากร้านตามเพจ เว็บไซต์ หนังสือพิมพ์ ทีวี ที่หลายแห่งยินดีเปิดพื้นที่ช่วยเหลือให้ฟรีในช่วงนี้
* หาอาชีพเสริม-รายได้เสริม 
          ลองดูว่าเราสามารถรับงานเพิ่มนอกเวลางานได้ไหม หรือยังถนัดและชื่นชอบงานด้านไหนอีก อย่างทำอาหาร งานศิลปะ งานฝีมือ งานวิชาการ เขียนบทความ ฯลฯ บางคนอาจจะมีพรสวรรค์ที่แฝงอยู่ในตัวเอง แต่ไม่ได้นำมาใช้ในการประกอบอาชีพ แต่ตอนนี้ถึงเวลาต้องดึงความสามารถนั้นออกมาใช้แล้วล่ะ หรือลองดูไอเดียข้างล่างนี้เป็นตัวอย่าง เผลอ ๆ อาจจะได้เปลี่ยนอาชีพเลยก็ได้

รวม 10 อาชีพเสริมหลังเลิกงาน เพิ่มรายได้มนุษย์เงินเดือน !

* ขายทรัพย์สิน 
หนี้

          ถ้าจำเป็นก็ต้องตัดใจขายทรัพย์สินบางอย่างออกไปก่อน โดยอาจพิจารณาว่าทรัพย์สินอะไรที่สามารถขายได้โดยที่เราไม่ลำบาก หรือเราไม่จำเป็นต้องใช้แล้ว เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องสำอาง หนังสือ หรือสิ่งของที่ยังมีสภาพดีอยู่ ไม่ค่อยได้ใช้งานแล้ว ลองเอามาโพสต์ขายในอินเทอร์เน็ต หรือเปิดท้ายขายของตามตลาดนัดดู อย่างน้อยก็ยังพอได้เงินมาหมุนบ้าง

7. เลือกตัดหนี้สินบางอย่างออกไป

          ถ้าผ่อนไม่ไหวจริง ๆ อาจต้องดูว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นได้ไหม หรือจะให้คนอื่นช่วยผ่อนต่อ ซึ่งต้องพิจารณาดี ๆ เพราะทรัพย์สินบางอย่างคืนแล้วจะมีปัญหาตามมา โดยเฉพาะบ้านและรถยนต์
* บ้าน-คอนโด
          อย่าคิดว่าปล่อยให้ธนาคารยึดไปก็จบ เพราะกว่าจะจบ เรื่องต้องถึงศาล แล้วกรมบังคับคดีจึงสามารถยึดทรัพย์เราไปขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ให้ธนาคารได้ แน่นอนว่าถ้าเงินที่ขายบ้านได้ไม่พอใช้หนี้ เราอาจถูกยึดทรัพย์อื่น ๆ ไปใช้หนี้อีกจนกว่าจะใช้หนี้หมด ซึ่งทรัพย์สินที่สามารถยึดได้ มีตั้งแต่เงินเดือน รถ เงินฝาก เงินปันผล ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่เราลงทุนไว้
* รถยนต์
          ถึงจะคืนรถให้ไฟแนนซ์แล้วก็อาจต้องใช้หนี้ต่อ เพราะไฟแนนซ์จะนำรถไปขายทอดตลาด เพื่อตีมูลค่าออกมาว่าสามารถหักลบกลบหนี้ได้หรือไม่ หากขายรถแล้วยังใช้หนี้ไม่หมด เราก็ต้องรับภาระจ่ายส่วนต่างต่อไปเช่นกัน ดังนั้น ถ้าไม่อยากเป็นหนี้ส่วนนี้ อาจลองปรึกษาไฟแนนซ์เพื่อปรับโครงสร้างหนี้รถยนต์ดูก่อน หรือขายรถต่อให้คนอื่นไป เพื่อปลดหนี้ก้อนนี้ให้หมดโดยเร็ว

คืนรถให้ไฟแนนซ์เพราะผ่อนรถต่อไม่ไหว ทำอย่างไรให้เสียประโยชน์น้อยที่สุด

8. กู้เงินดอกเบี้ยต่ำ (เมื่อจำเป็น)

หนี้

          ควรเลือกวิธีนี้เมื่อจำเป็นต้องใช้เงินจริง ๆ เช่น ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉิน ค่าเทอม ฯลฯ แต่ไม่ควรกู้เงินหรือขอสินเชื่อเพื่อนำไปโปะหนี้เก่าเด็ดขาด เพราะจะยิ่งชักหน้าไม่ถึงหลัง กลายเป็นดินพอกหางหมูไปเรื่อย ๆ 
* ใช้บริการโรงรับจำนำ
          ถ้าเงินไม่พอใช้ แต่ก็ไม่อยากขายทรัพย์สินออกไป งั้นลองพึ่งพาโรงรับจำนำที่คิดดอกเบี้ยไม่สูงมาก ยิ่งช่วงนี้หลายแห่งมีโปรโมชั่นช่วยเหลือผู้ที่ได้รับกระทบจาก COVID-19 ด้วย 
* กู้เงินจากสลากออมทรัพย์
          ช่วงที่ยังมีเงินเก็บเงินก้อนอาจจะเคยซื้อสลากออมทรัพย์ธนาคารต่าง ๆ เอาไว้ รู้ไหมว่าเราสามารถกู้เงินจากสลากของเราได้ด้วย โดยส่วนใหญ่จะกู้ได้ไม่เกิน 90-95% ของสลาก และดอกเบี้ยก็ไม่ได้สูงมาก เพราะถือว่าเป็นการกู้เงินของตัวเอง
* กู้เงินจากประกันชีวิต
          เช่นเดียวกับสลากออมทรัพย์ ถ้าเราเคยทำประกันชีวิตแบบที่มีมูลค่าเวนคืนเงินสด เช่น แบบสะสมทรัพย์ แบบตลอดชีพ แบบบำนาญ และจ่ายเบี้ยประกันเกิน 2 ปีแล้ว สามารถนำกรมธรรม์ไปติดต่อบริษัทประกันชีวิตเพื่อขอกู้เงินได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะกู้ได้ประมาณ 80% ของมูลค่าเวนคืนเงินสด ขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่ชำระเบี้ย ขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทรับประกันและแบบของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ
* ขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
          ช่วงที่ผ่านมามีสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา ของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ที่คิดดอกเบี้ยต่ำประมาณ 0.10-0.35% ต่อเดือน แนะนำให้ติดตามข่าวสารไว้ เผื่อมีเปิดให้ลงทะเบียนเมื่อไรจะได้ดำเนินการ
 

9. อย่าสร้างรายจ่ายเพิ่ม

          ข้อนี้สำคัญไม่แพ้กัน เพราะถ้าเรามัวหาเงิน ลดรายจ่ายเดิม แต่ยังสร้างรายจ่ายใหม่ ๆ ขึ้นมาอีก ก็เหมือนเอาเงินไปถมทะเล ได้มาเท่าไรก็ไม่พอใช้ค่าใช้จ่าย ดังนั้น เราต้องควบคุมตัวเองไม่ให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นมาอีก เช่น
  • ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้ดี ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ให้ร่างกายเจ็บป่วย ต้องเสียค่ายา ค่ารักษาพยาบาล
  • ระมัดระวังในการขับรถ ไม่ไปเฉี่ยวชนใคร ซึ่งจะทำให้เสียค่าซ่อมรถ ค่ารักษาพยาบาล และควรหมั่นดูแลสภาพรถยนต์ ซ่อมบำรุงอยู่เสมอ
  • จัดบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เก็บสิ่งของ-อุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นที่เป็นทาง ป้องกันอุบัติเหตุในบ้าน
  • รักษาเสื้อผ้า-ข้าวของเครื่องใช้ให้อยู่ในสภาพดี สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า ไม่ต้องเสียเงินซ่อมแซม หรือซื้อใหม่เรื่อย ๆ
  • งดรายจ่ายฟุ่มเฟือยไปก่อน ทั้งกิจกรรมสังสรรค์ ท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง ช่วงนี้เซฟได้ต้องเซฟ !
หลังพ้นวิกฤตไปแล้ว ควรทำอะไร ?

1. จัดระเบียบวินัยทางการเงินใหม่

          ตั้งงบประมาณไว้ล่วงหน้าเลยว่าแต่ละเดือนจะใช้จ่ายอะไร ไม่เกินเท่าไร ซึ่งเราอาจลดค่าใช้จ่ายคงที่ไม่ได้ แต่ให้ตั้งเป้าว่าจะลดค่าใช้จ่ายผันแปรให้ได้ อย่างค่าช้อปปิ้ง สังสรรค์ ปาร์ตี้ กินเที่ยว ค่าอาหารมื้อพิเศษ บุหรี่ สุรา กิจกรรมฟุ่มเฟือยต่าง ๆ ถ้าลดได้จะมีเงินเหลืออีกเยอะ อาจเริ่มต้นจากเป้าหมายง่าย ๆ ก่อน อย่างเช่น
  • แบ่งเงินใช้รายวัน ไม่เกินวันละ 200 บาท ถ้าวันไหนเหลือก็ต้องนำมาเก็บออมไว้ 
  • ตั้งงบประมาณสำหรับรับประทานอาหารนอกบ้านในเดือนนี้ ไม่เกิน 500 บาท
  • ตั้งเป้าว่าค่าไฟต้องลดลงจากเดือนที่แล้ว 10%
  • งดปาร์ตี้สังสรรค์สัก 2 เดือน

2. ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายล่วงหน้า

หนี้

          ปกติเราจะทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายย้อนหลัง หรือเขียนล่วงหน้าเฉพาะในเดือนนั้น ๆ แต่อยากให้ลองเปลี่ยนใหม่เป็นการวางแผนล่วงหน้าไปเลย 6-12 เดือน เพื่อคาดการณ์อนาคตว่าเราจะมีรายรับ-รายจ่ายอะไรเพิ่มเข้ามาบ้างในแต่ละเดือน 

          เช่น เดือนมีนาคม จะได้เงินปันผลจากหุ้น, เดือนกรกฎาคม ต้องจ่ายค่าเทอมให้ลูก, เดือนกันยายน ต้องจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ, เดือนธันวาคม ต้องใส่ซองงานแต่งงานน้องชาย เป็นต้น

          ทำอย่างนี้เพื่อให้เห็นภาพคร่าว ๆ ว่า เดือนไหนมีแนวโน้มที่จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าปกติ เทียบกับรายรับเป็นอย่างไร ถ้าไม่พอจะหาเงินสำรองส่วนไหนมาเติมเต็ม หรือควรประหยัดค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีเงินเหลือ ตรงนี้เราสามารถบริหารจัดการล่วงหน้าได้เลย

3. มีเงินสำรองอย่างน้อย 6 เดือนของค่าใช้จ่าย

ออมเงิน

          เมื่ออยู่ ๆ รายได้ก็ลดลงกะทันหัน หลายคนคงได้เห็นความสำคัญของเงินสำรองก็ช่วงนี้แหละ ดังนั้น หลังจากนี้เราควรเก็บเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ซึ่งจำนวนที่เหมาะสมก็คือ อย่างน้อย 6 เดือนของค่าใช้จ่ายรายเดือน 

          เช่น ปกติเรามีค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 บาท/เดือน ก็ควรมีเงินเก็บอย่างน้อย 180,000 บาท เผื่อวันใด ตกงาน ขาดรายได้ หางานทำไม่ได้เป็นเวลานาน หรือจำเป็นต้องใช้เงินเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ก็ยังมีเงินพอประทังชีวิตให้ผ่านช่วงวิกฤตไปได้

4. พยายามสร้างหนี้ให้น้อยที่สุด

  • ไม่ควรมีหนี้เกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน เพราะถ้ามีหนี้มากกว่านี้ วันใดวันหนึ่งเราอาจชำระไม่ไหว หรือเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินที่ทำให้รายได้ลดลงอย่างช่วงโควิด 19 จนจ่ายหนี้ไม่ได้ ภาระดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่กว่าเดิม
     
  • หยุดก่อหนี้เพิ่ม งดสร้างหนี้ระยะยาว เช่น ถ้าคิดจะซื้อของชิ้นใหญ่ ค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่ต้องผ่อนนาน ๆ อย่างซื้อบ้าน ซื้อรถ ให้ชะลอไว้ก่อน เพราะการผ่อนจ่ายทุกเดือนในช่วงที่สถานการณ์ยังไม่แน่ไม่นอน จะเป็นภาระติดตัวเราไปเรื่อย ๆ ทางที่ดีต้องเก็บเงินสดให้มีสำรองเผื่อยามฉุกเฉินอย่างน้อย 6-12 เดือน เมื่อนั้นค่อยมาพิจารณาอีกทีว่ายังต้องการซื้อของเหล่านั้นอยู่หรือไม่  
          เมื่อมรสุมผ่านพ้นไปแล้ว เชื่อว่าหลังจากนี้เราคงจะบริหารจัดการเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ได้ดีขึ้น และไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ใดในอนาคต เราก็พร้อมที่จะรับมือได้แน่นอน
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
9 ขั้นฝ่าวิกฤตการเงิน เมื่อถูกลดเงินเดือน รายได้หดหาย เงินไม่พอใช้ ทำไงดี ? อัปเดตล่าสุด 22 กรกฎาคม 2564 เวลา 17:31:47 39,694 อ่าน
TOP