x close

เศรษฐกิจถดถอย คืออะไร ไทยมาถึงจุดนี้แล้วหรือยัง ?

          เศรษฐกิจถดถอย ใคร ๆ ต่างก็พูดกัน แต่นอกจากบรรยากาศที่สัมผัสได้รอบตัวแล้ว มีใครบ้างที่รู้ความหมายที่แท้จริงของสภาวะเช่นนี้ 
 
เศรษฐกิจถดถอย

          บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยไม่คึกคักเลยในช่วงนี้ เดินไปไหนมาไหน ห้างร้านต่างเงียบเหงา คนบางตา เพราะกลัวโรค COVID-19 แถมยังได้ยินข่าวปิดโรงงาน คนตกงานมาเป็นระลอก จนอดคิดไม่ได้ว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจถดถอยแล้วหรือยัง ?  แม้หลายหน่วยงานจะออกมายืนยันว่า ยังไม่ถึงจุดนั้น แต่ก็ทำให้หลายคนสงสัยว่า แล้วสถานการณ์แบบไหนล่ะถึงเรียกว่า "เศรษฐกิจถดถอย" ลองมาดูคำนิยามของคำนี้ พร้อมกับหาคำตอบว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเป็นอย่างไร

เศรษฐกิจถดถอย

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยคืออะไร

          ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) คือ ภาวะที่เกิดการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (A period of reduced economic activity) ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของการผลิต การใช้จ่ายอุปโภค-บริโภค การลงทุน การส่งออกสินค้า-บริการ และการจ้างงานที่ลดลง เป็นต้น
     
รู้ได้อย่างไรว่าเศรษฐกิจถดถอย

          เราสามารถรู้ได้ว่า สภาพเศรษฐกิจในประเทศถดถอย เมื่อพิจารณาจากค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ณ ราคาที่แท้จริง หลังปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า มีการติดลบติดต่อกันอย่างน้อยสองไตรมาส หรือการสังเกตว่า อัตราการว่างงานในช่วง 12 เดือน เพิ่มขึ้นหรือไม่

          ทั้งนี้ อาจพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย อาทิ รายได้ของครัวเรือนสุทธิหักเงินโอน การจ้างงาน การผลิตภาคอุตสาหกรรม และปริมาณการจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมและยอดการค้าปลีกค้าส่ง เป็นต้น
    
รูปแบบของเศรษฐกิจถดถอย

          สามารถแบ่งได้ 4 รูปแบบ คือ

          1. ภาวะถดถอยแล้วฟื้นตัว อย่างรวดเร็ว (V-Shaped)
          2. ภาวะถดถอยช่วงสั้น ๆ แล้วฟื้นตัว (U-Shaped)
          3. ภาวะถดถอยแล้วฟื้นตัว แต่กลับไปถดถอยใหม่ก่อนที่จะฟื้นตัวอีกครั้ง (W-Shaped or Double-dip recessions)
          4. ภาวะถดถอยแล้ว ใช้เวลานานในการฟื้นตัว (L-Shaped)
 


ย้อน 4 เหตุการณ์เมื่อประเทศไทยอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย

เศรษฐกิจถดถอย

          ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยตกอยู่ในภาวะเหตุการณ์เศรษฐกิจถดถอย 4 ครั้ง ได้แก่

ครั้งที่ 1

          เกิดในปี 2540 เรียกว่า วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง สาเหตุของเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้ เกิดจากเงินทุนสำรองในประเทศไม่เพียงพอ และมีการก่อหนี้ต่างประเทศจนเกินตัว เมื่อค่าเงินตก ส่งผลให้หนี้ที่เคยกู้มาทวีคูณขึ้นเป็นสองเท่า จึงเกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง จนหลาย ๆ ธุรกิจที่มีการกู้เงินมาลงทุนต้องปิดกิจการจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินต่าง ๆ เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ GDP ประเทศไทยปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2540 ถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2541 เป็นการลดลงต่อเนื่องสี่ไตรมาสติดต่อกัน

ครั้งที่ 2 

          เกิดในปี 2551 เป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลก หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐฯ โดยเกิดจากการปล่อยสินเชื่อจำนวนมากให้แก่ลูกหนี้ที่ไม่มีคุณภาพ จนมีการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ สุดท้ายเมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระเงินกู้ได้ ก็ทำให้สถาบันการเงินขาดสภาพคล่องและล้มละลาย ผลกระทบจากวิกฤตนี้ ส่งผลให้ทั่วโลกได้รับผลกระทบ รวมทั้งประเทศไทยที่ต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ จนตลาดหุ้นไทยดิ่งหนัก เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง การส่งออกของไทยจึงลดลงไปด้วย ส่งผลต่อรายได้ของประเทศ ทำให้ GDP ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ถึงไตรมาส ที่ 1 ของปี 2552 เป็นการลดลงสองไตรมาสติดต่อกัน

ครั้งที่ 3

          เกิดในปี 2556 เศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัวจึงกระทบต่อการส่งออกและภาคอุตสาหกรรมของไทย ขณะเดียวกัน ก็เกิดปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงในประเทศ ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม ทำให้ GDP ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 เป็นการลดลงสองไตรมาสติดต่อกัน

ครั้งที่ 4

          เกิดในปี 2556-2557 เป็นช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองไม่แน่นอน ทำให้การท่องเที่ยว การลงทุน การค้า และการผลิตภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายและสถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น จนธุรกิจส่วนใหญ่ชะลอตัว ส่งผลให้ GDP ณ ราคาที่แท้จริงหลังปรับฤดูกาลแล้ว ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 เป็นการลดลงสองไตรมาสติดต่อกัน

ปี 2563 ไทยอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วหรือยัง ?

เศรษฐกิจถดถอย

          แม้ช่วง 5-6 เดือนหลังมานี้ เราจะได้ยินข่าวโรงงานปิดตัวจำนวนมาก ขณะที่ผู้ประกอบการทั้งรายย่อย รายใหญ่ อยู่ในอาการย่ำแย่ ประกอบกับภาคอสังหาริมทรัพย์ซบเซาอย่างหนัก จนหลายคนคิดว่า ไทยน่าจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว แต่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.6 โดยชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสที่ 3 ซี่งมีปัจจัยหลักมาจากทั้งภายนอกและภายในประเทศ ได้แก่ เศรษฐกิจโลกขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน การแข็งค่าของเงินบาท ความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณ และผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง

          อย่างไรก็ตาม เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4  ของปี 2562 ก็ยังขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ร้อยละ 0.2 ขณะที่ตลอดปี 2562 มีค่า GDP เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.4  จึงกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจไทยช่วงนี้ ยังอยู่ในสภาพชะลอตัว ไม่ถึงกับอยู่ในสภาวะถดถอย

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะเป็นอย่างไร ?

เศรษฐกิจถดถอย
ภาพจาก 1000 Words / Shutterstock.com

          ในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 เศรษฐกิจไทยอาจหดตัวจากปัญหาภัยแล้ง การผ่านงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า และผลกระทบของการแพร่ระบาดโคโรนาไวรัส ส่งผลให้ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องหยุดชะงัก และสร้างผลกระทบต่อการใช้นโยบายบริหารเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม หาก พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส สิ้นสุดลงในเดือนเมษายน หน่วยงานเศรษฐกิจของภาครัฐ ตลอดจนนักวิเคราะห์เอกชน ก็คาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2563

          โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวเข้าสู่เกณฑ์ปกติ ในช่วงหลังของปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาครัฐ ส่งผลให้ตลอดปี 2563 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5 ชะลอตัวจากปี 2562 เล็กน้อย 

          ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB มองว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะมีแนวโน้มฟื้นตัวในไตรมาสที่ 2 เช่นกัน ปัจจัยหลักมาจาก พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ได้รับความเห็นชอบแล้ว ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนใหม่ราว 1 แสนล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และยังมีปัจจัยบวกจากแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ ที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักอีกครั้งด้วย เศรษฐกิจไทยจึงมีสัญญาณว่าจะฟื้นตัว และยังไม่ก้าวสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยมีแนวโน้มที่จะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 1.8

          อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว  มีสัญญาณมากมายบ่งบอกว่า เศรษฐกิจไทยอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย เมื่อ GDP อุตสาหกรรมภาคการผลิต ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มภาคเกษตร-ประมง ไฟฟ้า ก่อสร้าง กลุ่มการเงิน และสินค้าอุตสาหกรรม ส่งสัญญาณลดลงมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ก็ลดลงมาเหลือร้อยละ 1.16 เท่านั้น ต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา และต่ำกว่าผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอายุ 2 ปี ซึ่งการที่ภาวะผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นขยับขึ้นสูงกว่าผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวนั้น มักเกิดขึ้นก่อนที่เศรษฐกิจจะเป็นขาลง หรือ เศรษฐกิจถดถอย

          ประกอบกับการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ที่ยังคงรุนแรงและไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง จนภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การค้าระหว่างประเทศ และการบริโภค ต่างได้รับผลกระทบ ตั้งแต่ต้นปี 2563 บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จึงคาดการณ์ว่า ในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 GDP จะลดต่ำกว่า ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 อย่างแน่นอน และหากยังไม่สามารถควบคุมโคโรนาไวรัสได้โดยเร็วก่อนไตรมาสที่ 2 ปี 2563  เศรษฐกิจไทยอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย

          ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ยังได้ปรับการคาดการณ์ GDP ของประเทศไทยในปี 2563 จากเดิมร้อยละ เหลือเพียงร้อยละ 1.6 อีกด้วย 

          ก็ต้องติดตามว่า COVID 19 จะหยุดการแพร่ระบาดเมื่อไหร่ และภาครัฐจะมีมาตรการอะไรออกมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 2 เพื่อให้เศรษฐกิจไทยไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย และสามารถกลับมาเติบโตได้อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์กัน

ข้อมูลจาก
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
ธนาคารแห่งประเทศไทย
เอเซีย พลัส 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เศรษฐกิจถดถอย คืออะไร ไทยมาถึงจุดนี้แล้วหรือยัง ? อัปเดตล่าสุด 6 มีนาคม 2563 เวลา 11:55:30 74,610 อ่าน
TOP