x close

อุตตม แจงแล้ว ทำไมต้องแจกเงินแสนล้าน หลัง COVID-19 ระบาด ชี้อัดฉีดเข้าระบบ ได้ผลเร็วสุด

          อุตตม สาวนายน ชี้แจงมาตรการแจกเงินแสนล้าน ช่วยคนได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ชี้วิธีอัดฉีดเงินเข้าระบบ ได้ผลเร็วที่สุด แจกถึงมือประชาชนให้นำเงินมาหมุนในเศรษฐกิจ เร่งประชุม ก่อนเสนอ ครม.

อุตตม แจกเงินแสนล้าน

        จากกรณี กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอที่ประชุม ครม. เรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โคโรนาไวรัส หรือ COVID-19 ซึ่งคาดว่าใช้วงเงินกว่าแสนล้านบาท ครอบคลุมผู้ประกอบการ ภาคการท่องเที่ยว เอสเอ็มอี คนระดับกลาง ผู้มีรายได้น้อย เพราะถือเป็นวิกฤตของหลายประเทศทั่วโลก เหมือนกับเหตุการณ์สึนามิ ยันไม่กระทบต่อวินัยการเงิน การคลัง แต่เพื่อต้องการให้ทุกกลุ่มอยู่รอด และคาดว่าจะมีผู้รับประโยชน์ 14 ล้านคน และจะโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์


อ่านข่าว : คลัง จัดหนัก เตรียมแจกเงินแสนล้าน สู้ COVID-19 - 14 ล้านคน เฮ รอกดผ่านพร้อมเพย์

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 4 มีนาคม 2563 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้แจงข้อสงสัยของประชาชนว่า ทำไมต้องแจกเงิน และส่งตรงถึงมือประชาชน โดยระบุว่า มีข้อสงสัยกันมาก เรื่องที่กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภัย COVID-19 ด้วยวิธีการส่งเงินเข้าบัญชีผู้มีสิทธิ เพื่อให้นำเงินไปใช้จ่าย ซึ่งจะมีการนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร่งด่วน

อุตตม แจกเงินแสนล้าน
ทั้งนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้บทบาทกระทรวงการคลัง มีอยู่ 2 แนวทาง คือ

          1. มาตรการทางภาษี เช่น การยกเว้น หรือการลดภาษี เพื่อให้เกิดเม็ดเงินส่วนต่างจากภาษีที่ลดไป หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ

          2. การนำเงินอัดฉีดเข้าไปในระบบ ก็คือส่งให้กับประชาชนไปใช้จ่ายโดยตรง

          ต้องยอมรับว่าวันนี้ เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจาก COVID-19 รุนแรง และไม่อาจคาดเดาได้ว่าสถานการณ์จะดำเนินถึงเมื่อไหร่ จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการระยะสั้น เพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำไปกว่านี้ และการส่งเงินให้ถึงประชาชนเพื่อเอาไปใช้จ่าย คือ มาตรการที่ได้ผลเร็วที่สุด และเมื่อสถานการณ์ทุเลาลงแล้ว ก็ต้องมีมาตรการอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจต่อไป

        สำหรับการส่งเงินถึงมือประชาชนโดยตรงนั้น เป็นเพียงหนึ่งในชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มเป้าหมาย และเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาของทุกฝ่ายอีกครั้ง ในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ก่อนที่จะเสนอที่ประชุม ครม. พิจารณาต่อไป

        สำหรับเป้าหมายของมาตรการนี้ เพื่อให้ประชาชนนำไปซื้อสินค้า ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เมื่อมีการซื้อขายสินค้าบริการต่าง ๆ เกิดขึ้น เม็ดเงินก็จะหมุนไปในหลายภาคส่วน และหลาย ๆ รอบ คือ เมื่อเกิดการซื้อ ก็มีการผลิต เมื่อมีการผลิต ก็จะมีการจ้างงาน มีการซื้อวัตถุดิบ

        "เราต้องช่วยกันครับ คนไทยทุกคนกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ ความร่วมมือร่วมใจกันจะพาเราผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้"


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก เฟซบุ๊ก ดร.อุตตม สาวนายน







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อุตตม แจงแล้ว ทำไมต้องแจกเงินแสนล้าน หลัง COVID-19 ระบาด ชี้อัดฉีดเข้าระบบ ได้ผลเร็วสุด อัปเดตล่าสุด 5 มีนาคม 2563 เวลา 11:21:42 36,744 อ่าน
TOP