x close

เปิดโปงวงการแชร์ลูกโซ่ กับคำถามฮิต ทำไมบางช่วงถึงได้รับเงินปันผลตามปกติ

          เปิดโปงวงการแชร์ลูกโซ่ กับคำถามฮิตที่ว่า เพราะเหตุใด ทำไมบางช่วงถึงได้รับเงินปันผลตามปกติ มีตั้งแต่ระดับเบสิก แอดวานซ์ ถึงขั้นเชี่ยวชาญ


เปิดโปงวงการแชร์ลูกโซ่

          วงการแชร์ลูกโซ่ หลายคนรู้จักคำนี้ ไม่ว่าจากข่าวคราว เรื่องราวของคนรู้จัก หรือแม้แต่เคยเข้าไปสัมผัสมาด้วยตัวเอง บางคนรู้ทันกลลวงเบื้องลึกเบื้องหลัง ในขณะที่อีกหลาย ๆ คนก็ยังคงตกเป็นเหยื่อ

          วันที่ 13 กรกฎาคม 2562 เฟซบุ๊ก ดร.เอก ดำเนินเกษม ได้ออกมาเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ตีแผ่วงการแชร์ลูกโซ่ ระบุว่า กลุ่มเป้าหมายของแชร์ลูกโซ่นั้น แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ข้าราชการ และ ผู้ที่กินเงินบำนาญ ที่หวังจะเป็นเงินเก็บให้กับลูกหลาน, พนักงานเงินเดือนที่เข้าใจว่าโลกนี้มีงานสบาย รายได้ดี ทำงานอยู่กับบ้าน และนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ และ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ใช้เงินค่าเทอมที่พ่อ-แม่โอนมาลงทุนกับกองทุนเหล่านี้


เปิดโปงวงการแชร์ลูกโซ่

          ทั้งนี้ ในวงการแชร์ลูกโซ่ มีคำถามว่า เหตุใดมีเหยื่อบางรายที่ได้รับเงินปันผลตามปกติในบางช่วง และทำไมเหยื่อบางส่วนถึงได้รับผลตอบแทนเต็มจำนวน ซึ่งเป็นข้อสงสัยยอดฮิต ทางดร.เอก ได้อธิบายไว้ 3 แบบ ตั้งแต่ พื้นฐาน แอดวานซ์ ไปจนถึงขั้นเชี่ยวชาญ ดังนี้

แบบ basic


          1. ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ยอดเงินฝากไม่ว่าจะจำนวนเท่าใดก็ตามแต่ จะถูกนับทางคณิตศาสตร์เป็น 100% และ ถ้าหากกองทุนลูกโซ่นั้นสัญญาว่าจะจ่ายปันผลให้เดือนละ 10% นั่นหมายถึงว่าพวกเขาจะมีเวลา 10 เดือน (หรือ 10 ครั้ง) ที่จะใช้เงินต้นของคุณปันผลกลับคืนให้กับคุณ

          หมายเหตุ : ในอดีต กองทุนลูกโซ่ส่วนใหญ่จะให้ตัวเลขปันผลที่สูงมากในแต่ละเดือน (อาจมากกว่า 100%) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนนำกระแสเงินสดเข้ามาลงทุนในระบบ แต่ในปัจจุบันกองทุนลูกโซ่พยายามออกแบบระบบให้ดูใกล้เคียงกับกองทุนที่ถูกกฏหมายมากที่สุด ตัวเลขปันผลส่วนใหญ่ในช่วง 2-3 ปี ให้หลังจึงมักอยู่ที่ 5-10%

          2. จากข้อ 1 จึงเป็นเรื่องปกติที่ในช่วงแรกคุณจะได้รับเงินปันผลตรงตามกำหนด แต่พอเข้าช่วงปันผลครั้งที่ 4 หรือ 5 จะเริ่มมีคำแนะนำให้ลงทุนเพิ่มกับหน่วยลงทุนอื่นที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า โดยมักสมอ้างว่าเราได้สิทธิพิเศษเป็นลูกค้า VIP และหน่วยลงทุนใหม่นี้มีจำนวนจำกัด

          3. จากข้อ 2 คุณก็จะเชื่อโดยสนิทใจ เพราะได้รับปันผลกลับมาแล้วไม่น้อยกว่า 4-5 ครั้ง โดยหลักการทางคณิตศาสตร์ถ้าหากเราลงเงินเพิ่มในกองทุนใหม่ ก็คือการซื้อเวลาให้กับพวกเขา โดยใช้เงินเรานี่ล่ะในการปันผลกลับมา อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเราไม่มีเงินทุนที่จะลงต่อ ก็จะได้รับคำแนะนำให้หาสมาชิกเพิ่ม เพื่อสร้างรายได้ให้กับเรา

          หมายเหตุ : ถึงจุดนี้ เราก็จะหลงเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะตนเองได้รับปันผลกลับมาแล้วมากกว่า (หรือ น้อยกว่า) 50 % เล็กน้อย ด้วยเหตุผลดังกล่าว กระบวนการบอกต่อกับเพื่อน หรือญาติพี่น้อง ก็จะเกิดขึ้นกับเหยื่อโดยความบริสุทธิ์ใจ โดยหารู้ไม่ว่า ในอนาคตจะกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาพวกเขาเหล่านั้น

          4. เมื่อกองทุนล้ม แม่ทีมบางส่วนจึงผันตนเองเป็นเหยื่อร่วมกับผู้เสียหาย (เจ้าของตัวจริง อยู่ต่างประเทศ)

แบบ advance

          ผู้เสียหายหลายท่านให้การว่ามีหลายคนได้รับเงินปันผลมากกว่า 200% ซึ่งสามารถอธิบายได้โดยหลักการดังต่อไปนี้

          1. เนื่องจากการทำกองทุนแบบแชร์ลูกโซ่ ก็เป็นการลงทุนหนึ่งของกลุ่มมิจฉาชีพ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ในช่วงแรก จะส่งแม่ทีมเข้าไปทาบทามผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้ที่มีหน้าตาในสังคม นายตำรวจ นายทหาร และคนมีสี กลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้จะยอมจ่ายเงินปันผลให้คนกลุ่มดังกล่าวอาจมากกว่า 200% ไปจนถึง 300% เพื่อให้เกิดกระบวนการชวนเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจจากพวกเขาที่เป็นคนที่มีหน้าตาในสังคมเหล่านั้น (ซึ่งเราจะเรียกว่าเบอร์หนึ่ง)

          หมายเหตุ : ภาพถ่ายคู่กับนายตำรวจ (หรือ นายทหาร) ชั้นผู้ใหญ่ ก็จะเกิดขึ้นในขั้นตอนนี้ ก่อนที่จะถูกนำรูปภาพเหล่านั้นไปใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อในลำดับต่อไป


          2. จากข้อ 1 จะมีความเป็นไปได้ 2 กรณี

          - ผู้ใหญ่ในกลุ่มแรกก็จะเริ่มเชื่อถือกองทุนลูกโซ่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และเริ่มมีการแนะนำให้กับญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง โดยมีตนเองเป็นจุดศูนย์กลางความน่าเชื่อถือ จนเกิดการเป็นสายโซ่การระดมทุน

          - ถ้าผู้ใหญ่ในกลุ่มแรกไม่โอเคกับการแนะนำผู้อื่น โดยส่วนใหญ่พวกเขามักถูกนำชื่อไปอ้างว่าได้ลงทุนกับกองทุนลูกโซ่นี้ หรือ เป็น brand ambassador โดยไม่ได้ตั้งใจ

          3. เมื่อกองทุนล้ม จึงมักมีการพาดพิงผู้หลักผู้ใหญ่ ข้าราชการ (เจ้าของตัวจริง อยู่ต่างประเทศ)

          หมายเหตุ : หัวข้อนี้เป็นการอธิบายถึงโครงสร้างและคำตอบว่าทำไมจึงมีเหยื่อบางส่วนได้รับผลตอบแทนเต็มจำนวน (รวมถึงผลกำไร) ซึ่งคำตอบสั้นๆคือ "สร้างจุดเริ่มต้นแห่งความเชื่อ"

เปิดโปงวงการแชร์ลูกโซ่

แบบ expert

          ในหลายกรณีจะเห็นว่ากองทุนลูกโซ่บางกลุ่ม "โตไว" และ "ล้มไว" จากคำโฆษณาที่แทบเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง เช่น สร้างรายได้วันละ 1% (เดือนละ 30%) หรือ วันละ 30%

          เมื่อศึกษาถึงกระบวนการทำงานจากแม่ทีม (ที่ผันตัวกลับมาเป็นพยาน) จึงได้เข้าใจว่า

          1. เจ้าของกองทุนลูกโซ่ตัวจริงทราบอยู่แล้วว่ากองทุนนี้จะล้ม และ แม่ทีมเองก็ทราบถึงความผิดปกตินี้ดี

          2. ไม่ว่าจะนำเสนอ product ใดก็ตามแต่ แต่ขั้นตอนหนึ่งที่ทำให้กองทุนเติบโตได้ไว้คือการใช้เงินสร้างแรงจูงใจให้กับแม่ทีม เช่น ถ้ากองทุนนี้ ในเอกสารระบุว่า ปันผลวันละ 3-10% เจ้าของกองทุนจะให้แม่ทีมหักเงินจากหน้างานเลย (ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 40% ของยอดฝาก) ก่อนที่จะส่งมอบให้กับนอมินี 50% (เจ้าของตัวจริงอยู่ที่ต่างประเทศ)

          หมายเหตุ : กระบวนการดังกล่าวเรียกว่า "ทฤษฎีความต้องการตามลำดับขั้นของมาสโลว์ (Hierarchy of Needs)" ซึ่งในกรณีนี้ "เงิน" หรือ "ผลประโยชน์" จะเป็นตัวกระตุ้นศักยภาพของแม่ทีมในการหาลูกค้าเอง ซึ่งวิธีนี้จะได้ผลเร็ว และ กองทุนก็ล้มเร็วเช่นกัน

          3. เมื่อกองทุนล้ม แม่ทีมส่วนใหญ่จะผันตัวเป็นผู้เสียหาย (ส่วนเจ้าของตัวจริง อยู่ต่างประเทศ)

          หมายเหตุ : ไม่ว่าเงินของเราจะอยู่ในกองทุนลูกโซ่ลักษณะใดก็ตาม โปรดจำไว้ว่าตัวเลขเงินต้นคงเหลือบน dash board ที่บัญชีของแต่ละคนนั้น เป็นเพียงแค่ตัวเลขดิจิตัลเท่านั้นเอง ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านี้เลย

ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก เอก ดำเนินเกษม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดโปงวงการแชร์ลูกโซ่ กับคำถามฮิต ทำไมบางช่วงถึงได้รับเงินปันผลตามปกติ อัปเดตล่าสุด 15 กรกฎาคม 2562 เวลา 09:33:20 34,041 อ่าน
TOP