x close

ใช้สติป้องกันสตางค์ ก่อนโอนเงินผ่าน Social Media

          ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลสำคัญต่าง ๆ บน Social Media รวมถึงตั้งสติและตรวจสอบธุรกรรมทุกครั้งก่อนโอนเงิน เพื่อป้องกันภัยการเงินที่มาจาก Social Media
หลอกโอนเงิน

          ปัจจุบันการทำธุรกรรมต่าง ๆ เช่น การซื้อสินค้า หรือการโอนเงินให้แก่กัน ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเทคโนโลยีที่มีการพัฒนา ช่วยให้การโอนเงินสะดวกสบายเพียงแค่ปลายนิ้วมือ แต่ด้วยความสะดวกสบายนี้เองก็เป็นเหมือนดาบสองคมที่หากเราไม่ระวัง ความสบายก็อาจจะย้อนกลับมาทำร้ายเราได้เช่นกัน เพราะมีมิจฉาชีพเล็งหาโอกาสในการหลอกลวงเพื่อหาผลประโยชน์จากความผิดพลาดในการทำธุรกรรม กระปุกดอทคอม จึงขอนำวิธีรับมือเพื่อให้การโอนเงินผ่าน Social Media ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น จาก K-Expert ธนาคารกสิกรไทย มาฝาก โดยเริ่มง่าย ๆ จาก

เข้าใจรูปแบบการหลอกให้โอนเงินผ่าน Social Media ที่มักจะพบเห็นกันได้บ่อย ๆ

          • เจ้าของบัญชีถูกแฮกข้อมูล และมิจฉาชีพจะสวมตัวตนแทนเพื่อติดต่อไปยังบุคคลที่อยู่ในรายชื่อเพื่อนของเจ้าของบัญชีที่แท้จริง โดยการสร้างเหตุการณ์เพื่อให้เพื่อนเจ้าของบัญชีที่แท้จริงยินยอมที่จะโอนเงินให้ เช่น หลอกลวงว่าเจ้าของบัญชีที่แท้จริงเจ็บป่วย และต้องการเงินเพื่อการรักษาโดยให้โอนเงินให้ เป็นต้น

          • มิจฉาชีพสร้างโปรไฟล์ปลอมผ่าน Social Media โดยอาจใช้รูปหรือบุคคลที่มีชื่อเสียง มีความน่าเชื่อถือ หรือรูปที่ดึงดูดความสนใจ เพื่อให้เหยื่อเข้าใจผิดว่าได้แชตกับบุคคลดังกล่าวจริง และสร้างสถานการณ์ต่าง ๆ ให้เหยื่อยินยอมที่จะโอนเงินมาให้เพราะความเชื่อใจ

หลอกโอนเงิน

การป้องกันมิจฉาชีพทาง Social Media

          • ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขบัตรประชาชน เลขที่บัญชี บน Social Media เพราะอาจเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพนำข้อมูลดังกล่าวไปปลอมแปลง หรือสวมตัวตนของเราได้

          • ตรวจสอบความสัมพันธ์ทุกครั้งก่อนรับบุคคลอื่น ๆ มาเป็นเพื่อนกับเราใน Social Media เพื่อป้องกันการแฝงตัวของมิจฉาชีพ

          • ตั้งสติ และตรวจสอบธุรกรรมทุกครั้งหากต้องทำธุรกรรมทางการเงินกับบุคคล หรือองค์กรใน Social Media เช่น การสอบถามจากช่องทาง Call Center ของหน่วยงานที่ถูกอ้างถึง เป็นต้น และควรเช็กรายละเอียดก่อนโอนว่าเลขที่บัญชี ชื่อบัญชี และจำนวนเงินถูกต้องหรือไม่

 ขั้นตอนรับมือหากตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพทาง Social Media

          1. แจ้งธนาคารเจ้าของบัญชีของเราถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมวิธีแก้ไข

          2. รีบรายงานข้อมูลแก่ศูนย์ให้ความช่วยเหลือ และแจ้งแก่บุคคลต่าง ๆ ที่เรามีความสัมพันธ์ด้วยให้เร็วที่สุด

          3. รวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทั้งหมด เช่น หน้าโปรไฟล์ที่ถูกปลอมขึ้น หน้าจอการสนทนา หลักฐานการโอนเงิน แล้วนำหลักฐานทั้งหมดไปแจ้งความ ณ สถานีตำรวจ ดังนั้น เราจึงควรเก็บข้อมูลต่าง ๆ ทุกครั้งเมื่อมีการทำธุรกรรมทางออนไลน์


ข้อเตือนใจกับ 5 สิ่งที่คุณไม่ควรโพสต์ลงใน Social Media เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพนำไปปลอมแปลงข้อมูล

หลอกโอนเงิน

          1. บัตรประชาชน ไม่ควรถ่ายรูปบัตร หรือโพสต์เลขบัตรประชาชนโดยเด็ดขาด เพราะอาจถูกนำไปทำธุรกรรมทางการเงิน

          2. บัตรเครดิต ไม่ควรถ่ายรูปบัตรทั้งด้านหน้า และด้านหลังบัตรที่มีเลข CVV เพราะข้อมูลเหล่านี้สามารถถูกนำไปใช้ในการทำธุรกรรมออนไลน์ได้

          3. การ Check-in ตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่ควร Check-in ตลอดเวลา เพราะจากการสำรวจพบว่า กว่า 75% มิจฉาชีพจะใช้ข้อมูลการ Check-in ในการค้นหาตำแหน่งที่อยู่ในปัจจุบันของเหยื่อได้

          4. ลายนิ้วมือ ข้อนี้อาจจะตรงกับใครหลาย ๆ คนที่ชอบถ่ายรูป เพราะการโพสต์ภาพที่มีการโชว์สองนิ้ว ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่การถ่ายรูปเห็นปลายนิ้วภายใน 3 เมตร อาจทำให้ถูกสวมรอยลายนิ้วมือ และขโมยข้อมูลสำคัญได้

          5. ตั๋วเครื่องบินหรือบอร์ดดิ้งพาส ไม่ควรโพสต์โชว์ เพราะมิจฉาชีพอาจนำไปใช้ในการค้นหาข้อมูลสู่บ้านของเราได้ หรือข้อมูลบนบัตร เช่น ชื่อ-นามสกุล จุดเริ่มต้น จุดหมายปลายทาง และบาร์โค้ด ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงการเดินทางของเราได้อีกด้วย


          เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรับใช้ในการเข้าสู่โลก Social Media ในครั้งหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพสามารถหาโอกาสในการเอาเปรียบตัวเราเอง หรือคนใกล้ตัวของเราได้ และนำมาซึ่งการสูญเสียในอนาคตนั่นเอง


K-Expert Action


           • ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลสำคัญต่าง ๆ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน บัตรเครดิต ตั๋วเครื่องบิน บน Social Media
 
           • หลีกเลี่ยงการแชตกับคนที่ไม่รู้จัก และตั้งสติ ไม่รีบทำธุรกรรมทางการเงินใด ๆ ก่อนเช็กให้แน่ใจ ?
 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ใช้สติป้องกันสตางค์ ก่อนโอนเงินผ่าน Social Media อัปเดตล่าสุด 19 มีนาคม 2562 เวลา 18:12:28 22,939 อ่าน
TOP