x close

เช็กลิสต์ ! บริจาคเงินแบบไหน...ลดหย่อนภาษี 2566 ได้ 2 เท่า

          ลดหย่อนภาษี 2566 ด้วยการบริจาคเงินที่ช่วยลดภาระภาษีแบบคุ้ม ๆ ถึง 2 เท่า มีอะไรบ้าง รีบมาเช็กเงื่อนไข ก่อนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ช่วงต้นปี 2567

บริจาคเงิน ลดหย่อนภาษี

          มนุษย์เงินเดือนและผู้มีรายได้ที่กำลังวางแผนจัดการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันอยู่ บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่า เงินบริจาค หรือ เงินทำบุญ สามารถเป็นตัวช่วยลดหย่อนภาษีได้เหมือนกัน แถมบางรายการลดหย่อนได้ถึง 2 เท่าอีกด้วย หมายความว่า บริจาคไป 1,000 บาท นำมาลดหย่อนได้ถึง 2,000 บาทเลยทีเดียว ว่าแต่จะมีรายการบริจาคอะไรบ้างนั้นที่ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ก่อนจะยื่นภาษี 2566 เรารวบรวมมาให้แล้ว  

เงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า มีอะไรบ้าง


1. บริจาคเพื่อการศึกษา


บริจาคเงิน ลดหย่อนภาษี

          การบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ โดยเป็นการบริจาคเพื่อการใช้จ่ายสำหรับ 3 รายการนี้

          - อาคารสถานที่ เป็นการจัดหาหรือจัดสร้างอาคารหรือที่ดินให้แก่สถานศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา

          - สื่อการเรียน การสอน เป็นการจัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษา แบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา 

          - บุคลากร เป็นการจัดหาครู อาจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา ให้กับสถานศึกษา


โดยจะต้องบริจาคให้แก่หน่วยงาน ต่อไปนี้

          - สถานศึกษาของรัฐ
          - โรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบ
          - สถาบันอุดมศึกษาเอกชน
          - สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ
          - สถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ

          ทั้งนี้ ผู้ที่บริจาคสนับสนุนการศึกษาเพื่อใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี 2 เท่า จะต้องบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) เท่านั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 - 31 ธันวาคม 2567 จึงจะสามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่า ไม่เช่นนั้นจะสามารถลดหย่อนภาษีได้เพียง 1 เท่า ตามที่จ่ายจริง อย่างไรก็ตาม การบริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์นี้ มีข้อดีตรงที่เราไม่ต้องเก็บใบเสร็จการบริจาคมาเป็นหลักฐานเพื่อยื่นภาษีอีกต่อไป เพราะข้อมูลการบริจาคของเราจะส่งตรงถึงกรมสรรพากรเลย


2. บริจาคให้แก่สถานพยาบาลของรัฐ


บริจาคเงิน ลดหย่อนภาษี
ภาพจาก PongMoji/Shutterstock

          นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เราสามารถบริจาคเงินให้โรงพยาบาลของรัฐโดยตรงได้แล้ว เพื่อนำไปหักลดหย่อนภาษี 2 เท่า แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่น ๆ แล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ต้องบริจาคผ่านทางมูลนิธิต่าง ๆ ของโรงพยาบาล 


          นอกจากนี้การบริจาคเงินให้สภากาชาดไทยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 - 31 ธันวาคม 2567 ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

3. สนับสนุนการกีฬา 


          ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่น ๆ แล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ หากเป็นการบริจาคเงินให้หน่วยงานด้านกีฬาที่สังกัดสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย หรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ หรือกรมพลศึกษา

          •  ตรวจสอบรายชื่อหน่วยงานด้านกีฬาที่หักลดหย่อนได้ 2 เท่า 

4. กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้น


บริจาคเงิน ลดหย่อนภาษี

          สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่น ๆ แล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ ซึ่งต้องเป็นการบริจาคให้กองทุนที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้น เพื่อสนับสนุนและจูงใจให้มีการบริจาคเงินให้แก่กองทุนพัฒนาครูให้มีคุณภาพและมาตรฐานเหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง

5. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเด็กเล็ก


          สำหรับการบริจาคเงินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รวมทั้งการสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่น ๆ แล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ 


6. โครงการฝึกอบรมเยาวชนของสถานพินิจ


บริจาคเงิน ลดหย่อนภาษี

          เงินบริจาคในโครงการฝึกอบรมอาชีพและการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู เด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน หรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนของกระทรวงยุติธรรม สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่น ๆ แล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ 

7. กองทุนยุติธรรม


          นำมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่น ๆ แล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ สำหรับเงินบริจาคเข้ากองทุนยุติธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม และเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน

8. การจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน


บริจาคเงิน ลดหย่อนภาษี

          สามารถหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าเช่นกัน แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่น ๆ แล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ โดยต้องเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่านให้แก่สถานศึกษาของรัฐ โรงเรียนเอกชน สถาบันอุดมศึกษาเอกชน หอสมุด ห้องสมุด หรือแหล่งหนังสืออื่น ๆ ที่ให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชน รวมถึงห้องสมุดของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลด้วย

9. กองทุนเสมอภาคทางการศึกษา


          เป็นการต่ออายุมาตรการสำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ผ่านระบบ e-Donation ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 ธันวาคม 2571 สามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว

10. กองทุนเพื่อพัฒนาและส่งเสริมด้านอื่น ๆ


          ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 770) พ.ศ. 2566 ระบุให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่บริจาคเงินให้แก่

        
- กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยาตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ
        
- กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
         - กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
         - กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมตามกฎหมายว่าด้วยสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ

          โดยต้องบริจาคผ่านระบบ e-Donation ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 - 31 ธันวาคม 2568 หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนต่าง ๆ แล้ว

11. มูลนิธิด้านสาธารณสุข 


          การบริจาคเงินให้มูลนิธิด้านสาธารณสุขภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 สามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ โดยเป็นการบริจาคให้กับมูลนิธิ ดังต่อไปนี้

          - ศิริราชมูลนิธิ
          - มูลนิธิจุฬาภรณ์
          - มูลนิธิโรคมะเร็ง โรงพยาบาลศิริราช
          - มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี
          - มูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า
          - มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
          - มูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
          - มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กองทัพเรือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
          - มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
          - มูลนิธิสนับสนุนสถาบันประสาทวิทยา
          - มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก 
          - มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

12. มูลนิธิอื่น ๆ


          สามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ โดยเป็นการบริจาคให้กับมูลนิธิ 3 แห่ง ได้แก่

          - มูลนิธิชัยพัฒนา
          - มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
          - มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

          ทั้งนี้ ต้องเป็นการบริจาคในช่วงวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 - 31 ธันวาคม 2567

ใช้หลักฐานอะไรยื่นขอลดหย่อนภาษี


          - กรณีเป็นการบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาที่ใช้สิทธิ์หักลดหย่อนภาษี 2 เท่า ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป ต้องเป็นการบริจาคผ่านระบบ e-Donation เท่านั้น ซึ่งข้อมูลการบริจาคจะถูกบันทึกและส่งให้กรมสรรพากรโดยตรง โดยที่เราไม่ต้องเก็บหลักฐาน เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบอนุโมทนาบัตร ไว้ยื่นภาษี

          - กรณีเป็นการบริจาคเงินอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เพื่อสนับสนุนการศึกษา บางแห่งยังสามารถใช้ใบเสร็จรับเงินบริจาค ใบอนุโมทนาบัตร ที่ระบุชื่อผู้บริจาคชัดเจนตรงกับชื่อ-นามสกุลของผู้เสียภาษี เพื่อนำมาใช้เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษีได้ หรือสามารถบริจาคผ่านระบบ e-Donation ก็ได้เช่นกัน แต่บางแห่งต้องบริจาคผ่านระบบ e-Donation เท่านั้น จึงควรตรวจสอบเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ชัดเจน 

บริจาคผ่าน e-Donation ทำได้อย่างไร


          ก่อนอื่นต้องตรวจสอบว่าหน่วยงานที่เราจะบริจาค ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา ศาสนสถาน โรงพยาบาล องค์กร สถานสาธารณกุศลต่าง ๆ มีระบบ e-Donation หรือไม่


          ข้อดีของระบบนี้ก็คือ เมื่อเราบริจาคเงินก็สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้เลย โดยไม่ต้องเก็บหลักฐานการบริจาคมายื่นภาษี จึงไม่ต้องกังวลว่าเอกสารต่าง ๆ จะสูญหาย และยังช่วยให้เราได้รับเงินคืนภาษีได้เร็วขึ้นด้วย โดยสามารถบริจาคผ่าน e-Donation และแจ้งความประสงค์จะใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 ช่องทาง คือ

          - กรณีบริจาคด้วยเงินสดที่หน่วยรับบริจาค ให้แจ้งหน่วยรับบริจาคบันทึกข้อมูลการบริจาคบนระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ทันที

          - กรณีบริจาคผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยการโอนเงินด้วย QR Code ให้สังเกตแผ่นป้าย QR Code ต้องมีคำว่า "e-Donation" และชื่อบัญชีเงินฝาก "หน่วยรับบริจาค" เมื่อสแกน QR Code แล้วจะมีข้อความแจ้งความประสงค์ให้ธนาคารส่งข้อมูลการบริจาคของเราให้กรมสรรพากร เพื่อขอหักลดหย่อนภาษี


          ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบยอดเงินบริจาคผ่าน e-Donation ของเราได้ที่ กรมสรรพากร

วิธีคำนวณเงินบริจาคเพื่อใช้ลดหย่อนภาษี


          การบริจาคเงินเพื่อลดหย่อนภาษีนั้นจะนำมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินบริจาค โดยสามารถคำนวณง่าย ๆ ด้วยตัวเอง ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ 

          ตัวอย่างเช่น : นาย A มีรายได้ทั้งปี 600,000 บาท บริจาคเงินเพื่อการศึกษา 10,000 บาท และใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีอื่น ๆ ดังนี้

          - หักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ (แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) = 100,000 บาท 

          - หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท  

          - หักค่าประกันสังคม 9,000 บาท

          - หักค่าลดหย่อนบุตร 1 คน 30,000 บาท

          - หักค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต 30,000 บาท 

          ดังนั้น เมื่อหักค่าลดหย่อนข้างต้นแล้ว นาย A จะเหลือเงินได้สุทธิเท่ากับ 371,000 บาท 

          จากนั้นให้นำรายได้สุทธิหลังหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ ของนาย A จำนวน 371,000 บาท ไปคำนวณลดหย่อนภาษีเงินบริจาค นั่นคือ นาย A จะหักลดหย่อนภาษีเงินบริจาคได้ไม่เกิน 10% ของ 371,000 บาท หรือไม่เกิน 37,100บาท 

          ดังนั้น การที่นาย A บริจาคเงินเพื่อการศึกษาไป 10,000 บาท ซึ่งสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ จะทำให้นาย A สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ถึง 20,000 บาท หรือหากนาย A อยากลดหย่อนภาษีแบบคุ้มค่าที่สุด สามารถเพิ่มเงินบริจาคเป็น 18,550 บาทได้ ก็จะช่วยให้ลดภาระภาษีสูงสุดที่ 37,100 บาท   


          ทั้งหมดนี้เป็นรายการบริจาคเงินลดหย่อนภาษี 2 เท่า ที่เรารวบรวมมาให้แบบครบถ้วน ใครที่ไม่ได้บริจาคผ่านระบบ e-Donation ก็อย่าลืมเก็บหลักฐานใบเสร็จไว้ยื่นต่อกรมสรรพากรด้วยนะ

บทความที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

          - เงินเดือนเท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษี เช็กเลย...ถ้ามีรายได้เท่านี้ ต้องเสียภาษีกี่บาท
          - เงินเดือนไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี แล้วแบบนี้ยังต้องยื่นภาษีด้วยไหม ? 
          - ขายของออนไลน์เสียภาษีอย่างไร ? วิธีคำนวณง่าย ๆ ก่อนยื่นภาษี 
          - ขั้นตอนยื่นภาษีออนไลน์ ง่าย ๆ มือใหม่ก็ทำได้ 
          - ยื่นภาษีผิดทำไงดี ไม่ต้องตกใจไป แค่ยื่นใหม่ก็จบแล้ว ! 
          - ลดหย่อนภาษีได้เท่าไร ถ้าตั้งครรภ์ หรือคลอดลูกในปี 2566 เรื่องที่คุณแม่ต้องรู้ !


*หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566


ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสรรพากร (1), (2), (3), (4), (5), (6), (7), (8), (9), (10), (11), (12), (13), กรมประชาสัมพันธ์        

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เช็กลิสต์ ! บริจาคเงินแบบไหน...ลดหย่อนภาษี 2566 ได้ 2 เท่า อัปเดตล่าสุด 28 ธันวาคม 2566 เวลา 14:52:35 271,616 อ่าน
TOP