x close

พิทักษ์ทรัพย์ คืออะไร ถูกศาลสั่งแล้วจะมีผลอย่างไรบ้าง ?

          รู้จักกับความหมายของการพิทักษ์ทรัพย์ ในคดีล้มละลาย หากมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ต้องทำอย่างไร มีผลอะไรบ้าง ใครยังสงสัยอยู่ มาหาคำตอบกัน   

พิทักษ์ทรัพย์

          เรามักจะได้ยินคำว่า "พิทักษ์ทรัพย์" อยู่บ่อย ๆ ในคดีที่เกี่ยวกับการฟ้องล้มละลาย ซึ่งคงมีหลายคนที่ยังไม่เข้าใจว่าความหมายของคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น คืออะไรกันแน่ เหมือนกับคำสั่งล้มละลายหรือเปล่า วันนี้ กระปุกดอทคอม มีคำตอบของเรื่องนี้มาฝาก   

พิทักษ์ทรัพย์ คืออะไร


          การพิทักษ์ทรัพย์ เป็นคำสั่งของศาลล้มละลาย ที่ตัดสินให้ทรัพย์สินของลูกหนี้ อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยลูกหนี้จะไม่สามารถทำอะไรกับทรัพย์สินนั้น ๆ ได้เลย ไม่ว่าจะเป็น การขาย จำนอง ถ่ายโอน เพื่อเป็นการพิทักษ์ทรัพย์สินเหล่านั้นให้เจ้าหนี้นั่นเอง

          โดยการพิทักษ์ทรัพย์เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของการล้มละลาย แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่ถูกตัดสินพิทักษ์ทรัพย์จะล้มละลายทันทีนะ เพราะยังสามารถไกล่เกลี่ย และจัดการเรื่องคดีความกับเจ้าหนี้ให้จบลงด้วยดีได้ ซึ่งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้ 

พิทักษ์ทรัพย์

          1. คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว 

 

          เป็นคำสั่งที่จะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างพิจารณาคำฟ้อง โดยเจ้าหนี้สามารถขอให้ศาลพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ชั่วคราวได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้โยกย้าย ถ่ายโอนทรัพย์สินไปไว้ที่อื่น 

          2. คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด 

 

          จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อศาลวินิจฉัยชี้ขาดแล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ารวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้โดยเด็ดขาด อันมีผลเหมือนเป็นคำพิพากษา แต่จะยังไม่ถือว่าเป็นบุคคลล้มละลาย เพราะสามารถขอเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อประนอมหนี้ก่อนได้ภายในกำหนด 7 วัน
 
          อย่างไรก็ดี หากมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จะไม่สามารถถอนฟ้องคดีได้ และเจ้าหนี้ทั้งหลายต้องมายื่นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายใน  2 เดือน นับจากวันที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ เพื่อที่ลูกหนี้จะได้ทราบว่าตนเองมีหนี้สินเท่าไร จะต้องจัดการกับหนี้สินดังกล่าวอย่างไร เช่น อาจจะยื่นคำขอประนอมหนี้ตามจำนวนที่คิดว่าจะสามารถชำระแก่เจ้าหนี้ได้ หรือหากไม่สามารถจะประนอมหนี้ได้ ก็ต้องตกเป็นบุคคลล้มละลายโดยคำพิพากษาของศาล

ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ จะเป็นอย่างไร 


พิทักษ์ทรัพย์

          แม้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ จะยังไม่ถือว่าเป็นบุคคลล้มละลาย แต่สิ่งที่ถูกหนี้จะต้องเจอเมื่อโดนคำสั่ง มีดังนี้ 
 
          1. ทรัพย์สินต่าง ๆ ของลูกหนี้ จะตกอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียว

          2. ห้ามลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้รับคำสั่งจากศาล

          3. ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ลูกหนี้ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้ต้องไปสาบานตัวต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ และยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน

          4. จะต้องประชุมเจรจากับเจ้าหนี้ทุกครั้งที่มีนัดหมาย 

          5. กรณีต้องการเดินทางออกนอกประเทศ ต้องขออนุญาตจากศาลหรือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ให้ถูกต้องก่อน

          อย่างไรก็ตาม หากท้ายที่สุดแล้วผลการตัดสินคดี หรือไกล่เกลี่ยจบสิ้น และพบว่ามีทรัพย์สินเหลือที่ลูกหนี้ต้องได้รับคืน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ก็จะทำหน้าที่จัดการคืนทรัพย์สินเหล่านั้นให้กับลูกหนี้ 
 

ถูกพิทักษ์ทรัพย์ ต้องออกจากราชการไหม


          เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าถ้าเป็นบุคคลล้มละลาย จะขาดคุณสมบัติการเป็นข้าราชการ และถูกสั่งให้ออกจากราชการทันที แต่ทั้งนี้ หากยังอยู่แค่ขั้นตอนพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้จะยังไม่ขาดคุณสมบัติจนต้องออกจากราชการ และยังสามารถรับราชการได้ตามปกติ จนกว่าจะมีคำตัดสินให้กลายเป็นบุคคลล้มละลายเท่านั้น    

ถูกพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้ต้องทำอย่างไรบ้าง

 

พิทักษ์ทรัพย์

          ทางออกที่ดีที่สุดเมื่อถูกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว นั่นก็คือการเข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอประนอมหนี้ ภายในกำหนด 7 วัน และอย่าเมินเฉยต่อการนัดประนีประนอม โดยเฉพาะการไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย เพราะจะนำไปสู่การโดนยึดทรัพย์ขายทอดตลาด และถูกพิพากษาให้กลายเป็นบุคคลล้มละลายในที่สุด 

 
          ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อมูลเบื้องต้นของการพิทักษ์ทรัพย์ ถ้าใครไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง ก่อนจะก่อหนี้ ก็คิดให้ดี ๆ ด้วยว่าเรามีความสามารถหาเงินมาคืนได้ไหม จะได้ไม่เป็นต้นเหตุจนกลายเป็นคดีฟ้องร้องแบบที่มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ


บทความที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายการเงิน






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พิทักษ์ทรัพย์ คืออะไร ถูกศาลสั่งแล้วจะมีผลอย่างไรบ้าง ? อัปเดตล่าสุด 24 ตุลาคม 2566 เวลา 09:59:12 139,936 อ่าน
TOP