x close

เสนอรื้อภาษีสรรพากร ! ลดเพดานภาษีบุคคลธรรมดาเหลือ 25%-หักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น

          ชงปฏิรูปภาษีสรรพากรทั้งระบบ หวังขยายฐานผู้เสียภาษีเป็น 35 ล้านคน เสนอลดเพดานภาษีบุคคลธรรมดาเหลือ 25% พร้อมหักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ด้านสรรพากร แจง เป็นแค่ข้อเสนอ ยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ปี 2562
ภาษี

          วันที่ 22 กันยายน 2561 คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร หรือ คกก. ได้มีการประชุมและรับฟังความคิดเห็นเรื่องการปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร โดยนำความคิดเห็นที่ได้จากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ สภาอุตสาหกรรม หอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย นักวิชาการ และประชาชน ซึ่งมีการเสนอให้แก้ไขระบบภาษีสรรพากร 6 ประเด็น ดังนี้ 

1. ประเด็นธรรมาภิบาลการจัดเก็บภาษีและบริหารภาษีอากร 


          - ให้มีการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษานโยบายภาษีอากรแห่งชาติ ที่เป็นอิสระจากหน่วยงานจัดเก็บภาษี เพื่อกำหนดนโยบายเก็บภาษีโดยคำนึงถึงโครงสร้างภาษีทั้งระบบและทุกประเภท รวมถึงการตั้งคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษี ซึ่งเป็นคนนอก ไม่ใช่จากกรมสรรพากร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นกลาง รวมทั้งสร้างค่านิยมในการเสียภาษี โดยกำหนดนโยบายเพื่อจูงใจให้ผู้มีเงินได้เข้าสู่ระบบภาษี เช่น การช่วยเหลือผู้มีเงินได้น้อย และการให้สิทธิประโยชน์เชิงสวัสดิการที่มิใช่เป็นตัวเงินแก่ผู้เสียภาษี เป็นต้น 

          - กำหนดนโยบายเชิงรุกเพื่อขยายฐานการจัดเก็บภาษี โดยให้ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะมีเงินได้หรือไม่ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และเปิดเผยจำนวนเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีในแบบแสดงรายการ แม้ในปีภาษีดังกล่าวจะไม่มีภาษีที่ต้องชำระก็ตาม

2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ภาษี

          - ปรับเงินได้ใหม่ให้เหลือ 3 ประเภท โดยแยกตามวิธีการคำนวณภาษี คือ 1. เงินได้จากน้ำพักน้ำแรง 2. เงินได้จากทรัพย์สินและการลงทุน และ 3. เงินได้จากธุรกิจและอื่น ๆ รวมทั้งเสนอให้หักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ตามประเภทของเงินได้จากปัจจุบันที่หักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท

          - เสนอให้มีการปรับลดเพดานอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้อยู่ระดับ 25% จากปัจจุบันที่สูงสุดอยู่ที่ 35% เพื่อให้ใกล้เคียงกับภาษีเงินได้นิติบุคคล และขยายช่วงเงินได้สำหรับแต่ละอัตรา เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการประกอบธุรกิจ แต่ยังไม่พร้อมจะเป็นนิติบุคคล

3. ภาษีเงินได้นิติบุคคล 
 

ภาษี

          - เสนอให้ปรับลดอัตราภาษีและภาระภาษีรวมอยู่ที่ไม่เกิน 25% จากปัจจุบันภาษีนิติบุคคลของไทยเสียอยู่ที่ 20% และต้องเสียภาษีเงินปันผลอีกประมาณ 10% รวมถึงให้กลุ่มบริษัทเดียวกันมีสิทธิคำนวณกำไรเสียภาษีรวมแบบกลุ่ม ป้องกันการถ่ายโอนราคาสินค้าบริหารเพื่อเสียภาษีให้น้อยลง 

4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 

ภาษี
 

          - จากปัจจุบันต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี เสนอเพิ่มเป็นเกิน 10 ล้านบาทต่อปี แก้ปัญหาผู้ประกอบการหลีกเลี่ยงการเสียภาษี เนื่องจากผู้ประกอบการ SMEs ปัจจุบันมีรายได้อยู่ปีละ 7-8 ล้านบาท

          ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่ถึง 10 ล้านบาท ที่ไม่ต้องจดทะเบียนขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องเสียภาษีจากการขายจากรายรับ 2% ทดแทน รวมทั้งเสนอให้ยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้กิจการบางประเภท เช่น บริการสอบบัญชี การว่าความ โรงเรียนกวดวิชา การให้บริการนักแสดง เป็นต้น

5. ภาษีธุรกิจเฉพาะ 

          - เสนอให้มีการยกเลิกจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะอัตรา 0.1% ของรายรับจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

6. ภาษีอากรแสตมป์

          - เสนอให้ยกเลิกการเก็บภาษีอากรแสตมป์ทั้งหมด เนื่องจากซ้ำซ้อนกับการเก็บภาษีประเภทอื่น และมีจำนวนน้อย รวมถึงมีค่าใช้จ่ายในการติดตามตรวจสอบสูงกว่าภาษีอากรแสตมป์ที่เก็บได้

          ทั้งนี้ นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธาน คกก. กล่าวว่า หลังจากนี้จะเสนอการแก้ไขกฎหมายให้คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายระยะเร่งด่วน เพื่อให้บังคับใช้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาเขียนร่างแก้ไขกฎหมายกรมสรรพากรไม่เกิน 5 เดือน และเสร็จทันในปี 2562 ซึ่งการแก้ไขกฎหมายสรรพากร จะช่วยขยายฐานภาษีบุคคลธรรมดาของคนไทยให้สูงขึ้นได้ถึง 35 ล้านคน จากปัจจุบันที่มีคนอยู่ในระบบภาษี 10 ล้านคน และมีผู้เสียภาษีจริงเพียง 3 ล้านคน 

          อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อข่าวดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าในปี 2562 จะมีการปรับโครงสร้างระบบภาษีใหม่ ด้วยเหตุนี้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 กรมสรรพากร จึงได้ออกประกาศชี้แจงว่า ข้อความตามที่เผยแพร่เป็นเพียงข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากรที่ได้มีการจัดสัมมนา เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่มีผลตามกฎหมาย และไม่ได้มีผลบังคับใช้ ในปี 2562 แต่อย่างใด


หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 28 กันยายน 2561


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
กรมสรรพากร 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เสนอรื้อภาษีสรรพากร ! ลดเพดานภาษีบุคคลธรรมดาเหลือ 25%-หักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น อัปเดตล่าสุด 28 กันยายน 2561 เวลา 10:02:05 15,396 อ่าน
TOP