x close

เงินชราภาพ บำเหน็จ-บำนาญประกันสังคม ขอคืนได้เมื่อไหร่ ใครมีสิทธิ์บ้าง ?

          เจาะรายละเอียด บำเหน็จ-บำนาญชราภาพประกันสังคม ใครมีสิทธิ์ได้บ้าง พร้อมวิธีคำนวณง่าย ๆ รู้เลยว่าจะมีเงินชราภาพไว้ใช้ยามเกษียณเท่าไหร่   

เงินชราภาพประกันสังคม

          มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ ที่ล้วนโดนเรียกเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมกันทุกเดือน รู้ไหมว่าเงินที่เราจ่ายไปนั้น ส่วนหนึ่งถูกกันไว้เป็นเงินออมเมื่อยามเกษียณ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "บำเหน็จและบำนาญชราภาพ" แล้วเคยสงสัยกันไหมว่าสิทธิประกันสังคมส่วนนี้ เราจะได้รับเงินคืนเมื่อไหร่ มากน้อยแค่ไหน ถ้าลาออกจากงานไปแล้วจะได้ไหม ลองมาเช็กรายละเอียดกัน

เงินชราภาพประกันสังคม คืออะไร


          ปกติแล้วเงินสมทบประกันสังคมจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล ประกันว่างงาน และสุดท้ายคือ เงินชราภาพ ที่เราจะได้รับเมื่อยามเกษียณ ซึ่งมาจาก 3% ของฐานเงินเดือน หมายความว่า หากเราจ่ายเงินสมทบในอัตราสูงสุดที่ 750 บาทต่อเดือน ก็จะถูกหักเงินเข้ามาเป็นเงินออมชราภาพ จำนวน 450 บาท ทันที

เงินชราภาพประกันสังคม ใครมีสิทธิ์ได้รับบ้าง


          ใช่ว่าทุกคนจะมีสิทธิ์ได้รับเงินชราภาพเหมือนกันหมด เพราะทางประกันสังคมกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ไว้ดังนี้
          - เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 หรือผู้ประกันตน มาตรา 39 
          - มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
          - ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
เงินชราภาพประกันสังคม

จะได้รับบำเหน็จ หรือบำนาญ ?


          เงินออมชราภาพที่ได้รับนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ "เงินบำเหน็จ" ที่จ่ายเป็นก้อนใหญ่ครั้งเดียว กับ "เงินบำนาญ" ที่จะทยอยจ่ายเป็นรายเดือนไปตลอดชีวิต โดยเราไม่สามารถเลือกเองได้ว่าจะรับเป็นบำเหน็จหรือบำนาญ แต่จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามเงื่อนไข คือ

          1. บำเหน็จชราภาพ : จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน หรือ 15 ปี โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ   

          - จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน ได้รับบำเหน็จเท่ากับเงินส่วนของเงินสงเคราะห์บุตรและชราภาพที่เราเคยส่งสมทบไว้ หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของค่าจ้างแต่ละปี

            ทั้งนี้ หากเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 จะไม่มีกรณีจ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน เพราะผู้ที่จะสมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 ได้นั้น ต้องเคยเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 มาแล้ว 12 เดือน

          - จ่ายสมทบมากกว่า 12 เดือน แต่ไม่ถึง 180 เดือน ได้บำเหน็จเท่ากับเงินส่วนของเงินสงเคราะห์บุตรและชราภาพที่เราจ่ายสมทบ บวกกับเงินที่นายจ้างสมทบ หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ของค่าจ้างแต่ละปี รวมกับผลประโยชน์ตอบแทนที่ประกันสังคมกำหนด

          2. บำนาญชราภาพ : จ่ายสมทบมากกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปี จะติดต่อกันหรือไม่ก็ได้ 

          เมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน แม้ว่าจะหยุดส่งไปช่วงหนึ่งแล้วกลับมาเข้าระบบประกันสังคมใหม่ หรือส่งติดต่อกัน 15 ปี ก็ตาม จะมีสิทธิ์รับบำนาญเท่ากับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ฐานเงินเดือนสูงสุดที่คิดคือ 15,000 บาท) 

          แต่ถ้ามีการจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ก็จะได้บำนาญบวกเพิ่มขึ้นไปอีก 1.5% ทุก ๆ 12 เดือน หรือ 1 ปี เช่น จ่ายเงินสมทบ 30 ปี ก็จะได้รับบำนาญเป็น 20% + (1.5% x 15 ปี) เท่ากับ 42.5%

เงินชราภาพประกันสังคม
ภาพจาก : สำนักงานประกันสังคม

วิธีตรวจสอบเงินชราภาพประกันสังคม


          ปกติแล้วทางสำนักงานประกันสังคมจะมีการส่งหนังสือแจ้งยอดเงินสมทบให้ผู้ประกันตนอยู่แล้ว แต่สำหรับใครที่ต้องการเช็กยอดเงินสะสมด้วยตัวเองก็สามารถตรวจสอบได้ตามช่องทางนี้

          - เข้าไปติดต่อสอบถามโดยตรงได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาที่สะดวก  
          - โทร. สอบถาม สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) 
          - ตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ สำนักงานประกันสังคม ได้ด้วยขั้นตอนง่าย ๆ แบบนี้ >>> เช็กสิทธิประกันสังคมของตัวเองผ่านเว็บไซต์

บำนาญชราภาพ คิดยังไง ได้เงินเท่าไร


          เงินบำนาญชราภาพ ประกันสังคม ที่เราได้รับจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบและฐานเงินเดือนของเรา ซึ่งสามารถคำนวณได้ด้วยตัวเอง โดยวิธีง่าย ๆ คือ

          1. จ่ายเงินสมทบ 180 เดือน หรือ 15 ปี พอดีเป๊ะ : ได้รับบำนาญ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย (สูงสุด 15,000 บาท)

          สูตรคำนวณเงินบำนาญที่ได้ คือ ค่าจ้าง x 20%

          หมายความว่า ถ้าเรามีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาท/เดือนขึ้นไป ก็จะคำนวณเงินบำนาญได้เป็น 15,000 x 20% เท่ากับได้รับเงินบำนาญเดือนละ 3,000 บาท หรือถ้ามีรายได้ 12,000 บาท จะได้เงินบำนาญเดือนละ 2,400 บาท ไปตลอดชีวิต

          2. จ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปี : ได้รับบำนาญ 20% บวก 1.5% ทุก ๆ 12 เดือน หรือ 1 ปี 

          สูตรคำนวณ คือ 20% + [1.5% x (จำนวนปีจ่ายเงินสมทบ - 15 ปี)]  

          ตัวอย่างเช่น
          - จ่ายเงินสมทบ 20 ปี จะได้เป็น 20% + (1.5% x 5) เท่ากับ 27.5% แล้วค่อยเอา 27.5% คูณฐานเงินเดือน ก็จะได้จำนวนเงินบำนาญที่ได้รับแต่ละเดือนออกมา 
          หมายความว่า ถ้าเรามีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาท/เดือนขึ้นไป จะได้บำนาญเดือนละ 4,125 บาท (15,000 x 27.5%) 

          - จ่ายเงินสมทบ 25 ปี จะได้เป็น 20% + (1.5% x 10) เท่ากับ 35% ของเงินเดือน
          หมายความว่า ถ้าเรามีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาท/เดือนขึ้นไป ก็จะได้บำนาญเดือนละ 5,250 บาท (15,000 x 35%) 

          - จ่ายเงินสมทบ 30 ปี จะได้เป็น 20% + (1.5% x 15) เท่ากับ 42.5% ของเงินเดือน
          หมายความว่า ถ้าเรามีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาท/เดือนขึ้นไป ก็จะได้บำนาญเดือนละ 6,375 บาท (15,000 x 42.5%)  

          แต่ถ้าเรามีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 15,000 บาท ก็ให้นำเงินจำนวนนั้นมาหาค่าเฉลี่ยรายได้ 60 เดือนสุดท้าย (ตามสูตร จำนวนรายได้ทั้งหมดที่ได้รับ หาร 60) แล้วคำนวณตามจริง โดยสามารถคำนวณเงินบำนาญ ประกันสังคม ผ่านเว็บไซต์ได้ที่ โปรแกรมการคำนวณเงินบำนาญชราภาพ

ส่งเงินสมทบไป 10 ปี แล้วลาออกตอนอายุ 40 ปี จะได้เงินชราภาพประกันสังคมไหม


          คำตอบคือ ได้ แต่จะได้รับในส่วนของเงินบำเหน็จ ตามจำนวนเงินที่ได้จ่ายสมทบ บวกกับเงินที่นายจ้างและผลประโยชน์ตอบแทนอื่น ๆ โดยจะไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญ เพราะว่าสมทบไม่ถึง 15 ปี นั่นเอง 

          อย่างไรก็ดี ใช่ว่าผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำเหน็จตอนอายุ 40 ปี ที่ลาออกจากงาน หรือลาออกจากประกันสังคมเลยนะ ต้องรอจนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และลาออกจากประกันสังคมเท่านั้นถึงจะได้เงิน

ส่งเงินไปแล้ว 15 ปี แต่อายุยังไม่ถึง 55 ปี จะขอรับเงินชราภาพประกันสังคมได้ไหม


          แม้จะส่งเงินสมทบครบ 15 ปี แล้วทำการลาออกจากบริษัทและประกันสังคมเรียบร้อย ก็จะยังไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญอยู่ดี เพราะอย่างที่บอกคือ เราจะได้รับเงินก็ต่อเมื่อมีอายุถึง 55 ปี เท่านั้น เพราะฉะนั้นใครคิดว่าให้รีบลาออก รีบรับเงินประกันสังคม แบบนี้ไม่ได้นะ

          อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ 3 ประเด็น ทั้งขอเลือก, ขอคืน และขอกู้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเป็นการปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้
         
          - ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้
          - ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถขอรับเงินบำนาญจ่ายล่วงหน้าได้
          - ให้ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถเลือกรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพได้ (ขอเลือก)
          - ในกรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์อื่นใดอันส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตน สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ได้ก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ (ขอคืน)
          - สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้ (ขอกู้)

          โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ ครม. อนุมัติหลักการแล้ว และต้องรอการประกาศให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการต่อไป

เงินชราภาพ

ส่งเงินไป 15 ปี แล้วลาออกจากประกันสังคม มาตรา 33 มาสมัคร มาตรา 39 จะได้บำนาญไหม


          เมื่ออายุครบ 55 ปี จะยังคงได้รับเงินบำนาญเหมือนเดิม แต่จุดสำคัญคือ ถ้าเราลาออกจากผู้ประกันตน มาตรา 33 แล้วมาสมัคร มาตรา 39 การคิดฐานเงินเดือนขั้นต่ำจะเปลี่ยนไปด้วย จากเดิม มาตรา 33 ฐานเงินเดือนขั้นต่ำสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท จะเหลือเพียงเดือนละ 4,800 บาท หากเปลี่ยนมาเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 นั่นหมายความว่า เวลาคำนวณเงินชราภาพก็จะคิดจากฐานเงินเดือนที่น้อยลงตามไปด้วยทันที  

          ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น
          A เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ส่งเงินมา 15 ปี แล้วลาออก ถ้าคำนวณเงินบำนาญที่จะได้รับต่อเดือน คือ 15,000 x 20% = 3,000 บาท/เดือน

          แต่หาก A ลาออกจากมาตรา 33 มาสมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 แล้วส่งเงินเข้าประกันสังคมต่ออีก 5 ปี รวมเป็น 20 ปี จะได้รับเงินบำนาญเพียง 4,800 x 27.5% = 1,320 บาท/เดือน เท่านั้น เพราะต้องคำนวณจากฐานเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย โดยหากเป็นมาตรา 39 สูงสุดจะอยู่ที่ 4,800 บาท


          เช่นนี้แล้วใครจะเปลี่ยนจากผู้ประกันตน มาตรา 33 มาเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 ก็ต้องชั่งใจตรงจุดนี้ด้วยว่าจะยอมได้รับเงินบำนาญที่น้อยลง เพื่อแลกกับสิทธิรักษาพยาบาลต่อไหม ซึ่งถ้าใครมีบัตรทองหรือมีประกันสุขภาพอยู่แล้ว อาจจะเลือกจบที่การเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ไปก็ได้ เพื่อจะได้รับเงินบำนาญที่มากกว่า

เป็นทั้งผู้ประกันตน มาตรา 33 และ 39 จะคำนวณเงินบำนาญยังไง


          ในกรณีที่เราเป็นทั้งผู้ประกันตน มาตรา 33 และผู้ประกันตน มาตรา 39 ก่อนลาออกจากประกันสังคม วิธีคำนวณเงินบำนาญจะอิงตามฐานรายได้เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ส่งเงินสมทบ

          ตัวอย่างเช่น ในช่วง 60 เดือนสุดท้ายก่อนลาออกจากประกันสังคม เราส่งเงินสมทบมาตรา 33 ที่ฐานเงินเดือน 15,000 บาท อยู่ที่ 40 เดือน และส่งเงินสมทบมาตรา 39 ที่ฐานเงินเดือน 4,800 บาท จำนวน 20 เดือน จะสามารถคิดเงินบำนาญได้ ดังนี้

          [(15,000 x 40) + (4,800 x 20)] / 60 จะได้ฐานค่าจ้างเฉลี่ยออกมาเป็น 11,600 บาท ซึ่งถ้าเราส่งเงินสมทบทั้งสิ้น 180 เดือน ก็จะได้รับเงินบำนาญเดือนละ 2,320 บาท (11,600 x 20%) 
 

อายุครบ 55 ปีแล้ว จะขอรับเงินบำนาญชราภาพได้ยังไง


          ต้องบอกว่าหากเราส่งเงินสมทบถึง 15 ปี และมีอายุครบ 55 ปีแล้ว การที่จะได้รับเงินบำนาญ จำเป็นต้องลาออกจากประกันสังคมก่อน หมายความว่าก็จะหมดสิทธิ์ได้รับสิทธิประโยชน์ประกันสังคมต่าง ๆ ตามไปด้วย ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าทำฟัน เงินคลอดบุตร เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาก็ต้องควักเงินจ่ายเอง ใช้ประกันสุขภาพหรือสิทธิบัตรทองแทน    

          อย่างไรก็ตาม ใครที่ต้องการคงสิทธิรักษาพยาบาลประกันสังคมต่อก็สามารถทำได้เช่นกัน ด้วยการเปลี่ยนมาเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 ภายใน 6 เดือน หลังลาออกจากงาน โดยต้องจ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาท ซึ่งจะยังคงได้รับสิทธิรักษาพยาบาลต่าง ๆ แต่ก็ต้องแลกกับการไม่ได้รับเงินชราภาพ หรือถ้าภายหลังลาออกจากผู้ประกันตน มาตรา 39 เพื่อขอรับเงินบำนาญ จำนวนเงินที่ได้ก็จะลดลงไปด้วย เพราะคำนวณจากฐานเงินเดือนขั้นต่ำสูงสุดที่ 4,800 บาท

เสียชีวิตก่อนอายุ 55 ปี ทายาทขอรับเงินชราภาพแทนได้ไหม


          หากผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนอายุครบ 55 ปี ซึ่งเป็นกำหนดรับเงินชราภาพ กรณีนี้ทายาทจะมีสิทธิ์ขอรับเงินดังกล่าวแทน แต่จะได้เป็นเงินบำเหน็จเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์รับเป็นเงินบำนาญ โดยทายาทที่มีสิทธิ์ ได้แก่ 

          1. บุตรชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้นบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น
          2. สามี-ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย
          3. บิดา-มารดาที่มีชีวิตอยู่ 
 

เสียชีวิตหลังรับบำนาญไม่ถึง 5 ปี ทายาทจะได้รับเงินที่เหลือไหม


          หากรับเงินบำนาญไปแล้วไม่ถึง 5 ปี หรือ 60 เดือน แต่ผู้ประกันตนเสียชีวิต ทายาทมีสิทธิ์ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพใน 3 กรณี ตามเงื่อนไขที่ปรับปรุงใหม่เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ดังนี้

กรณีที่ 1

          ผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพ ต่อมาเสียชีวิตภายใน 60 เดือน (นับจากเดือนที่รับบำนาญ)

          ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จ = จำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต x จำนวนเดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน

          เช่น หากผู้ประกันตนได้รับบำนาญเดือนละ 3,000 บาท รับไปแล้ว 12 เดือน แล้วเสียชีวิต ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จรวม 3,000 บาท x 48 เดือน = 144,000 บาท

กรณีที่ 2

          ถ้าผู้ประกันตนที่ลาออกแล้ว กลับไปทำงานเป็นผู้ประกันตนใหม่ และต่อมาเสียชีวิต (ได้รับเงินบำนาญไม่เกิน 60 เดือน)

          ทายาทได้รับเงินบำเหน็จ = จำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับก่อนกลับไปเป็นผู้ประกันตน x จำนวนเดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน

          เช่น หากผู้ประกันตนได้รับบำนาญเดือนละ 3,000 บาท รับไปแล้ว 12 เดือน จากนั้นกลับมาทำงานใหม่แล้วเสียชีวิต ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จรวม 3,000 บาท x 48 เดือน = 144,000 บาท

กรณีที่ 3

          แบ่งเป็น 2 กรณี

          1. กรณีรับเงินชราภาพก่อนบังคับใช้กฎกระทรวง แต่ยังไม่ครบ 60 เดือน
          ทายาทได้รับเงินบำเหน็จ = เดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน

          2. กรณีรับเงินชราภาพมาแล้วเหลือน้อยกว่า 10 เดือน
          ทายาทได้รับเงินบำเหน็จ = เงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต x 10 เท่า

          เช่น หากผู้ประกันตนได้รับบำนาญเดือนละ 3,000 บาท รับไปแล้ว 55 เดือน ต่อมาเสียชีวิต ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จรวม 3,000 บาท x 10 เท่า = 30,000 บาท

          อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกันตนเสียชีวิตหลังจากรับเงินบำนาญไปแล้วมากกว่า 60 เดือน กรณีนี้ทายาทจะไม่สามารถขอรับเงินใด ๆ ได้

เงินชราภาพประกันสังคม
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน


ต้องทำเรื่องขอคืนเงินออมชราภาพภายในกี่ปี ถ้าไม่อยากเสียสิทธิ์


          อีกประเด็นสำคัญในการขอรับเงินออมชราภาพ ประกันสังคม คือ เราจะต้องยื่นเรื่องให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี หลังจากลาออกจากกองทุนประกันสังคม โดยห้ามเกินแม้แต่วันเดียว เพราะจะถูกตัดสิทธิ์รับเงินบำเหน็จ-บำนาญทันที เพราะฉะนั้นใครรู้ตัวว่าใกล้ถึงเวลาแล้ว แนะนำว่าควรเตรียมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ไว้แต่เนิ่น ๆ เลย

ขอคืนเงินชราภาพ ประกันสังคม ใช้หลักฐานอะไรบ้าง


          กรณีผู้ประกันตนขอคืนเงินชราภาพด้วยตัวเอง

          1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (สปส. 2-01)
          2. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอฯ (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร) ของ 11 ธนาคาร ดังนี้ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารธนชาต, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

          กรณีทายาทขอรับสิทธิ์เงินชราภาพแทน

          1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (สปส. 2-01)
          2. สำเนามรณบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านผู้ตาย
          3. สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิ์รับเงินชราภาพ
          4. สำเนาทะเบียนสมรสของผู้ประกันตนและของบิดามารดา (ถ้ามี)
          5. สำเนาสูติบัตรของบุตรหรือสำเนาทะเบียนบ้านของบุตร
          6. หนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิ์รับเงินบำเหน็จชราภาพ (ถ้ามี)
          7. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอฯ (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร)

          โดยการยื่นขอรับเงินให้ผู้ประกันตนหรือทายาทที่มีสิทธิ์กรอกแบบ สปส. 2-01 ลงลายมือชื่อ พร้อมแนบหลักฐานต่าง ๆ นำมายื่นที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ บริเวณกระทรวงสาธารณสุข) หรือยื่นผ่านทางไปรษณีย์  
 
เงินชราภาพประกันสังคม

ยื่นขอรับเงินชราภาพไปแล้ว จะได้รับเงินเมื่อไร


         - เงินบำเหน็จชราภาพ ได้รับภายใน 7-10 วันทำการ (ไม่นับวันหยุดราชการ) หลังจากได้รับการอนุมัติ
         - เงินบำนาญชราภาพ หลังจากได้รับการอนุมัติ จะมีเงินโอนเข้าบัญชีภายในวันที่ 25 ของเดือนถัดไป

หากรับเงินบำนาญชราภาพอยู่ แล้วกลับมาทำงานเป็นผู้ประกันตน จะได้รับเงินบำนาญต่อหรือไม่


           กรณีนี้จะไม่ได้รับเงินบำนาญ เพราะผู้ที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพจะต้องสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน หากกลับเข้ามาเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 หรือ 39 อีกครั้ง จะหยุดจ่ายบำนาญ

บำเหน็จ กับ บำนาญ อะไรดีกว่ากัน


          พูดตามตรงแล้วคงตอบได้ยากว่า บำเหน็จ หรือ บำนาญ ดีกว่ากัน เพราะแต่ละคนก็มีเงื่อนไขและความจำเป็นในชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งข้อดีของเงินบำเหน็จก็คือ เราได้เงินก้อนใหญ่ไปใช้ทีเดียวเลย ต่างจากเงินบำนาญที่ทยอยได้แค่เดือนละไม่กี่พัน แต่ก็ดีตรงที่ได้รับเงินไปเรื่อย ๆ ตลอดชีวิต

          สำหรับใครที่อยากเห็นภาพชัด ๆ ว่าเลือกแบบไหนถึงจะคุ้มกับตัวเองมากกว่ากัน ลองนำตัวอย่างนี้ไปพิจารณาดู

          สมมติ นาย A มีเงินเดือนอยู่ที่ 15,000 บาท ส่งเงินสมทบมาแล้ว 179 เดือน และตัดสินใจลาออกจากประกันสังคมเพื่อต้องการรับเงินบำเหน็จ นั่นแปลว่า นาย A จะได้เงินก้อนจำนวน 161,100 บาท (จากเงินสมทบและเงินของนายจ้าง แต่ยังไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนประกันสังคม)

          แต่หากนาย A เลือกที่จะส่งเงินสมทบเพิ่มอีกเดือนเดียวให้ครบ 180 เดือน เพื่อรับเงินบำนาญตอนอายุ 55 ปี แปลว่าเขาจะได้เงินเดือนละ 3,000 บาท ไปตลอดชีวิต แสดงว่าเขาจะใช้เวลาราว 54 เดือน (4 ปีครึ่ง) หรือรอถึงอายุ 60 ปี ก็จะได้เงินบำนาญมากกว่าบำเหน็จ จำนวน 161,100 บาท และยังสามารถรับต่อไปได้เรื่อย ๆ จนกว่าจะเสียชีวิต 

          เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าเงินบำนาญจะยิ่งคุ้มหากเราอายุยืนยาว รวมถึงจำนวนปีที่เราจ่ายเงินสมทบด้วย เพราะทุก ๆ ปีที่ส่งเงินสมทบ จะได้รับเงินบำนาญเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 225 บาท ซึ่งใช้เวลา 5 ปี ก็ได้เงินเพิ่มเป็นเดือนละ 4,125 บาทแล้ว หรือเพิ่มมาถึง 67,500 บาท แลกกับเงินสมทบในช่วง 5 ปี ที่ต้องจ่ายเพิ่มอีก 45,000 บาท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความคุ้มค่าจะไม่เกิดขึ้นหากเราเสียชีวิตไปซะก่อน 

          สรุปแล้วก็คือ เราจะได้รับเงินบำเหน็จ หรือบำนาญชราภาพ ขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่ส่งเงินสมทบ และจะได้รับก็ต่อเมื่ออายุครบ 55 ปี โดยที่ต้องลาออกจากการทำงาน พร้อมกับลาออกจากประกันสังคมเท่านั้น หากยังไม่ลาออก แม้จะอายุครบ 55 ปีแล้ว ก็จะไม่ได้รับเงินส่วนนี้ ซึ่งก็ต้องคิดดี ๆ ด้วยว่าหากลาออกจากประกันสังคมจะเสียสิทธิรักษาพยาบาลจากประกันสังคมไปโดยปริยาย

 
          เงินออมชราภาพถือเป็นสิทธิประกันสังคมที่มีไว้เพื่อเป็นหลักประกันในการใช้ชีวิตวัยเกษียณ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การหวังพึ่งเงินชราภาพเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ดังนั้น การวางแผนออมเงินจากแหล่งอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วยก็จะช่วยให้ชีวิตวัยเกษียณอุ่นใจมากขึ้น   


บทความที่เกี่ยวข้องกับเงินชราภาพประกันสังคม

          - 3 วิธีเช็กเงินชราภาพประกันสังคม มาตรา 33 และ 39 รู้ไหมเรามีเงินสะสมอยู่เท่าไร ?

          - ขอคืนเงินประกันสังคม บำเหน็จ บำนาญชราภาพ ก่อนอายุ 55 ปี ได้ไหม ถ้าตกงาน หรือลาออก ?

          - ประกันสังคม เอาเงินชราภาพมาใช้ก่อนได้ 3 ขอ ช่วยเลือกอันไหนดี จ่อใช้ปี 66



* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565


ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานประกันสังคม, เฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เงินชราภาพ บำเหน็จ-บำนาญประกันสังคม ขอคืนได้เมื่อไหร่ ใครมีสิทธิ์บ้าง ? อัปเดตล่าสุด 8 สิงหาคม 2565 เวลา 15:02:43 1,186,709 อ่าน
TOP