x close

รู้จัก 7 สกุลเงินดิจิทัลที่ "ก.ล.ต." อนุญาตให้ซื้อ-ขายได้

          ก.ล.ต. เปิดรายชื่อ 7 สกุลเงินดิจิทัล ที่สามารถซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนได้แบบถูกกฎหมาย มาดูกันว่าแต่ละตัวมีความเป็นมาอย่างไร โดดเด่นอะไรบ้าง
สกุลเงินดิจิทัล

          รอคอยกันมานานสำหรับหลักเกณฑ์การซื้อ-ขายสกุลเงินดิจิทัล (Crypto Currency) ในที่สุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ได้ออกมาให้ความชัดเจนแล้วว่า การซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย ต้องผ่าน 7 สกุลเงินดิจิทัล นี้เท่านั้น ประกอบด้วย Bitcoin, Bitcoin Cash, Ethereum, Ethereum Classic, Litecoin, Ripple และ Stellar เนื่องจากถูกมองว่ามีความน่าเชื่อถือและได้รับความนิยม ทำให้มีสภาพคล่องสูง เหมาะกับการใช้งาน กระปุกดอทคอม จึงไม่รอช้าที่จะพาไปรู้จักกับทั้ง 7 เงินดิจิทัลที่ ก.ล.ต. ให้การยอมรับกันเลย

1. Bitcoin (BTC)

สกุลเงินดิจิทัล

          แน่นอน Bitcoin เป็นเงินดิจิทัลที่หลายคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว เพราะเป็นสกุลแรกของโลกที่ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อปี 2552 โดยโปรแกรมเมอร์ชาวญี่ปุ่นที่ใช้นามแฝงว่า "ซาโตชิ นากาโมโต้" ซึ่ง Bitcoin จะทำงานภายใต้ระบบที่เรียกว่า Blockchain เพื่อช่วยป้องกันการปั๊มเงินออกมาเรื่อย ๆ ตามใจชอบ โดยกำหนดปริมาณเงินในระบบไว้ไม่เกิน 21 ล้านหน่วย จะได้ไม่เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรวดเร็วนั่นเอง

          และถึงแม้ปัจจุบันจะมีเงินดิจิทัลออกมามากมาย แต่ Bitcoin ก็ยังเป็นเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุน และได้รับการยอมรับในซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนมากที่สุดอยู่ดี ด้วยมูลค่าการตลาดปัจจุบัน (เดือนมิถุนายน 2561) ที่ทะลุ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 32 ล้านล้านบาท) ไปแล้ว ทิ้งห่างคู่แข่งแบบไม่เห็นฝุ่นเลยทีเดียว 

          - บิทคอยน์ (Bitcoin) คืออะไร เงินยุคดิจิทัลในโลกออนไลน์...โอกาสหรือความเสี่ยง ?!
 
2. Bitcoin Cash (BCH)

สกุลเงินดิจิทัล

          สิ่งที่น่าสนใจของ Bitcoin Cash คือ เป็นสกุลเงินที่ทีมพัฒนาแยกตัวออกมาจาก Bitcoin เพราะต้องการสกุลเงินดิจิทัลที่มีค่าโอนถูกลง แต่โอนได้รวดเร็วขึ้น จึงตัดสินใจออกมาสร้างสกุลเงินใหม่ในปี 2560 ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่นาน Bitcoin Cash ก็ได้รับการยอมรับและประสบความสำเร็จอย่างมาก จนกลายเป็นเงินดิจิทัลมาแรงที่มีมูลค่าตลาดสูงติดอันดับต้น ๆ ปัจจุบัน (เดือนมิถุนายน 2561) Bitcoin Cash มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4.5 แสนล้านบาท 

3. Ethereum (ETH)

สกุลเงินดิจิทัล

           Vitalik Buterin เป็นผู้ที่พัฒนาเงินสกุล Ethereum ขึ้นมาในปี 2556 จนทำให้เขาได้รับการยอมรับอย่างสูงในวงการเงินดิจิทัล ด้วยความสามารถอันโดดเด่นของ Ethereum ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายธุรกรรม โดยเฉพาะการเป็นฐานในการระดมทุนทำ ICO (Initial Public Offering) ของเงินดิจิทัลสกุลใหม่ ๆ ทั่วโลก

          อีกทั้ง Ethereum ยังถูกยอมรับจากหลายองค์กรชั้นนำ โดยมีการก่อตั้งกลุ่มที่ชื่อว่า EEA หรือ Enterprise Ethereum Alliance เพื่อร่วมกันพัฒนาวิจัยเพิ่มความสามารถของ Ethereum ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 116 บริษัท เต็มไปด้วยบริษัทชื่อดังมากมาย ทั้ง Microsoft, JP Morgan, Toyota และ Intel ทำให้ปัจจุบัน (มิถุนายน 2561) Ethereum มีมูลค่าสูงถึง 48,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.5 ล้านล้านบาท เป็นรองแค่บิทคอยน์เท่านั้น

          - รู้จัก Ethereum เงินดิจิทัลมาแรง ที่หลายคนต่างจับตามอง !
 
4. Ethereum Classic (ETC)

สกุลเงินดิจิทัล

          Ethereum Classic เป็นอีกหนึ่งสกุลเงินที่แยกตัวออกมาจาก Ethereum เพราะทีมพัฒนาบางกลุ่ม ไม่เห็นด้วยกับเรื่องการแก้ปัญหาของ Ethereum ที่ถูกแฮกระบบ จึงออกมาพัฒนา Ethereum Classic ในปี 2559 ซึ่งปัจจุบัน (เดือนมิถุนายน 2561) มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 44,000 ล้านบาท 

5. Litecoin (LTC)

สกุลเงินดิจิทัล

          เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีจุดเด่นในเรื่องของความเร็วในการประมวลผลทำธุรกรรมต่าง ๆ ซึ่งว่ากันว่าเร็วกว่า Bitcoin ถึง 4 เท่า แถมค่าธรรมเนียมยังถูกกว่าอีกด้วย ซึ่ง Litecoin ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2554 โดย Charlie Lee อดีตวิศวกรของ Google และปัจจุบันถูกขุดพบไปแล้วประมาณ 56 ล้านเหรียญ คิดเป็นมูลค่าราว 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.7 แสนล้านบาท

6. Ripple (XRP)

สกุลเงินดิจิทัล

          Ripple เป็นเงินดิจิทัลที่แตกต่างจากสกุลเงินอื่น ๆ เพราะออกแบบภายใต้ระบบ Private Blockchain โดยมีบริษัท Ripple เป็นผู้ดูแลปริมาณเงินในระบบทั้งหมด ทำให้นักลงทุนไม่สามารถขุดได้ ด้วยเหตุผลที่ต้องการให้ Ripple มีความเสถียรและเป็นเงินดิจิทัลหลักสำหรับใช้แลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ  

          จึงทำให้ Ripple เป็นที่ยอมรับในวงกว้างของสถาบันการเงินและบริษัทชั้นนำทั่วโลก ทั้ง Google, SBI Group, Standard Chartered และ Seagate ไม่เว้นแม้แต่สถาบันการเงินในไทย อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ได้มีการเข้าไปลงทุนกับ Ripple ศึกษาการใช้เทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) เพื่อพัฒนาการโอนเงินข้ามประเทศผ่านระบบออนไลน์ให้สะดวก รวดเร็ว และลดค่าใช้จ่ายให้มากยิ่งขึ้น

7. Stellar (XLM)

สกุลเงินดิจิทัล

          Stellar เป็นสกุลเงินที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก Ripple ที่มีจุดประสงค์เพื่อเป็นเงินดิจิทัลสำหรับถ่ายโอนแลกเปลี่ยนกับสกุลเงินหลัก แต่จุดที่ Stellar แตกต่างออกไปคือการออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานของคนทั่วไป ที่ถ่ายโอนเงินจำนวนไม่มาก ตรงกันข้ามกับ Ripple ที่จะเน้นกลุ่มองค์กรและสถาบันการเงินเป็นหลัก

          นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้ Stellar เริ่มน่าสนใจขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือการประกาศความร่วมมือกับ IBM บริษัทไอทีรายใหญ่ของโลก เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม Blockchain Banking Solution ที่มีเป้าหมายลดระยะเวลาการทำธุรกรรมชำระเงินข้ามประเทศ จึงทำให้ Stellar เป็นสกุลเงินที่หลายคนกำลังจับตามอง

          อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายเงินดิจิทัลในไทยจะเริ่มมีความชัดเจนและได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่การลงทุนในเงินดิจิทัลก็ยังคงมีความเสี่ยงสูงเมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ดังนั้น ใครที่จะเข้าไปลงทุนหรือทำธุรกรรมต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องมีความรอบคอบและศึกษาข้อมูลให้ดี ไม่อย่างนั้นอาจจะโดนหลอกหรือถูกเอาเปรียบได้ง่าย ๆ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จัก 7 สกุลเงินดิจิทัลที่ "ก.ล.ต." อนุญาตให้ซื้อ-ขายได้ โพสต์เมื่อ 15 มิถุนายน 2561 เวลา 15:00:13 266,792 อ่าน
TOP