x close

เช่าห้องพักต้องรู้ ! กฎหมายที่พักอาศัยใหม่ ใครได้-ใครเสีย

          ศึกษากฎหมาย และอ่านรายละเอียดเงื่อนไขของสัญญาเช่าก่อนตัดสินใจทำสัญญา เพื่อประโยชน์ของผู้เช่าอพาร์ตเมนต์ ห้องพัก หรืออาคารชุด
กฎหมายห้องพัก

          ประเด็นที่ผู้เช่าอพาร์ตเมนต์ ห้องพัก หรืออาคารชุด ให้ความสนใจอย่างมากในช่วงนี้ คือ การออกราชกิจจานุเบกษาว่าด้วยเรื่อง "ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา" ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 เพื่อคุ้มครองผู้เช่าให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้นจากการเช่าที่อยู่อาศัย โดยประกาศฉบับนี้ จะบังคับใช้กับธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่อที่อยู่อาศัย ที่จัดแบ่งให้เช่าตั้งแต่ 5 หน่วยขึ้นไป รวมถึงห้องพัก บ้าน อาคารชุด อพาร์ตเมนต์ แต่ไม่รวมถึงหอพักและโรงแรม กระปุกดอทคอม จึงนำข้อมูลจาก K-Expert ธนาคารกสิกรไทย มาฝากทุกคน เพื่อจะได้เข้าใจรายละเอียดกันให้ชัด ๆ

          กฎหมายใหม่ฉบับนี้มีสาระสำคัญหลายประการที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้เช่า ยกตัวอย่างเช่น

          - ผู้ให้เช่าสามารถเรียกเก็บเงินประกันจากผู้เช่าไม่เกิน 1 เดือน

          - ผู้เช่ามีสิทธิบอกยกเลิกสัญญาเช่าได้ โดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้า 30 วันและจะไม่ถูกริบเงินประกัน 

          - เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง ผู้เช่าจะได้รับเงินประกันคืนจากผู้ให้เช่าภายใน 7 วัน 

          - ผู้เช่าได้รับการคุ้มครองสำหรับค่าเช่าและค่าใช้จ่ายคงที่ตลอดสัญญา

          - ผู้เช่าจ่ายค่าน้ำและค่าไฟตามอัตราในบิลแจ้งหนี้

กฎหมายห้องพัก

          หลายคนอาจสงสัยว่า ค่าน้ำค่าไฟตามกฎหมายฉบับใหม่นี้จะมีการคำนวณอย่างไร โดยสูตรในการคำนวณค่าน้ำค่าไฟเป็นดังนี้

ค่าไฟฟ้าหรือค่าน้ำประปาต่อหน่วย * จำนวนหน่วยที่เราใช้จริง

           ในการคำนวณให้ได้ค่าไฟฟ้าหรือค่าน้ำประปาต่อหน่วย จะคิดจากปริมาณการใช้รวมกันของทั้งอาคาร เช่น ถ้าทั้งอาคารมีการใช้น้ำและไฟมาก ค่าน้ำและไฟเมื่อหารออกมาต่อหน่วยจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้น แต่ถ้าทุกคนในตึกใช้น้ำและไฟแบบประหยัดลง การคิดราคาต่อหน่วยก็จะลดลง เป็นต้น โดยตารางด้านล่างแสดงการคำนวณค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาต่อหน่วย

กฎหมายห้องพัก

           เมื่อได้ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาต่อหน่วยแล้ว จะสามารถคำนวณค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาของผู้เช่าได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้เช่าใช้ไฟ 100 หน่วย ใช้น้ำ 10 หน่วย ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาจะเป็นดังตารางด้านล่าง

กฎหมายห้องพัก

          อย่างไรก็ตาม ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ ผู้ประกอบการสามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการให้เช่าอาคาร เช่น ค่าสูบน้ำ ค่าไฟฟ้าของอาคาร ผ่านการคิดค่าส่วนกลาง ค่าบริการอื่น ๆ หรือคิดค่าเช่าเพิ่มเติมในสัญญาเช่าฉบับใหม่ได้

          สำหรับผู้เช่าที่มีสัญญาเช่าฉบับเดิมที่จัดทำก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 หากผู้เช่ารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสัญญาเช่าฉบับเดิม ก็สามารถแจ้งทางผู้ประกอบการให้ยกเลิกสัญญาเช่าฉบับเดิมและใช้สัญญาเช่าฉบับใหม่ได้ แต่หากว่าอยากจะใช้สัญญาเช่าฉบับเดิมก็สามารถใช้ได้จนครบกำหนดอายุสัญญา ทั้งนี้การจะใช้สัญญาฉบับเดิมหรือสัญญาฉบับใหม่ขึ้นอยู่กับว่า เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายโดยรวมแล้วสัญญาฉบับไหนจะคุ้มค่ากว่ากัน

กฎหมายห้องพัก

          สำหรับผู้เช่าที่กำลังมองหาที่พักใหม่และกำลังจะทำสัญญาฉบับใหม่ ขอแนะนำให้อ่านเงื่อนไขและข้อสัญญาต่าง ๆ ในสัญญาให้ละเอียดว่า นอกจากค่าเช่าห้องพักแล้ว มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมอีกหรือไม่ เช่น ค่าส่วนกลาง ค่าบริการอื่นๆ เป็นต้น

          ผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ หากฝ่าฝืนจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 57 ทวิ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ) หากผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสัญญาเช่าหรือผู้ประกอบการที่มีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สายด่วน 1166 ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
   
          K-Expert Action

          • ชำระค่าเช่าแบบเต็มจำนวนและตรงเวลาทุกครั้ง

          • นอกจากค่าเช่าแล้ว ควรเตรียมเงินไว้สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะตามมา


ขอขอบคณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เช่าห้องพักต้องรู้ ! กฎหมายที่พักอาศัยใหม่ ใครได้-ใครเสีย อัปเดตล่าสุด 6 มิถุนายน 2561 เวลา 17:45:21 112,961 อ่าน
TOP