x close

ประกาศแล้ว ! ปรับค่าแรงขั้นต่ำ สูงสุดเป็นวันละ 330 บาท เริ่ม 1 เมษายน นี้

ค่าแรงขั้นต่ำ 2561
ภาพจาก Frame China / Shutterstock.com

          ราชกิจจานุเบกษา ประกาศอัตราค่าแรงขั้นต่ำใหม่ ปรับขึ้นสูงสุดเป็นวันละ 330 บาท เริ่มมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ 1 เมษายน 2561  

          เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ (ฉบับที่ 9) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2561 โดยให้มีผลบังคับใช้แก่นายจ้างและลูกจ้างทุกคน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าว มีสาระสำคัญ ดังนี้
          1. ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 8) ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2559

          2. กำหนดปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นวันละ 330 บาท ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ภูเก็ต และระยอง

          3. กำหนดปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นวันละ 325 บาท ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

          4. กำหนดปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นวันละ 320 บาท ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี

          5. กำหนดปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นวันละ 318 บาท ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม

          6. กำหนดปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นวันละ 315 บาท ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี และอุตรดิตถ์

          7. กำหนดปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นวันละ 310 บาท ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และอุทัยธานี

          8. กำหนดปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นวันละ 308 บาท ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา

          โดยนางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ จะช่วยทำให้นายจ้างและลูกจ้างอยู่ได้ ซึ่งเป็นกลไกในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเมื่ออัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ทั่วประเทศมีผลใช้บังคับแล้ว กระทรวงแรงงานจะกำกับดูแลให้สถานประกอบกิจการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

          ขณะที่ นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ยอมรับว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-22 บาท มีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตแน่นอน โดยเฉพาะภาคบริการ ที่มีต้นทุนค่าจ้างแรงงานสูงถึง 20% ของต้นทุนทั้งหมด และภาคการเกษตร ที่มีต้นทุนค่าจ้างแรงงานอยู่ที่ 17% ของต้นทุนทั้งหมด ส่วนภาคอุตสาหกรรม จะกระทบน้อยสุด เพราะมีต้นทุนแรงงานเพียง 9% เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยผลิตสินค้า


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
, ราชกิจจานุเบกษา, กระทรวงแรงงาน
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประกาศแล้ว ! ปรับค่าแรงขั้นต่ำ สูงสุดเป็นวันละ 330 บาท เริ่ม 1 เมษายน นี้ อัปเดตล่าสุด 23 มีนาคม 2561 เวลา 14:00:47 117,912 อ่าน
TOP