x close

ต้องโสดแค่ไหน ถึงไม่ต้องทำประกัน

ประกันชีวิต

          แม้เป็นคนโสด แต่หากเป็นเสาหลักครอบครัว มีคนต้องดูแล ต้องการเก็บเงินเพื่อดูแลตัวเอง หรือลดหย่อนภาษีก็ยังจำเป็นต้องทำประกันชีวิต

          เมื่อพูดถึงคำว่า "โสด" สำหรับบางคน มองเป็นเรื่องธรรมดาของคนสมัยนี้ ไม่จำเป็นต้องมีคู่ มีแฟน หรือมีครอบครัว ก็อยู่ตัวคนเดียวได้สบายใจ แต่บางคนอาจบอกว่าเป็นคำต้องห้าม ทำนองว่าแค่พูดเบา ๆ เราก็เจ็บ และพอพูดถึงการทำประกันชีวิตกับคนโสดด้วยแล้ว หลายคนอาจคิดว่า ไม่มีความจำเป็น เพราะคนโสดไม่มีครอบครัว หรือลูก หรือคนที่ต้องเป็นห่วงต้องดูแล แต่เท็จจริงแค่ไหน คนโสดไม่จำเป็นต้องทำประกันชีวิตจริงหรือไม่ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย มีคำตอบ
          แม้ว่าคนโสด จะไม่ได้มีครอบครัว ไม่มีลูกก็จริง แต่ก็ยังมีความจำเป็นต้องทำประกันชีวิต ถ้ามีความต้องการ ดังต่อไปนี้

เป็นเสาหลักครอบครัว มีคนต้องดูแล

          คนโสดหลายคนยังมีพ่อแม่ที่ต้องดูแล เพราะลองนึกดี ๆ แล้ว เมื่อเราเข้าสู่วัยทำงาน พ่อแม่ก็เริ่มเข้าสู่วัยชรา หรือวัยเกษียณ หรืออาจมีญาติพี่น้องที่ต้องพึ่งพาเรา ดังนั้น ถ้าเราเป็นเสาหลักครอบครัว การจากไปของตัวเรา มีผลกระทบต่อการเงินหรือชีวิตความเป็นอยู่ของคนรอบข้าง การทำประกันชีวิตก็เป็นเรื่องจำเป็น

          สำหรับรูปแบบประกันชีวิตที่เหมาะกับผู้ที่ต้องการเน้นความคุ้มครอง คือ "ประกันแบบตลอดชีพ" ซึ่งเบี้ยประกันไม่สูงนักเมื่อเทียบกับความคุ้มครองที่ได้รับ หากมีเหตุทำให้เราต้องจากไปก่อนวัยอันควร คนที่เรารักหรืออยู่ในอุปการะดูแลจะได้ใช้ชีวิตต่อไปไม่ลำบากนัก ยกตัวอย่างเช่น ประกันชีวิตที่คุ้มครองถึงอายุ 99 ปี จ่ายเบี้ย 9 ปี หากจำนวนเงินเอาประกันภัยอยู่ที่ 1 แสนบาท เบี้ยประกันสำหรับคนอายุ 35 ปี จะอยู่ที่ปีละประมาณ 3,700-4,500 บาท

ประกันชีวิต

เก็บเงินเพื่อดูแลตัวเอง

         
ต้องยอมรับว่า คนโสด ไม่ได้มีลูกมาคอยดูแล เมื่อแก่ตัวไป ก็ต้องดูแลตัวเอง เว้นเสียแต่ว่าจะมีหลาน ๆ คอยดูแล แต่อนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน หลาน ๆ อาจมีภาระมากอยู่แล้ว ดังนั้น ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน คนโสด เมื่อไม่มีลูก จึงต้องเตรียมเก็บเงิน หรือวางแผนเกษียณให้ดี

          การเก็บเงินเกษียณ สามารถลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม และนอกจากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ แล้ว การทำประกันก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยตอบโจทย์การวางแผนเกษียณได้ เหมือนเบี้ยที่จ่ายในแต่ละปี เป็นการสะสมเงินไว้ใช้จ่ายในอนาคต
 
          ถ้าต้องการรับเป็นเงินก้อนเมื่อครบสัญญา จะเหมาะกับ "ประกันแบบสะสมทรัพย์" แนะนำเลือกระยะเวลารับเงินก้อนจากประกันให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่จะเกษียณอายุ แต่ถ้าต้องการรับเป็นเงินรายงวดสม่ำเสมอหลังเกษียณ จะเหมาะกับ "ประกันแบบบำนาญ" โดยบริษัทจะเริ่มจ่ายเงินเมื่อผู้ทำประกันมีอายุถึงเกณฑ์ที่กำหนด และจ่ายตามจำนวนงวดหรืออายุของผู้ทำประกันที่ระบุไว้

          ยกตัวอย่างเช่น ประกันบำนาญ เริ่มจ่ายเงินทุกปีเมื่อผู้ทำประกันมีอายุครบ 60 ปี และจ่ายถึงอายุ 90 ปี ถ้าต้องการเงินบำนาญใช้หลังเกษียณปีละ 1 แสนบาท โดยเริ่มทำประกันเมื่ออายุ 35 ปี จะจ่ายเบี้ยปีละประมาณ 49,000-53,000 บาท

ประกันชีวิต

ลดหย่อนภาษี

          สำหรับผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี เมื่อต้องการประหยัดภาษี นอกจากการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้ว การทำประกันก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการลดหย่อนภาษี โดยเลือกแบบที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากประกันชีวิต จะเป็น 2 ส่วน

          - ส่วนแรก เบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไป สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 1 แสนบาท

          - ส่วนที่สอง เฉพาะเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนภาษีได้เพิ่มอีก 2 แสนบาท แต่วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุด 2 แสนบาทนั้น ต้องไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปีที่เสียภาษี และเมื่อรวมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท

          จะเห็นได้ว่า แม้จะเป็นคนโสด ก็ยังมีความจำเป็นต้องทำประกันชีวิต และนอกจากประกันชีวิตแล้ว ลองดูว่า ตัวเรามีความคุ้มครองด้านสุขภาพหรือยัง ทั้งสวัสดิการจากที่ทำงาน หรือสวัสดิการจากภาครัฐ ถ้าไม่มี หรือไม่เพียงพอ อาจทำประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ หรือประกันโรคร้ายแรงเพิ่มเติม เพราะความเสี่ยงของคนเราไม่ได้มีเพียงการเสียชีวิตเท่านั้น โดยถ้าเจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุ ย่อมมีค่าใช้จ่ายตามมา ถ้าไม่มีลูกหลานช่วยจ่าย ค่ารักษาพยาบาลคงกระทบเงินในกระเป๋าอย่างแน่นอน เช็กดูว่า ตัวเรามีความจำเป็นต้องทำประกันหรือไม่ แล้วเลือกแบบประกันให้เหมาะสม

          K-Expert Action

          • เลือกแบบประกันให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ในการทำประกัน
          • ควรมีทุนประกันอย่างน้อย 3 เท่าของรายได้ต่อปี


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ต้องโสดแค่ไหน ถึงไม่ต้องทำประกัน อัปเดตล่าสุด 21 มิถุนายน 2564 เวลา 18:12:50 7,107 อ่าน
TOP