x close

เงินเดือนไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี แล้วแบบนี้ยังต้องยื่นภาษีด้วยไหม ?

          ต้องยื่นภาษีด้วยไหม ถ้าไหน ๆ ก็ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว เพราะรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ เรื่องสำคัญที่คนมีเงินเดือนน้อยจำเป็นต้องรู้ !

ยื่นภาษี

          หลายคนมีความสงสัยเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่า ถ้าตัวเองมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว เรายังจะต้องยื่นภาษีต่อกรมสรรพากรอยู่หรือเปล่า ? ยิ่งบางคนมีเงินเดือนน้อย ๆ หรือเพิ่งจบมาทำงานใหม่ ๆ อาจไม่เคยยื่นภาษีเลย งั้นมาหาคำตอบไปด้วยกัน


          สำหรับคำตอบของเรื่องนี้ คือ กรมสรรพากรกำหนดให้คนที่มีเงินได้ แม้จะไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีก็ต้องยื่นแบบแสดงรายได้อยู่ดีค่ะ แต่ก็กำหนดไว้อีกว่าต้องมีรายได้เท่าไรถึงต้องยื่นแบบฯ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กรณี ตามสถานภาพของแต่ละคน คือ โสด กับ สมรส

กรณีคนโสด


          - หากได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง รวมทั้งเบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ตามมาตรา 40 (1) เป็นเงินได้เพียงประเภทเดียว เกิน 120,000 บาทต่อปี (เฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท) แบบนี้ต้องยื่นแบบภาษี แต่หากมีรายได้รวมกันไม่ถึง 120,000 บาทต่อปี กรณีนี้จะไม่ยื่นภาษีก็ไม่ผิดกติกา

          - หากได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง ตามมาตรา 40 (1) และยังมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย เช่น เงินจากการขายของออนไลน์, เงินปันผลกองทุนรวม, การให้เช่าทรัพย์สิน ฯลฯ เกิน 60,000 บาท กรณีนี้ก็ต้องยื่นแบบภาษีเช่นกัน

          - หากไม่มีค่าจ้างหรือเงินเดือน แต่มีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่น เช่น เงินจากการขายของออนไลน์, เงินปันผลกองทุนรวม, การให้เช่าทรัพย์สิน ฯลฯ เกิน 60,000 บาท นี่ก็ต้องยื่นแบบภาษีด้วย

          ลองตรวจสอบรายละเอียดของเงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ได้ที่ กรมสรรพากร เลยค่ะ

กรณีสมรส


          - หากได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง รวมทั้งเบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ตามมาตรา 40 (1) เป็นเงินได้เพียงประเภทเดียว เกิน 220,000 บาทต่อปี (เฉลี่ยเดือนละ 18,333 บาท) จะต้องยื่นแบบภาษี

          - หากได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง ตามมาตรา 40 (1) และยังมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย เช่น เงินจากการขายของออนไลน์, เงินปันผลกองทุนรวม, การให้เช่าทรัพย์สิน ฯลฯ เกิน 120,000 บาท ก็ต้องยื่นภาษี แม้ว่ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีก็ตาม

          - หากไม่มีค่าจ้างหรือเงินเดือน แต่มีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่น เช่น เงินจากการขายของออนไลน์, เงินปันผลกองทุนรวม, การให้เช่าทรัพย์สิน ฯลฯ เกิน 120,000 บาท กรณีนี้ก็ต้องยื่นแบบภาษีเช่นกัน

          จะเห็นได้ว่าต่อให้เรามีเงินเดือนไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี หรือแม้จะมีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี แต่มีค่าลดหย่อนหลายตัวจนทำให้เราไม่ต้องเสียภาษี ไม่ว่ายังไงก็ต้องยื่นแบบแสดงภาษีทุกคนอยู่ดีนะคะ ยกเว้นจะมีรายได้ไม่เกินเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ ลองมาดูชัด ๆ ตามตารางนี้เลย

ยื่นภาษี

ยื่นภาษีแบบไหน ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ?


          อีกหนึ่งเรื่องที่คนเสียภาษียังสับสนอยู่ก็คือ เราต้องยื่น ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ซึ่งดูง่าย ๆ เลยก็คือ คนมีเงินเดือน โบนัส ค่าครองชีพ หรือรายได้ตามมาตรา 40 (1) ก็ให้เลือกยื่นแบบ ภ.ง.ด.91

          ส่วนคนที่มีรายได้อื่น ๆ เช่น ขายของออนไลน์, เงินปันผลจากกองทุนรวม, เงินปันผลหุ้น ฯลฯ หรือมีทั้งเงินเดือนและรายได้อื่น ๆ ด้วย ก็ให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 

แล้วถ้าไม่ยื่นภาษีจะเป็นอะไรไหม ?


          ถ้าว่ากันตามกฎหมายแล้ว การไม่ยื่นแบบแสดงรายได้จะมีความผิดตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่ขอลดค่าปรับได้ ซึ่งบางคนอาจจะบอกว่าไม่เคยยื่นสักปีก็ไม่เห็นโดนค่าปรับ แต่ต้องเตือนไว้ก่อนว่า หากปีไหนกรมสรรพากรเกิดเรียกตรวจขึ้นมา หรือตรวจสอบพบว่าไม่ยื่นภาษี กรมสรรพากรก็อาจส่งหนังสือมาแจ้งให้ไปเสียค่าปรับได้เหมือนกัน

          ดังนั้น แนะนำว่าให้ยื่นภาษีไปดีกว่า เพื่อความสบายใจ ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกเรียกไปตรวจสอบเมื่อไร และเป็นการช่วยชาติให้มีข้อมูลการจัดเก็บภาษีที่ถูกต้องด้วย ซึ่งเดี๋ยวนี้การยื่นภาษีก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร ยื่นผ่านทางอินเทอร์เน็ตหรือแอปพลิเคชัน ก็ทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง แต่ถ้าใครยื่นไม่เป็น เรามีขั้นตอนการยื่นภาษีมาแนะนำ

          - ขั้นตอนยื่นภาษีด้วยตัวเองทางออนไลน์ มือใหม่ก็ทำได้ ง่ายกว่าที่คิด ! 
          - 9 ขั้นตอนยื่นภาษี ผ่านแอปฯ RD Smart TAX ขอคืนภาษีง่ายกว่าที่คิด !

 

อ่านเพิ่มเติม ขอคืนภาษี 2566

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสรรพากร, กรมสรรพากร  
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เงินเดือนไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี แล้วแบบนี้ยังต้องยื่นภาษีด้วยไหม ? อัปเดตล่าสุด 31 ตุลาคม 2566 เวลา 14:18:43 180,539 อ่าน
TOP