x close

จดบันทึกรายรับ-รายจ่าย เพิ่มเงินออมในกระเป๋ากันเถอะ

จดรายรับรายจ่าย

          เงินเก็บ มีได้ ไม่ต้องรอเงินเดือนขึ้น แค่หมั่นจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย เพื่อปรับลดค่าใช้จ่าย ก็ช่วยให้มีเงินมาเก็บออมได้มากขึ้น

          เคยเป็นกันมั้ย หลังจากเงินเดือนออกไม่กี่วัน แต่เงินในกระเป๋า หรือเงินในบัญชีใกล้จะหมดเสียแล้ว จนต้องนั่งคำนวณว่าเงินที่เหลืออยู่จะพอใช้จนถึงสิ้นเดือนหรือไม่ และลุ้นให้ถึงวันเงินเดือนออกเร็ว ๆ แต่...สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากการใช้จ่ายเงินอยู่ในกรอบรายได้ที่หาได้ ซึ่งการควบคุมค่าใช้จ่ายสามารถทำได้โดยการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายเป็นประจำ

เหตุผลที่เราควรจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย

          เมื่อกล่าวถึงการจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย หลายคนอาจรู้สึกว่าจดแล้วเสียเวลาเปล่า จดไปเพื่ออะไร จดแล้วจะช่วยได้อย่างไร...จริง ๆ แล้วบันทึกรายรับ-รายจ่ายมีความสำคัญมาก เนื่องจาก

          - ช่วยทบทวน การใช้จ่ายเงินในแต่ละเดือนว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ค่าใช้จ่ายใดที่สามารถปรับลดได้บ้าง

          - ช่วยเก็บเงิน เพราะรู้จำนวนเงินที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำไปเก็บออมเพิ่ม หรือลงทุนได้

          - ช่วยวางแผนหนี้สิน โดยถ้าต้องก่อหนี้เพิ่ม จะพิจารณาได้ว่า เงินผ่อนต่อเดือนสูงเกินไปหรือยัง ซึ่ง K-Expert แนะนำว่าเงินผ่อนต่อเดือนไม่ควรเกิน 30% ของรายได้

จดรายรับรายจ่าย

          จะเห็นได้ว่าการจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต และฝึกระเบียบวินัยในการใช้จ่ายเงิน ลองคิดดูว่า ในแต่ละวัน กิจกรรมที่ทำ จะกิน จะใช้ ล้วนเกี่ยวข้องกับเงิน ดังนั้น หากไม่จด จะจำหมดได้อย่างไรว่าแต่ละวัน แต่ละเดือน ใช้จ่ายอะไรไปบ้าง พอจะนึกก็นึกไม่ออกเสียแล้ว จึงมีคำกล่าวว่า "จำไม่หมด จดดีกว่าจำ" 
เริ่มต้นจด จด จด กันเถอะ

          การจดบันทึกไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงจดบันทึกค่าใช้จ่ายทุกรายการ และทุกวัน ทั้งนี้ บันทึกรายรับ-รายจ่ายจะได้ผลดีต่อตัวผู้จดบันทึก ก็ต่อเมื่อสิ่งที่บันทึกไว้นั้นถูกต้องครบถ้วนจริง ๆ

          สำหรับรูปแบบของบันทึกรายรับ-รายจ่ายนั้น ไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัว จะจดในสมุดตามความเข้าใจของตัวเอง หรือจะบันทึกลงในคอมพิวเตอร์ด้วยโปรแกรม Excel ก็สะดวกขึ้น โดยปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีการพัฒนา โปรแกรม K-Expert Saving Memo (โปรแกรมบันทึกรับ-จ่าย) ทำให้จดบันทึกได้สะดวกและเป็นระบบ มีทั้งรูปแบบ Online และ Excel สามารถดาวน์โหลดได้ที่ k-expert.askkbank.com

          เมื่อมีสมุดกับปากกา หรือมีโปรแกรมซอร์ฟแวร์แล้ว ก็เริ่มต้นด้วยการจดตัวเลขรายรับที่ได้มาในแต่ละวัน หรือสัปดาห์ หรือเดือนลงไป ส่วนด้านรายจ่าย สามารถแบ่งออกเป็นสามหมวดหลัก ๆ คือ

          - ค่าใช้จ่ายเพื่อการออมและการลงทุน เป็นค่าใช้จ่ายหมวดแรกที่ควรจ่ายหรือกันไว้ทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ แนะนำ "เก็บก่อนใช้" อย่างน้อย 20% ของรายได้ต่อเดือน โดยเก็บไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉินประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน และส่วนที่เหลือนำไปลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนตามความเสี่ยงที่รับได้

          - ค่าใช้จ่ายคงที่ เป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายเป็นจำนวนแน่นอนในแต่ละเดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน หรือค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ หรือค่าผ่อนสินค้าต่างๆ

          - ค่าใช้จ่ายผันแปร เป็นค่าใช้จ่ายที่มีจำนวนไม่เท่ากันในแต่ละเดือน บางเดือนอาจมีหรือไม่มีค่าใช้จ่ายบางประเภทก็ได้ เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าสาธารณูปโภค ค่าโทรศัพท์มือถือ ค่ารักษาพยาบาล ค่าเสื้อผ้า ฯลฯ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายหมวดนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะการดำรงชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน

จดรายรับรายจ่าย

          เมื่อจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย จะช่วยให้รู้ว่าเงินที่หาได้นั้นถูกใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง บางคนทำงานมาทั้งเดือน จะซื้อความสุขให้ตัวเองโดยการชอปปิงหรือสังสรรค์กับเพื่อนเป็นครั้งคราว เพื่อพักผ่อนจากการทำงาน แบบนี้ก็ไม่ผิดอะไร การซื้อความสุขหรือสร้างความบันเทิงให้ตัวเองก็เป็นเรื่องเหมาะสมและเป็นการพักผ่อนจากการทำงานทางหนึ่ง แต่ต้องคอยดูว่าแต่ละเดือน ใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงมากเกินไปหรือยัง ซึ่งบันทึกรายรับ-รายจ่าย จะช่วยเตือนและทบทวนได้

          สำหรับคนที่รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย หรือไม่เหลือเงินออมเลยนั้น บันทึกรายรับ-รายจ่ายจะช่วยบอกว่า ค่าใช้จ่ายประเภทไหนปรับลดได้บ้าง เช่น ค่าชอปปิง ค่าอาหารในร้านหรู ๆ แพง ๆ หรือค่ากาแฟที่ซื้อทุกวัน บางวัน 2-3 แก้ว เมื่อรวมเป็นค่ากาแฟรายเดือน จะเห็นได้ว่าเป็นเงินไม่น้อยทีเดียว เมื่อรู้แล้วว่าเงินหมดไปกับค่าใช้จ่ายประเภทใด ก็ค่อย ๆ ปรับลดค่าใช้จ่ายประเภทนั้น รวมถึงลองมองหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง


          บันทึกรายรับ-รายจ่ายเสมือน "กระจกสะท้อนพฤติกรรม" ที่ช่วยให้ตระหนักถึงความจำเป็นก่อนใช้จ่าย หรือซื้อของทุกครั้ง ทำให้มีระเบียบวินัยในการใช้จ่ายมากขึ้น และควบคุมการใช้จ่ายของตัวเองได้ เมื่อเห็นข้อดีของการจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายแล้ว ปีใหม่นี้ถือเป็นฤกษ์งามยามดีของการเริ่มต้นจดอย่างจริงจัง เพื่อ "ความมั่งคั่งที่ยั่งยืน" ในอนาคต


          K-Expert Action


          • กันเงินออม 20% ของรายได้ เพื่อเป็นเงินสำรองประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน ในรูปแบบของเงินฝาก หรือกองทุนรวมตลาดเงิน

          • จดบันทึกรายรับ-รายจ่าย ทุกรายการ อย่างถูกต้องครบถ้วน และทบทวนสิ่งที่บันทึกไว้ทุกสิ้นเดือน เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จดบันทึกรายรับ-รายจ่าย เพิ่มเงินออมในกระเป๋ากันเถอะ อัปเดตล่าสุด 25 ธันวาคม 2560 เวลา 13:51:42 17,622 อ่าน
TOP