สานต่องานที่พ่อให้ กับ 8 โครงการอาชีพพระราชทาน ตามแนวพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9

          โครงการพระราชดำริด้านการส่งเสริมการสร้างอาชีพที่สำคัญ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อสร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทย

     อาชีพพระราชทาน 

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยในทุกข์สุขของพสกนิกรชาวไทยอยู่เสมอ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความทุกข์ยากของประชาชนที่ประสบกับความยากจน ขาดแคลนความรู้และพื้นที่ทำกิน ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงมุ่งพัฒนาให้ประชาชนมีอาชีพที่มั่นคง สามารถพึ่งตนเองได้ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ว่า ...."การที่จะแจกสิ่งของหรือเงินแก่ราษฎรนั้น เป็นการช่วยเหลือชั่วคราว ไม่ยั่งยืน การที่จะให้ประชาชนอยู่รอดได้ก็คือ การให้อาชีพ" ....พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2542
 
          จากพระราชดำรัสดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีพระราชประสงค์ให้พสกนิกรชาวไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้ จึงก่อให้เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการส่งเสริมอาชีพเป็นจำนวนมาก กระปุกดอทคอมจึงขอรวบรวมโครงการที่โดดเด่นของพระองค์ในด้านการส่งเสริมอาชีพ มาให้ชาวไทยทุกคนได้เรียนรู้และตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงนึกถึงและห่วงใยประชาชนของพระองค์ทุกหมู่เหล่าทั่วผืนแผ่นดินไทย

อาชีพพระราชทาน

1. โครงการหลวงพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเขา

          จุดเริ่มต้นมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของชาวเขาที่บ้านดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2512 แล้วพบว่า ชาวเขาส่วนมากยังมีฐานะยากจนและมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก โดยมีการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อยลอยเป็นอาชีพหลัก ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมาย เพราะเป็นต้นตอของการผลิตยาเสพติดแล้ว การปลูกฝิ่นยังเป็นการทำลายธรรมชาติ ทำให้ป่าต้นไม้เสียหาย และนั่นก็ไม่ได้ทำให้ชาวเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
 
          พระองค์จึงริเริ่มโครงการหลวงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเขา ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชาวเขา และกำจัดการปลูกฝิ่น เพื่อลดปัญหายาเสพติดในประเทศ โดยพระองค์พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 200,000 บาท ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อจัดหาที่ดินดำเนินงานวิจัยไม้ผลเมืองหนาวเพิ่มเติม จากเดิมที่มีเพียงสถานีวิจัยดอยปุย ซึ่งมีพื้นที่คับแคบ 
 
          ต่อมาพระองค์จึงได้โปรดเกล้าฯ ตั้งสถานีเกษตรกรหลวงอ่างขาง ซึ่งถือว่าเป็นสถานีวิจัยแรกของโครงการหลวง โดยระยะเริ่มต้นของโครงการ ได้มีการทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่าง ๆ เพื่อวิจัยว่าพืชชนิดใดมีความเหมาะสมกับพื้นที่สูงของประเทศไทย แล้วนำมาสนับสนุนให้ชาวเขาเพาะปลูกแทนการปลูกฝิ่น จนปัจจุบันมีพืชเศรษฐกิจหลายชนิดที่ประสบผลสำเร็จ มีผลผลิตออกมาจำหน่ายในท้องตลาด เช่น สตรอว์เบอร์รี กาแฟอาราบิก้า ถั่วแดง กะหล่ำปลี พีช กีวี เสาวรส เป็นต้น

อาชีพพระราชทาน

          รวมถึงยังมีการนำผักผลไม้สดที่ผลิตได้ มาทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปในชื่อตราสินค้า "ดอยคำ" ไม่ว่าจะเป็นน้ำมะเขือเทศ น้ำเสาวรส ลิ้นจี่ลอยแก้ว ผลไม้อบแห้ง แยมผลไม้ และน้ำผึ้งสมุนไพร ซึ่งนอกจากโครงการหลวงจะได้สร้างคุณประโยชน์ต่อชาวเขาให้มีอาชีพทำกิน เลี้ยงตัวเองได้อย่างมั่นคงแล้ว ยังได้สร้างประโยชน์ให้ประชาชนทั่วไปอย่างเรา ๆ ได้มีอาหารปลอดสารพิษ อาหารคุณภาพดีไว้บริโภค โดยเฉพาะพืชเมืองหนาวหลาย ๆ ชนิดที่ได้มีการศึกษาวิจัยจนสามารถเพาะพันธุ์ในเมืองไทยได้ จึงไม่ต้องนำเข้าจากเมืองนอก เป็นการช่วยลดภาระให้ประเทศชาติ อีกทั้งยังสามารถส่งออกได้อีก ซึ่งนับว่า โครงการหลวงเป็นโครงการที่พลิกชีวิตชาวเขา ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างแท้จริงและยั่งยืน
 
          สมดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2512 ที่ว่า...“เรื่องที่จะช่วยชาวเขา และโครงการของชาวเขานั้น มีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้ให้กับเขาเอง จุดประสงค์อย่างหนึ่งคือมนุษยธรรม หมายถึงให้ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารสามารถมีความรู้และพยุงตัว มีความเจริญได้”....
 
          สำหรับปัจจุบันโครงการหลวงมีสถานีวิจัย ทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง, สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์, สถานีเกษตรหลวงปางดะ และสถานีวิจัยกาแฟอราบิก้าแม่หลอด รวมทั้งมีศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอีกถึง 21 แห่ง หากใครสนใจอยากเดินทางไปท่องเที่ยวและศึกษาโครงการหลวงต่าง ๆ สามารถไปตามรอยได้จากบทความด้านล่างนี้
 
อาชีพพระราชทาน

          - 9 ที่เที่ยวโครงการหลวง ชวนเที่ยวตามรอยเท้าพ่อหลวง
          - 10 ที่เที่ยวโครงการหลวง ความสุขหน้าฝนที่ให้คุณออกไปค้นหา
          - ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง เชียงใหม่ ตามรอยเส้นทางชาของพ่อหลวง
          - สถานีเกษตรหลวงปางดะ เชียงใหม่ ผลผลิตการเกษตรจากน้ำพระราชหฤทัยในหลวง ร.9

อาชีพพระราชทาน

2. ปลานิลจิตรลดา

          โครงการปลานิลจิตรลดา เริ่มมาจากที่พระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฏราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ถวายปลาน้ำจืดในตระกูลทิลาเปีย (Tilapia) จำนวน 50 ตัว แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 จากนั้นพระองค์จึงทรงทดลองเลี้ยงปลาชนิดนี้ภายในสวนจิตรลดา ซึ่งใช้เวลาเพียง 1 ปี ก็พบว่าปลาชนิดนี้เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วในประเทศไทย

          จนกระทั่งในวันที่ 17 มีนาคม 2509 พระองค์ได้พระราชทานลูกปลานิล จำนวน 10,000 ตัว ให้แก่กรมประมง เพื่อนำไปเพาะเลี้ยงและเป็นการสร้างอาชีพให้เกษตรกรชาวไทย พร้อมพระราชทานนามว่า “ปลานิล” เพราะมีสีเทา ๆ ดำ ๆ อีกทั้งยังเข้ากับชื่อแม่น้ำไนล์ (Nile) ซึ่งที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของปลาชนิดนี้ รวมทั้งคำว่า ปลานิล ยังเป็นชื่อที่สั้น เป็นที่จดจำได้ง่ายของคนทั่วไป
 
          หลังจากนั้น กรมประมงจึงได้นำปลานิลไปทดลองและเพาะเลี้ยงในสถานีประมงต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำมาแจกจ่ายพันธุ์ปลานิลให้แก่ราษฎรนำไปเพาะเลี้ยงตามความต้องการ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ปลานิลก็กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจของประเทศไทย ที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีการผลิตปลานิลได้ไม่น้อยกว่า 200,000 ตันต่อปี โดยมีมูลค่าตลาดรวมถึง 10 ล้านบาท พร้อมยังสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศเกือบ 20,000 ตันต่อปีอีกด้วย
 
อาชีพพระราชทาน

          และนอกจากเรื่องการสร้างอาชีพให้ผู้เพาะเลี้ยงแล้ว ปลานิลยังเป็นอาหารที่มีประโยชน์ ให้โปรตีนสูง และมีราคาไม่แพง การแพร่พันธุ์ปลานิลจึงเป็นการสนองพระราชดำริเผยแพร่อาหารโปรตีนราคาถูกให้ประชาชนในถิ่นทุรกันดารที่ไม่ค่อยมีอาหารประเภทโปรตีน ได้รับประทานอาหารประเภทนี้มากขึ้นเพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโต 

          แต่รู้ไหมว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ไม่โปรดเสวยปลานิล ซึ่งทุกครั้งที่มีผู้นำปลานิลไปตั้งเครื่องเสวย จะโบกพระหัตถ์ให้ย้ายไปไว้ที่อื่น โดยพระองค์ทรงมีรับสั่งว่า ที่ไม่โปรดเสวยปลานิลนั้น "ก็เพราะเลี้ยงมันมาเหมือนลูก แล้วจะกินมันได้อย่างไร"
 
          - ทำความรู้จัก ปลานิล ปลาพระราชทานจาก ในหลวง รัชกาลที่ 9
          - ประโยชน์ของปลานิล อาหารโปรตีนสูง ถูกและดีจากในหลวง ร.9


อาชีพพระราชทาน

3. โคนมพระราชทาน

          อาชีพการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย เกิดจากสายพระเนตรอันกว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ครั้งเสด็จประพาสทวีปยุโรป เมื่อปี พ.ศ. 2503 ทรงให้ความสนพระทัยเกี่ยวกับกิจการการเลี้ยงโคนมของชาวเดนมาร์กเป็นอย่างมาก เพราะทรงตระหนักว่า "นม" มีคุณค่าทางอาหารสูงและเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ อีกทั้งการเลี้ยงโคนมจะช่วยให้เกษตรกรชาวไทยมีอาชีพที่มั่นคงดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ว่า “การเลี้ยงโคนมก็เป็นอาชีพที่ดีสำหรับคนไทย เหมาะกับประเทศ และถ้าใช้หลักวิชาที่เหมาะสม ก็จะทำให้มีความเจริญและมีรายได้ดี”
 
          หลังจากนั้น จึงเริ่มส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในประเทศไทยขึ้น จากความร่วมมือของประเทศเดนมาร์กที่ได้ส่งนักวิชาการเข้ามาช่วยเหลือ และได้จัดตั้งเป็น "ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก" ขึ้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ในปี พ.ศ. 2505 นับเป็นกิจการฟาร์มโคนมแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งพัฒนาต่อยอดจนมาถึงปัจจุบัน กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรในประเทศจำนวนมาก ทำให้ปัจจุบัน เรามีนมโคแท้จากโครงการพระราชดำริ ให้เลือกบริโภคเพื่อสุขภาพอยู่มากมายหลายยี่ห้อ อย่างเช่น นมไทย-เดนมาร์ก, นมยู.เอช.ที. สวนจิตรลดา, นมหนองโพ, นมสดชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ และนมอัดเม็ดสวนจิตรลดา

            - 5 นมจากโครงการพระราชดำริ สิ่งดี ๆ ที่พระบิดาแห่งการโคนมไทย พระราชทานไว้ให้ลูกหลาน


อาชีพพระราชทาน

4. กุ้งก้ามแดงพระราชทาน

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงนำกุ้งก้ามแดง (Redclaw Crayfish) หรือที่บางคนเรียกกว่า ล็อบสเตอร์น้ำจืด ซึ่งเป็นสายพันธ์จากประเทศออสเตรเลีย มาทดลองเลี้ยงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2548 ที่โครงการหลวงดอยอินทนนท์ โดยทดลองเลี้ยงในนาข้าวของเกษตรกรชาวเขา เนื่องจากพระองค์ทรงเล็งเห็นความต้องการและการเติบโตของตลาดกุ้งก้ามแดง
 
          หลังจากการทดลองเลี้ยงไประยะหนึ่ง ก็พบว่า กุ้งก้ามแดงสามารถเจริญเติบโตได้ดี และมีอัตรารอดสูง ทั้งยังไม่ทำลายต้นข้าวที่ปลูกไว้ของเกษตรกร และมูลของกุ้งก้ามแดง ยังเป็นปุ๋ยอินทรีย์อย่างดี บำรุงต้นข้าวให้ผลผลิตดีขึ้น โดยผลผลิตกุ้งก้ามแดงของโครงการหลวงรุ่นแรกได้ถูกนำมาใช้ประกอบอาหารในการถวายเลี้ยงแก่พระราชอาคันตุกะ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2549 ในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

          จากนั้นหน่วยวิจัยประมงน้ำจืดบนพื้นที่สูงอินทนนท์ จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงดอยอินทนนท์ เลี้ยงกุ้งกามแดงเพื่อสร้างรายได้อย่างจริงจัง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 เป็นต้นมา และได้ขยายพื้นที่การเลี้ยงกุ้งก้ามแดงไปทั่วเทศ จนกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของประชาชนชาวไทย
 

อาชีพพระราชทาน

5. พันธุ์ข้าวพระราชทาน

          ข้าวเป็นสินค้าส่งออกสำคัญและอาหารหลักของคนไทยมาเป็นเวลานาน รวมถึงอาชีพชาวนาที่เป็นอาชีพหลักของคนไทย ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวเป็นอย่างมาก โดยทรงทดลองทำแปลงข้าวในสวนจิตรลดา มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504
 
          โดยเมื่อทดลองจนได้สายพันธุ์ที่ดี มีคุณภาพเหมาะสมแล้ว จึงพระราชทานพันธุ์ข้าวต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนไปขยายพันธ์เพาะปลูก ไม่ว่าจะเป็น

          - ข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 เป็นข้าวหอมนุ่ม คุณภาพดี ให้ผลผลิตสูง

          - ข้าวสังข์หยดพัทลุง คือ ข้าวพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมที่ปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งจะให้ประโยชน์มากกว่าข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือทั่วไป

          - ข้าวขาวดอกมะลิ 105 คือ ข้าวที่มีคุณภาพการหุงต้มดี สุกแล้วหอม นุ่ม เหนียว

          - ข้าว กข 41 เป็นข้าวเจ้าที่ให้ผลผลิตสูง คุณภาพดีได้ข้าวเต็มเมล็ด

          - ข้าว กข 6 เป็นข้าวเหนียวที่หุงสุกแล้วมีกลิ่นหอม เพราะมีการปรับปรุงสายพันธุ์โดยการใช้รังสีชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์

          - ข้าวดอกพะยอม คือ ข้าวเจ้าพันธุ์พื้นเมืองของภาคเหนือที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี และยังนำมาปลูกแซมกับต้นยางพาราได้

          - ข้าวลืมผัว เป็นข้าวเหนียวที่โดดเด่นด้านรสชาติ มีกลิ่นหอม เมื่อหุงสุกแล้วจะเคี้ยวกรุบ หนึบ อุดมไปด้วยสารอาหาร
 
          จะเห็นได้ว่าพันธุ์ข้าวพระราชทานล้วนแต่เป็นข้าวสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง คุณภาพดี ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของชาวนาที่ดีขึ้น จากรายได้ที่สูงขึ้น แล้วยังส่งผลมาถึงชาวไทยทุกคน ที่จะมีข้าวดีมีคุณภาพไว้บริโภคในประเทศอีกด้วย
 
อาชีพพระราชทาน

6. โรงเรียนพระดาบส
 
          โรงเรียนพระดาบส เป็นโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2519 เพื่อช่วยเหลือผู้ยากจน ด้อยโอกาส ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้รับโอกาสเข้ามาเรียนวิชาชีพช่าง เพื่อนำไปประกอบอาชีพต่าง ๆ ซึ่งพระองค์พระราชทานพระราชทรัพย์เป็นทุนประเดิมให้กับนักเรียนรุ่นแรก จำนวน 6 คน ได้เล่าเรียนและพักอาศัย ณ บ้านไม้ 2 หลังของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
 
          โดยพระองค์ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับความสำคัญของการก่อตั้งโรงเรียนพระดาบส ว่า ...”ขณะนี้ยังมีบุคคลอีกเป็นจำนวนมาก ที่มีความตั้งใจจริง มีศรัทธาขวนขวายหาความรู้เป็นวิชาชีพใส่ตน แต่ประสบปัญหาไม่มีความรู้พื้นฐานและไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาวิชาชีพระดับต่าง ๆ ได้ หากมีช่องทางช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ ให้มีความรู้วิชาชีพที่เขาปรารถนาย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ”….พระราชดำรัส เมื่อปี พ.ศ. 2518
 
          ในแต่ละปี โรงเรียนพระดาบสจะรับนักเรียนประมาณ 150 คน โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกและสอบสัมภาษณ์ คัดเลือกจากผู้ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจหาความรู้ ให้เข้าเรียนตามสาขาที่สนใจเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะจะได้รับพระราชทานทุนการศึกษา อุปกรณ์การเรียน และอาหาร ซึ่งนอกจากจะมีการสอนวิชาชีพต่าง ๆ แล้ว ยังมีการสอนทักษะชีวิต สอนเรื่องคุณธรรม จริยธรรม เพื่อหล่อหลอมให้เป็นคนดีมีความรู้ ดำรงตนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมกันนี้ยังได้นำวิชาชีพที่เล่าเรียนมาไปถ่ายทอดให้ความรู้แก่ชาวบ้านทั่วไป
 
          ปัจจุบันโรงเรียนพระดาบส ประกอบไปด้วย 8 หลักสูตรวิชาชีพ ได้แก่ ช่างยนต์, ช่างไฟฟ้า, ช่างอิเล็กทรอนิกส์, ช่างซ่อมบำรุง, ช่างไม้เครื่องเรือน, ช่างเชื่อม,วิชาชีพเคหะบริบาล และการเกษตรพอเพียง โดยผู้เข้าเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่จะต้องพักอาศัยอยู่ที่โรงเรียน และใช้ระยะเวลาเรียน 1 ปี เมื่อจบการศึกษาก็จะได้รับใบประกาศนียบัตร เพื่อเป็นโอกาสในการประกอบอาชีพต่อไป
 

อาชีพพระราชทาน

7. ศูนย์ฝึกหัตถกรรมทอผ้าบ้านเขาเต่า

          ศูนย์ฝึกอบรมทอผ้าบ้านเขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอีกหนึ่งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการทอผ้าไทยของชุมชมในท้องถิ่นทุรกันดาร ให้ชาวบ้านได้มีอาชีพที่มั่นคง เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ทำอาชีพประมง เมื่อพอถึงช่วงมรสุม ชาวประมงในหมู่บ้านจะไม่สามารถออกหาปลาได้ เพราะมีเรือขนาดเล็ก ทำให้ขาดรายได้ไป
 
          โดยศูนย์ฝึกอบรมทอผ้าเขาเต่า เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 จนถึงปี 2536 ต้องหยุดพักไป จากปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน เช่น ค่าจ้างแรงงานสมาชิกที่ทอผ้า รวมถึงขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 จึงได้รับการฟื้นฟูกลับมาอีกครั้งจากคณะกลุ่มแม่บ้านเขาเต่า ที่ต้องการจะอนุรักษ์การทอผ้าตามพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 จึงได้ปรับปรุง ซ่อมแซมตัวอาคารสถานที่ รวมทั้งทำการต่อเติมอาคารสถานที่ในการทอผ้า และอาคารแสดงสินค้า
 
อาชีพพระราชทาน

          ทั้งนี้ ปัจจุบันศูนย์ฝึกหัตถกรรมทอผ้าบ้านเขาเต่า มีผลงานออกมานับร้อยชนิด ทั้งผ้าฝ้ายยกดอก ผ้าถุง ผ้าขาวม้า และสินค้าต่าง ๆ ที่ทอขึ้นจากผ้าฝ้าย เกือบทุกรายการได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ บางรายการเป็นสินค้าระดับ 5 ดาวของประเทศ พร้อมทั้งกลายเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าทอคุณภาพกันอย่างต่อเนื่อง
 

อาชีพพระราชทาน

8. ศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

          ศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดขึ้นเนื่องจากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเพื่อทรงเยี่ยมทหารบาดเจ็บจากราชการสงครามในเวียดนาม พระองค์ทรงมีพระราชปรารภว่า "กองทัพบกควรมีหน่วยงานฟื้นฟูสมรรถภาพ และฝึกอาชีพให้แก่ ทหารพิการ เพื่อให้มีอาชีพเลี้ยงตนและครอบครัวได้"

          ศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน จึงได้ก่อกำเนิดขึ้น ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อปี พ.ศ. 2513 โดยพระองค์พระราชทานพระราชทรัพย์เป็นค่าก่อสร้างตึก และเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็น ต่อมาจึงมีการจัดตั้งโรงงานแขนขาเทียมพระราชทาน จนสามารถดำเนินงานในเรื่องบริการอวัยวะแขนขาเทียม สำหรับทหารพิการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
 
          นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น อันหาที่สุดมิได้ที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของประชาชนอยู่เสมอ เราจึงได้เห็นโครงการในพระราชดำรินับพันโครงการ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นโครงการพระราชดำริด้านการสร้างอาชีพ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทยให้มีความกินดี อยู่ดีเหมือนดังเช่นทุกวันนี้
 

ภาพจาก สำนักงานหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, เรารักพระเจ้าอยู่หัว, ชมรมคนรักในหลวง, มูลนิธิพระดาบส, มูลนิธิโครงการหลวง, สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
มูลนิธิโครงการหลวง
กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ
องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย
มูลนิธิพระดาบส
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สานต่องานที่พ่อให้ กับ 8 โครงการอาชีพพระราชทาน ตามแนวพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 อัปเดตล่าสุด 9 ธันวาคม 2563 เวลา 13:21:39 203,113 อ่าน
TOP