7 แนวคิดเรื่องการออมของในหลวง รัชกาลที่ 9 ต้นแบบพระมหากษัตริย์นักออม

          ในหลวง รัชกาลที่ 9 ต้นแบบของ “พระมหากษัตริย์นักออม” ทรงแสดงให้เห็นถึงความประหยัด เรียบง่าย และพอเพียง ซึ่งเป็นสิ่งที่พสกนิกรชาวไทยสามารถน้อมนำแนวคิดมาปฏิบัติตาม

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นแรงบันดาลใจของพสกนิกรชาวไทย ในหลาย ๆ เรื่อง และหนึ่งในสิ่งที่ทุกคนให้การยกย่องพระองค์เป็นต้นแบบ ก็คือ การเป็น "พระมหากษัตริย์นักออม" ซึ่งเป็นพระราชจริยวัตรที่พระองค์ทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างเป็นประจำเสมอมา โดยเป็นแนวคิดง่าย ๆ ที่ทุกคนนำไปประยุกต์ใช้ได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว
 
          ดังพระราชดำรัสที่ว่า “การประหยัดอดออม เป็นรากฐานในการสร้างตัว สร้างฐานะบุคคล ตลอดจนความเจริญมั่นคงของสังคมและชาติบ้านเมือง” ....พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559

ในหลวง รัชกาลที่ 9
 
          กระปุกดอทคอม จึงขอรวบรวม 7 แนวคิดวิธีการออม ตามแบบอย่างในหลวง รัชกาลที่ 9 มาฝากเพื่อให้ทุกคนนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

1. สมเด็จย่าผู้ปลูกฝังเรื่องการออม

         
          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้รับการปลูกฝังเรื่องการออมเงินจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ โดยทรงได้รับเงินค่าขนมเป็นรายสัปดาห์ เพื่อเป็นการสอนให้รู้จักจัดสรรเงินไว้ใช้ และเมื่ออยากได้อะไรก็ให้เก็บเงินซื้อด้วยพระองค์เอง เพราะสมเด็จย่า จะไม่ทรงซื้อของขวัญให้พร่ำเพรื่อ โดยจะซื้อให้เพียงปีละ 2 ครั้งเท่านั้น เฉพาะในวันปีใหม่และวันเกิด

ในหลวง รัชกาลที่ 9
 
          อย่างเมื่อครั้งที่พระองค์ทรงเรียนหนังสืออยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ได้กราบทูลสมเด็จย่าว่าอยากได้จักรยาน เพราะเพื่อน ๆ คนอื่นมีจักรยานกันหมดแล้ว สมเด็จย่ารับสั่งตอบว่า “ลูกอยากได้ ลูกก็ต้องเก็บสตางค์ที่แม่ให้ไปกินที่โรงเรียนไว้สิ หยอดกระป๋องวันละเหรียญสองเหรียญ ได้มากค่อยเอาไปซื้อ" และเมื่อถึงวันขึ้นปีใหม่ สมเด็จย่าก็ทรงสมทบเงินเพิ่มให้ไปอีกก้อนหนึ่งเพื่อนำไปซื้อจักรยาน ซึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พระองค์ท่านก็ได้ทรงปั่นจักรยานแทนการประทับรถยนต์พระที่นั่งไปโรงเรียนด้วยพระองค์เองด้วย อันเป็นหนึ่งในต้นแบบแนวทางการประหยัดพลังงานในเวลาวิกฤต
 
          หรือเมื่อครั้งพระชนมายุเพียง 8 พรรษา ก็ทรงซื้อกล้องถ่ายรูป ด้วยเงินสะสมส่วนพระองค์ และเมื่อพระชนมายุ 10 พรรษา ทรงนำเงินที่เก็บออมไว้ซื้อเครื่องดนตรีชิ้นแรก คือ คลาริเน็ต แสดงให้เห็นว่า พระองค์ท่านได้รับการปลูกฝังเรื่องการออมที่ดีจากสมเด็จย่ามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์

ในหลวง รัชกาลที่ 9

2. ฝากเงินกับธนาคารอย่างเป็นประจำเสมอมา

          ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเก็บออมเงินไว้กับธนาคารอย่างต่อเนื่อง ตามคำสอนของสมเด็จย่า ผ่านสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารออมสินส่วนพระองค์ ซึ่งมีเงินฝากเข้าเป็นประจำทุก ๆ ปี นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงกำชับให้พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เห็นคุณค่าของการออมด้วยการให้เปิดบัญชีกับธนาคารออมสิน
 
          ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสของพระองค์หลายต่อหลายครั้ง ที่ทรงให้ความสำคัญต่อการออมเป็นอย่างยิ่ง "ถ้าเราสะสมเงินให้มาก เราก็สามารถที่จะใช้ดอกเบี้ย ใช้เงินที่เป็นดอกเบี้ยโดยไม่แตะต้องทุน แต่ถ้าเราใช้มากเกินไปหรือเราไม่ระวัง เรากินเข้าไปเป็นทุน ทุนมันก็น้อยลง ๆ จนหมด"....พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2518

ในหลวง รัชกาลที่ 9


3. ประหยัด มัธยัสถ์ เป็นที่สุด

          พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของการประหยัด มัธยัสถ์ อย่างแท้จริง จนเคยมีครั้งหนึ่งสมเด็จย่ามีพระดำรัสว่า “ในสวนจิตรเนี่ย คนที่ประหยัดที่สุดคือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประหยัดที่สุดทั้งน้ำ ทั้งไฟ เรื่องฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยไม่มี” ซึ่งเราจะเห็นได้จากของใช้ส่วนพระองค์ ที่ทรงใช้ทุกอย่างแบบรู้คุณค่า และคุ้มค่าที่สุด
 
          ไม่ว่าจะเป็นการใช้ฉลองพระองค์ชุดเดิมมาเป็นเวลาหลายปี หากมีการชำรุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็จะโปรดให้ชุนบ้าง เปลี่ยนยางยืดบ้าง บางชุดตัดมา 8-9 ปี บางชุดก็ใช้นานถึง 12 ปี หรือจะเป็นดินสอทรงงาน ที่พระองค์ทรงเบิกใช้เพียงปีละ 12 แท่ง ทรงใช้จนกุด แม้กระทั่งหลอดยาสีพระทนต์ ที่ทรงใช้จนแบนราบเรียบคล้ายแผ่นกระดาษ ซึ่งแสดงให้เห็นเรื่องความประหยัด มัธยัสถ์ ของพระองค์ท่านได้เป็นอย่างดี

ในหลวง รัชกาลที่ 9


4. บัญชีครัวเรือน แก้ปัญหาความยากจน

          บัญชีครัวเรือน เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงริเริ่มที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน โดยการทำบัญชีครัวเรือน ก็คือ การบันทึกรายรับ-รายจ่าย ที่เกิดขึ้นในครัวเรือน เพื่อช่วยให้เห็นภาพรวมว่า ครอบครัวมีรายได้-รายจ่ายเท่าไหร่ มีเงินคงเหลือมากน้อยแค่ไหน
 
          หากมีการทำบัญชีครัวเรือน จะช่วยให้ทราบว่า มีรายจ่ายไหนจำเป็น ไม่จำเป็นบ้าง เพื่อจะได้ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นทิ้งไป ซึ่งสิ่งสำคัญของการทำบัญชีครัวเรือนตามแนวคิดของพระองค์ คือ ให้มีการจัดสรรรายได้ส่วนหนึ่งออมไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉินหรือยามเกษียณด้วย

ในหลวง รัชกาลที่ 9


5. พอเพียง พอประมาณ แต่ไม่สุดโต่ง

          การประหยัด อดออม ล้วนเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่หากสุดโต่งมากจนเกินไปก็เกิดผลเสียได้เช่นกัน ซึ่งตามความหมายของคำว่าพอเพียงของพระองค์ ก็คือ การคำนึงถึงความพอประมาณ อย่างมีเหตุผล ที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
 
          เหมือนบางโอกาสที่พระองค์ทรงซื้อของขวัญชิ้นพิเศษเพื่อเป็นรางวัลให้กับตนเอง อย่างตอนที่พระองค์ทรงซื้อกล้อง ที่เป็นรุ่นตัวระดับสูง เนื่องจากต้องนำมาใช้ทรงงาน และเลือกดีแล้วว่ามีราคาที่เหมาะสม คุ้มค่าต่อการใช้งาน ดังตอนหนึ่งของพระราชดำรัสที่ว่า
 
          "พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ"....พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540

ในหลวง รัชกาลที่ 9

 
6. ลงทุนควบคู่ไปด้วย


          นอกจากการออมแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังเป็นผู้ที่รู้จักนำเงินที่ออมได้มาลงทุนควบคู่กันไปด้วย เห็นได้จากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ที่เริ่มต้นลงทุนจากเงินสะสมส่วนพระองค์เพียง 32,866 บาท จนกลายเป็นโครงการที่เติบโตมาถึงทุกวันนี้
 
          หรืออย่างเรื่องการเลี้ยงปลานิล ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนเป็นอย่างดีว่า พระองค์ท่านรู้จักการลงทุนเพื่อหวังผลระยะยาว เพราะเริ่มแรกได้รับการถวายปลานิล จำนวน 50 ตัว จากสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ประเทศญี่ปุ่น พระองค์จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลานิลภายในสวนจิตรลดา หลังจากเลี้ยงไม่นาน มีทั้งรอดบ้าง ตายบ้าง มีปลานิลที่ยังคงเหลือเพียง 10 ตัวเท่านั้น
 
          แต่พระองค์ไม่ทรงย่อท้อ ยังคงพยายามต่อไป จนกระทั่ง 1 ปี ผ่านไป พระองค์สามารถพระราชทานปลานิลให้กรมประมง 10,000 ตัว ทำให้ปัจจุบัน ประเทศไทยกลายเป็นผู้ส่งออกปลานิลไปทั่วโลก สามารถเพาะพันธุ์ปลานิลได้ปีละกว่า 220,000 ตัน สร้างงานสร้างอาชีพให้ผู้คนจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยะภาพด้านการลงทุนในระยะยาวของพระองค์ได้เป็นอย่างดี

ในหลวง รัชกาลที่ 9


7. ออมแล้วรู้จักให้ด้วย

          จะเห็นได้ว่า พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเหลือราษฎร และทรงให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนอยู่ตลอดเวลา รวมถึงโครงการตามพระราชดำริและพระราชกรณียกิจทุกโครงการ ที่ล้วนแสดงให้เห็นว่าพระองค์พร้อมจะให้ และเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมอย่างแท้จริง

ในหลวง รัชกาลที่ 9

          นั่นก็เพราะเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ที่ได้รับการอบรม จากสมเด็จย่าเรื่องการให้ ด้วยการทรงตั้งกระป๋องออมสินที่เรียกว่า “กระป๋องคนจน” ไว้กลางที่ประทับ เมื่อพระองค์นำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูกเก็บภาษี ด้วยการต้องนำมาหยอดใส่กระปุกนี้ 10% และทุกสิ้นเดือน สมเด็จย่าจะทรงเรียกประชุมเพื่อสอบถามความคิดเห็นว่า จะนำเงินสะสมที่ได้จากการเก็บภาษีไปใช้ทำอะไร เช่น อาจจะนำไปมอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน เป็นต้น
 
ในหลวง รัชกาลที่ 9


          ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปฏิบัติต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน จนเป็นต้นแบบของ "พระมหากษัตริย์นักออม" ให้คนไทยยึดถือเป็นแบบอย่าง ซึ่งทุกคนสามารถนำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้เพื่อความเจริญรุ่งเรื่องของตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติต่อไป


ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ธนาคารออมสิน, กระทรวงสาธารณสุข, เรารักพระเจ้าอยู่หัว
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
7 แนวคิดเรื่องการออมของในหลวง รัชกาลที่ 9 ต้นแบบพระมหากษัตริย์นักออม อัปเดตล่าสุด 11 ตุลาคม 2562 เวลา 16:15:49 37,811 อ่าน
TOP