x close

"บัตรแมงมุม" ใบเดียว เชื่อมทุกการเดินทาง อีกนานไหมจะได้ใช้ ?!

บัตรแมงมุม

          บัตรแมงมุม ระบบตั๋วร่วมใบแรกของเมืองไทย มาเช็กความพร้อมกันว่าไปถึงไหนแล้ว ใกล้จะได้ใช้จริง ๆ หรือยัง แล้วจะช่วยให้ชีวิตคนกรุงเทพฯ ดีขึ้นได้อย่างไร
 
          เป็นโครงการที่เลื่อนแล้ว เลื่อนอีกจริง ๆ สำหรับ "บัตรแมงมุม" เพราะหลอกให้ดีใจมาหลายรอบแล้ว หลังจากเปิดให้ประชาชนร่วมตั้งชื่อและออกแบบสัญลักษณ์ตั๋วร่วมมาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อที่จะได้ใช้บัตรใบนี้ในปี 2559 แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้ใช้กันสักที

          จนกระทั่ง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ประกาศเตรียมแจกบัตรแมงมุมฟรี 200,000 ใบ ให้ประชาชนทดลองใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ซึ่งแปลว่าในวันนี้หลาย ๆ คน คงจะมีบัตรแมงมุมอยู่ในมือแล้วนั่นเอง แต่ทว่า...ด้วยความล่าช้าหลาย ๆ อย่าง ทำให้ต้องเลื่อนการใช้บัตรแมงมุมออกไปอีกครั้ง และเรายังต้องมานั่งลุ้นกันต่อไปว่า เมื่อไหร่จะได้ใช้บัตรแมงมุมเสียที   
 

          แต่ก่อนถึงวันที่เราจะได้ใช้บัตรแมงมุมกันจริง ๆ กระปุกดอทคอม จึงอยากพาทุกคนไปรู้จักกันก่อนว่า บัตรแมงมุม ที่ว่านี้คืออะไร นำไปใช้กับอะไรได้บ้าง แล้วจะช่วยอำนวยความสะดวกให้เราได้จริงหรือเปล่า มาดูกัน 

บัตรแมงมุม คืออะไร ?

          บัตรแมงมุม เป็นระบบตั๋วร่วมของประเทศไทย ซึ่งระบบตั๋วร่วมนั้น ก็คือ ระบบที่ออกแบบให้เราใช้บัตรเพียงใบเดียวได้กับระบบขนส่งมวลชนทุกประเภท โดยไม่ต้องพกบัตรหลายใบให้ยุ่งยาก แถมยังสามารถนำบัตรแมงมุม ใช้ซื้อของในร้านค้าต่าง ๆ ได้อีกด้วย เหมือนกับว่าเป็นการนำบัตรหลาย ๆ ใบ มารวมไว้ที่บัตรใบเดียวนั่นเอง
 

          หรือถ้าใครยังนึกภาพไม่นอก ก็เหมือนกับเวลาที่เราไปเที่ยวต่างประเทศ ที่จะมีบัตรใบเดียวสามารถใช้ได้ทุกอย่าง เช่น บัตร Suica ของญี่ปุ่น, บัตร EZ-Link ของสิงคโปร์ หรือ บัตร Octopus ของฮ่องกง นั่นแหละบัตรแมงมุมของประเทศไทยก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับบัตรเหล่านั้นเลย

 
บัตรแมงมุมต่างจากบัตรรถไฟฟ้าอย่างไร ?

          สิ่งที่บัตรแมงมุมพิเศษกว่าบัตรเติมเงินรถไฟฟ้าอื่น ๆ อย่าง บัตร Rabbit หรือ บัตร MRT ก็คือ สามารถใช้งานข้ามระบบไปมาได้ ไม่ว่าจะเป็นขึ้นรถไฟฟ้า MRT BTS หรือรถเมล์ก็ตาม แค่มีบัตรแมงมุมก็สามารถใช้งานได้เลย ต่างจากบัตรรถไฟฟ้าในปัจจุบัน ที่ใช้ได้เพียงระบบของตัวเอง ทำให้คนที่ต้องเดินทางข้ามระบบต้องพกบัตรหลาย ๆ ใบ 
บัตรแมงมุม
ภาพจาก จส.100

บัตรแมงมุม ใครออกแบบ ทำไมต้องชื่อว่าบัตรแมงมุม ?

          ที่มาของคำว่าบัตรแมงมุม มาจากผลงานชนะเลิศที่ทางสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดประกวดเมื่อปี 2558 ออกแบบโดย วรรธิชา อเนกสิทธิชน ซึ่งในขณะนั้นเธอเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชามีเดียอาร์ต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมีแนวคิดมาจากเส้นใยแมงมุมที่เหมือนกับเส้นการเดินทางของทุกการคมนาคมทุกอย่างมารวมกัน ซึ่งถ้า วรรธิชา ไม่ได้ตัดสินใจส่งผลงานนี้เข้าประกวด วันนี้เราอาจจะกำลังคุยกันถึง  "บัตรสบายพลัส" หรือ "บัตรช้าง" อยู่ก็ได้ เพราะเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลอันดับ 2 และ 3

บัตรแมงมุม


บัตรแมงมุม ใช้ได้ที่ไหน ทำอะไรได้บ้าง ?

          บัตรแมงมุมสามารถใช้จ่ายค่าโดยสารได้กับระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดังนี้

          - รถไฟฟ้า BTS

          - รถไฟฟ้า  MRT

          - รถไฟฟ้า  Airport Rail Link

          - รถเมล์ ขสมก.

          - เรือด่วนเจ้าพระยา

          - ทางด่วน ของกรมทางหลวง

          - ร้านค้าชั้นนำอื่น ๆ ที่ร่วมรายการ


          นอกจากนี้ ยังมีการนำชิปการ์ดของบัตรแมงมุม บรรจุลงในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2560 หรือ บัตรคนจน จำนวน 1.3 ล้านใบ สำหรับผู้มีรายได้น้อยใน 7 จังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อใช้บริการขนส่งมวลชน แบ่งเป็น รถประจำทางและรถไฟฟ้า วงเงินไม่เกิน 500 บาทต่อเดือน รถไฟ 500 บาทต่อเดือน และรถโดยสาร บขส. 500 บาทต่อเดือน


บัตรแมงมุมมีกี่ประเภท ?


          บัตรแมงมุมมีทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่

          1. บัตรบุคคลทั่วไป สีน้ำเงิน

          2. บัตรนักเรียน/นักศึกษา สีเทา

          3. บัตรผู้สูงอายุ สีทอง

          เหตุผลที่ต้องมีถึง 3 ประเภท ก็เพื่อแยกส่วนลดและราคาในการใช้บริการขนส่งมวลชนของบุคคลในแต่ละวัยนั่นเอง


บัตรแมงมุมซื้อได้ที่ไหน ราคาเท่าไหร่ ?


          เบื้องต้นจะมีการจำหน่ายบัตรแมงมุมในราคา 50 บาท ซึ่งเป็นค่ามัดจำบัตร และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมออกบัตรใด ๆ ทั้งสิ้น และสามารถเติมเงินในบัตรได้สูงสุด 10,000 บาท โดยซื้อบัตรแมงมุมได้ตาม สถานีรถไฟฟ้า และป้ายรถประจำทาง
 
          โดยในระยะเริ่มต้นของการใช้บัตรแมงมุม ทางกระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะแจกบัตรแมงมุมฟรี จำนวน 2 แสนใบ ให้ประชาชนในกรุงเทพฯ ทดลองใช้ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ แต่หลังจากมีการประกาศเลื่อนออกไป ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการแจกบัตรแมงมุมฟรีเหมือนเดิมหรือไม่

บัตรแมงมุม

 
บัตรแมงมุมเริ่มใช้งานได้เมื่อไหร่ ?


          อย่างที่บอกไปแล้วว่าที่จริงเราจะได้ใช้บัตรแมงมุมในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 แต่กลับกลายเป็นว่าด้วยความล่าช้าเรื่องอุปกรณ์ จึงต้องเลื่อนการเปิดใช้งานบัตรแมงมุมออกไปเป็นวันที่ 17 ตุลาคม 2560 ซึ่งจะติดชิปบัตรแมงมุมมาพร้อมกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่จะแจกให้ผู้มีรายได้น้อยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 7 จังหวัด ทั้งนี้ บัตรดังกล่าวในช่วงแรกจะใช้ได้กับรถเมล์ ขสมก. จำนวน 800 คันไปก่อน และจะเพิ่มเป็น 2,600 คันในภายหลัง ส่วนระบบอื่น ๆ อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมที่เปิดให้ใช้งานตามแผนต่อไปนี้
 
          - รถไฟฟ้า Airport Rail Link และรถเมล์ ขสมก. มีแผนเปิดใช้บริการช่วงเดือนมิถุนายน 2561

          - รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง, สายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวอ่อนและสีเขียวเข้ม มีแผนเปิดใช้บริการเดือนตุลาคม 2561

          - ระบบทางด่วน และเรือด่วนเจ้าพระยา มีแผนเปิดใช้บริการประมาณช่วงเดือนตุลาคม 2561

          - ซื้อสินค้าตามร้านค้าต่าง ๆ ขณะนี้ สนข. อยู่ระหว่างการเจรจากับร้านค้าพันธมิตรอยู่หลายรายเพื่อให้สามารถใช้บริการร่วมกับบัตรแมงมุมได้ เช่น เครือเซ็นทรัล เดอะมอลล์ และซีพี
 
          สรุปแล้วเราจะเห็นว่ากว่า "บัตรแมงมุม" จะเริ่มใช้ได้เต็มรูปแบบทั้งระบบ ก็ต้องรอไปจนถึงปลายปี 2561 เลยทีเดียว ซึ่งเราทุกคนคงได้แต่นั่งลุ้นกันว่าแผนที่รัฐบาลวาดฝันไว้ จะเป็นจริงได้หรือไม่ หรือต้องเลื่อนไปอีกครั้ง เพื่อที่เราทุกคนจะมีโอกาสได้ใช้บริการระบบตั๋วร่วมบัตรแมงมุมกันเหมือนประเทศอื่น ๆ เขาเสียที

 ***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 09.44 น. วันที่ 19 ตุลาคม 2560

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
"บัตรแมงมุม" ใบเดียว เชื่อมทุกการเดินทาง อีกนานไหมจะได้ใช้ ?! อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09:37:10 19,609 อ่าน
TOP