x close

7 เหตุการณ์ที่สุดตลาดหุ้นไทย บทเรียนสำคัญของนักลงทุน

          ตลาดหุ้นไทย ผ่านเหตุการณ์สำคัญนับครั้งไม่ถ้วน ในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา เรามาดู 7 เหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นที่สุดของตลาดหุ้นไทย ทั้งยุครุ่งเรืองสุดขีด และตกต่ำจนถึงที่สุด เพื่อเป็นบทเรียนสำคัญของนักลงทุน
 
หุ้นไทย

          ตลาดหุ้นไทยเปิดศักราชปี 2563 ไม่สู้ดีนัก เมื่อดัชนี SET INDEX ดิ่งลงมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่เดือนมกราคม ก่อนหลุด 1,500 จุด ในเดือนกุมภาพันธ์ จากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ความล่าช้าของงบประมาณ ปัญหาภัยแล้ง และยิ่งถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับสงครามน้ำมันระหว่างซาอุฯ-รัสเซีย เริ่มก่อตัวขึ้น ส่งผลให้ SET หลุด 1,200 จุด ในเวลาเพียงไม่กี่วัน ซึ่งถ้านับตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม จนถึง 12 มีนาคม ดัชนีหุ้นไทยลดลงไปเกือบ 30% แล้ว และมีแนวโน้มจะร่วงลงไปอีก

          แน่นอนว่าที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวผันผวนมาโดยตลอด ทั้งเคยทำนิวไฮ 1,800 จุด หรือถูกถล่มขายอย่างหนักหน่วง วันนี้เราอยากจะพาทุกคนย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ที่สุดของตลาดหุ้นไทยกันว่าในรอบ 45 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างรอยยิ้ม หรือคราบน้ำตาอะไรฝากไว้ให้กับนักลงทุนบ้าง 

หุ้นไทย

1. ยุคมนุษย์ทองคำ

          ในช่วงปี 2537 เป็นยุคที่เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมาก รวมถึงตลาดหุ้นด้วยเช่นกันที่เฟื่องฟูแบบสุด ๆ จนมีคำพูดที่ใช้เรียกคนที่ทำงานในวงการตลาดหุ้นว่า "มนุษย์ทองคำ" เพราะได้รับโบนัสปีละ 36 หรือ 48 เดือน เป็นเรื่องปกติ ซึ่งจากการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าว จึงทำให้ในวันที่ 4 มกราคม 2537 SET INDEX ทำประวัติศาสตร์ปิดการซื้อ-ขายสูงสุดที่ระดับ 1,753 จุด ก่อนที่ในวันถัดมาจะปิดการซื้อ-ขายที่ 1,709 จุด ซึ่งถือว่าเป็น 2 วันประวัติศาสตร์ที่ SET INDEX ขึ้นไปแตะถึง 1,700 จุดได้ เพราะนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาตลาดหุ้นไทยก็ไม่เคยกลับไปแตะที่ระดับ 1,700 จุดอีกเลย  

2. ปี 2541 เผาจริงตลาดหุ้นไทย

          เพียง 3 ปี หลังจากยุคทองของตลาดหุ้นไทย ในปี 2540 เศรษฐกิจไทยก็เกิดภาวะฟองสบู่แตก จากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง รัฐบาลตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาท ส่งผลให้สถาบันการเงินปิดตัวเป็นจำนวนมาก ตลาดหุ้นกลายเป็นสิ่งไร้ค่าไปในทันทีเพราะผลจากวิกฤตครั้งนี้ทำให้ตลาดหุ้นไทยดำดิ่งลงแบบไม่หยุด

           จนกระทั่งในเดือนสิงหาคม 2541 SET INDEX ร่วงลงไปถึงระดับ 204 จุด ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนเป็นอย่างมาก และยังเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยน่ากลัวกว่าที่หลายคนคิด 

3. หม่อมอุ๋ย 100 จุด

          สมัยที่หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในช่วงปี 2549 ได้สร้างเหตุการณ์ที่ลืมไม่ลงให้กับนักลงทุนไทยในช่วงนั้น เพราะในวันที่ 9 ธันวาคม 2549 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการกันสำรอง 30% เพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท ทำให้นักลงทุนต่างชาติพากันเทขายหุ้นเป็นจำนวนมาก

          ส่งผลให้ SET INDEX ร่วงลงถึง 142 จุด ภายในวันเดียว ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะตัดสินใจใช้มาตรการ Circuit Breaker เป็นครั้งแรก หรือหยุดการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ชั่วคราวกรณีที่ SET INDEX ร่วงแรงถึง 10% ในวันเดียว

หุ้นไทย
 
4. วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์

          ปี 2551 เป็นอีกหนึ่งปีที่ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนสุด ๆ เนื่องจากวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ หรือวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ที่มีสาเหตุจากภาวะฟองสบู่ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา จนลามเป็นวิกฤตเศรษฐกิจของทั่วโลก รวมทั้งตลาดหุ้นไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นกันจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนจนทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องตัดสินใจใช้มาตรการ Circuit Breaker ถึง 2 ครั้ง คือ ในวันที่ 10 ตุลาคม 2551 จากการที่ SET INDEX ร่วงไปถึง 10.02% หรือกว่า 50 จุด และอีกครั้งในวันที่ 27 ตุลาคม 2551 จากการที่ SET INDEX ลดลง 10% หรือกว่า 43 จุด แน่นอนว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเสียหายต่อตลาดหุ้นไทยไม่น้อยเลย

5. หุ้นไทยสร้างรอยยิ้มอีกครั้ง

          หลังจากตลาดหุ้นไทยผ่านวิกฤตครั้งใหญ่ ๆ มาอย่างโชกโชน และค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ตลาดหุ้นก็กลับมาสร้างรอยยิ้มให้นักลงทุนได้อีกครั้ง หลัง SET INDEX ปิดการซื้อ-ขายที่ระดับ 1,643 จุด ทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 19 ปี นับตั้งแต่ปี 2537 เลยทีเดียว ทำให้ภาวะตลาดหุ้นไทยในปีดังกล่าวมีความคึกคักเป็นอย่างมาก โดยมีมูลค่าการซื้อ-ขายรวมทั้งปีสูงกว่า 11.77 ล้านล้านบาท

หุ้นไทย

6. SET INDEX แตะ 1,800 จุด

          เข้าสู่ปี 2561 ตลาดหุ้นไทยก็สร้างประวัติศาสตร์ เมื่อดัชนี SET INDEX แตะ 1,800 จุดเป็นครั้งแรก ในวันที่ 5 มกราคม โดยทำสถิติ 1,803.93 จุด นับเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เปิดตลาดซื้อ-ขายหลักทรัพย์ในปี 2518 และยังทำนิวไฮรายวัน จนทำสถิติสูงสุดเมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่ 1,838.96 จุด มีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 15.97 ล้านล้านบาท

7. COVID-19 ทำพิษ หุ้นไทยเลือดสาด 

หุ้นไทย

          หลังจาก SET INDEX ปิดตลาดที่ 1579.84 จุด ส่งท้ายปี 2562 นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์กันว่าตลาดหุ้นไทยปี 2563 จะเติบโตขึ้นกว่าเดิม และน่าจะไปถึงเกือบ ๆ 1,700 จุด ทว่าความจริงกลับสวนทาง เมื่อเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว มาพร้อมกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไปทั่วทั้งโลก ส่งผลให้หุ้นไทยเกิดแรงถล่มขายอย่างหนัก จนดัชนีร่วงหลุดแนวรับมาเรื่อย ๆ

          กระทั่งช่วงต้นเดือนมีนาคม มหาอำนาจด้านน้ำมันของโลกอย่าง ซาอุดีอาระเบีย เกิดความขัดแย้งกับ รัสเซีย จุดชนวนสงครามน้ำมันให้เกิดขึ้นซ้ำเติมเข้าไปอีก ประกอบกับความกังวลของสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทยที่ใกล้จะเข้าสู่ระยะที่ 3 ด้วยปัจจัยลบทั้งหมดทั้งมวลนี้ ส่งผลให้ในที่สุด SET INDEX ก็หลุด 1,200 จุด ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน และเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 ต้องประกาศหยุดการซื้อ-ขายเป็นการชั่วคราว (Circuit Breaker) เป็นเวลา 30 นาที หลังดัชนีลดลง 10% นับเป็นการใช้ Circuit Breaker ครั้งแรกในรอบ 11 ปี 4 เดือน ก่อนที่จะงัดมาตรการ Circuit Breaker มาใช้อีกครั้ง ในช่วงเช้าวันที่ 13 มีนาคม เพราะดัชนีรูดลงไป 10% ตั้งแต่เปิดตลาดเพียงนาทีแรก


          อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ดัชนี SET INDEX มีแนวโน้มจะหลุด 1,000 จุด ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งก็ต้องรอดูว่า บทสรุปของตลาดหุ้นไทยในรอบนี้ จะจบลงด้วยความบอบช้ำเพียงใด 

          จะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นไทยในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา ได้ผ่านทั้งช่วงรุ่งเรือง และประสบกับวิกฤตสำคัญ ๆ มาหลายต่อหลายครั้ง ทั้งเปลี่ยนจากคนธรรมดาให้กลายเป็นเศรษฐี หรือเปลี่ยนจากเศรษฐีให้กลายเป็นคนล้มละลายได้เพียงข้ามคืนก็มีมาแล้ว สุดท้ายคงขึ้นอยู่กับนักลงทุนแต่ละคนเองว่า จะนำเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ไปเป็นบทเรียนในการลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 13 มีนาคม 2563

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
7 เหตุการณ์ที่สุดตลาดหุ้นไทย บทเรียนสำคัญของนักลงทุน อัปเดตล่าสุด 20 ตุลาคม 2564 เวลา 16:22:20 45,496 อ่าน
TOP