x close

มนุษย์เงินเดือนรู้ไว้ ! ถูกเลิกจ้าง ประกันสังคมช่วยเหลืออะไรได้บ้าง

           ตกงานหรือโดนเลิกจ้าง ไม่ต้องตกใจ ตั้งสติดี ๆ แล้วมาดูกันว่าเราจะได้เงินชดเชยอะไรบ้างจากนายจ้าง และประกันสังคม

ตกงาน

           มนุษย์เงินเดือนทุกคน คงไม่มีใครอยากให้ตัวเองตกงานหรือถูกเลิกจ้าง เพราะงานสมัยนี้ใช่ว่าจะหากันได้ง่าย ๆ แต่เราก็มักจะยังได้เห็นข่าวการเลิกจ้างพนักงานของบริษัทต่าง ๆ อยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของการปรับโครงสร้างองค์กร ลดต้นทุน ย้ายฐานผลิต หรือแม้แต่ผลประกอบการที่ไม่ค่อยดี ซึ่งหากเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับเรา นอกจากจะต้องเตรียมตัวเพื่อรีบหางานใหม่แล้ว (อ่าน ตกงานทำไงดี 10 สิ่งที่ควรทำหลังโดนไล่ออกจากงาน ล้มแล้วต้องรีบลุก!)

           การได้รู้ว่ามีสิทธิอะไรบ้างที่เราควรได้รับเมื่อถูกบอกเลิกจ้าง เพื่อรักษาประโยชน์ของตนเอง ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กันเลย เพราะฉะนั้นกระปุกดอทคอมจึงได้รวบรวมมาให้ดูกันว่า หากถูกเลิกจ้างแล้วประกันสังคมจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง แล้วมีเงินชดเชยส่วนไหนอีกหรือเปล่าที่เราควรได้รับ มาดูกันเลย

ถูกเลิกจ้างได้เงินชดเชยเท่าไหร่ ?

           ก่อนที่จะไปดูความช่วยเหลือจากประกันสังคม เรารู้ไหมว่าจริง ๆ แล้ว หากเราถูกให้ออกจากงานโดยไม่ได้สมัครใจ และไม่ได้เกิดจากการที่เรากระทำผิด เราจะยังได้เงินชดเชยจากนายจ้างอีกด้วย ตามที่กฎหมายแรงงานให้ความคุ้มครอง ดังนี้

           - ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับเงินชดเชย 30 วัน เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย

           - ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้รับเงินชดเชย 90 วัน เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย

           - ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี ได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน

           - ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับเงินชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน

           - ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

           - ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน (ผ่านร่างกฎหมายแล้ว อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา) 

ตกงาน

           ทั้งนี้ โดยปกติแล้วเงินทดแทนการเลิกจ้าง ทางนายจ้างจะต้องดำเนินการจ่ายให้ลูกจ้างภายในวันสุดท้ายที่ทำงานอยู่แล้ว แต่หากนายจ้างไม่ดำเนินการจ่ายค่าชดเชย เราสามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในแต่ละจังหวัด ส่วนกรุงเทพฯ ยื่นได้ที่กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 

           แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องการจ่ายเงินชดเชยนี่ก็มีข้อยกเว้น เพราะหากเราออกจากงานด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้ นายจ้างก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้าง

           - ลูกจ้างลาออกเองโดยสมัครใจ

           - มีการทุจริตต่อนายจ้าง หรือทำความผิดอาญา
 
           - จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
 
           - ทำการประมาทเลินเล่อจนทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
 
           - ฝ่าฝืนระเบียบการทำงาน โดยที่นายจ้างได้ออกหนังสือเตือนไปแล้ว
 
           - ละทิ้งการทำงานติดต่อกัน 3 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร
 
           - ได้รับโทษจำคุก ตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
 
           - รูปแบบการจ้างงานมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน

ตกงาน

ถูกเลิกจ้าง ประกันสังคมช่วยเหลือได้ไหม ? 

          นอกจากจะได้รับเงินชดเชยจากนายจ้างแล้ว หากเราเป็นผู้ว่างงานและได้ทำประกันสังคมเอาไว้ ยังจะได้รับเงินช่วยเหลือระหว่างการว่างงานจากประกันสังคมปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท  
 
         
ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท หรือถ้าเรามีเงินเดือนเฉลี่ยสูงกว่า 15,000 บาท ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือที่อัตราสูงสุด คือ 7,500 บาท เป็นเวลา 6 เดือน

         อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ถูกเลิกจ้างในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 จะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานเพิ่มเป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างเฉลี่ย แต่ไม่เกิน 200 วัน

          ทั้งนี้ คนที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคมต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงานกับนายจ้างรายสุดท้าย รวมทั้งต้องไม่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากสาเหตุ ดังต่อไปนี้

          - ทุจริตต่อหน้าที่ หรือทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

          - จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

          - ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณีร้ายแรง

          - ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร

          - ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

          - ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา

          - ต้องไม่ใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ


ลงทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคมอย่างไร

          - สามารถขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ได้ที่เว็บไซต์สำนักงานจัดหางาน ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้าง หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง

          - สามารถยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานได้ที่สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาทั่วประเทศ (ยกเว้น สำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) ในวันและเวลาราชการ 


ตกงาน

ถูกเลิกจ้างต้องใช้เอกสารอะไรบ้างไปยื่นประกันสังคม

          1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)

          2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน

          3. หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตนออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส. 6 -09) กรณีที่ไม่มีสำเนา สปส.6-09 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานได้

          4. หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)

          5. สำเนาสมุดบัญชีธนาคารที่เป็นชื่อผู้ประกันตน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน), ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน), ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

          สำหรับใครที่ไปยื่นขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานจากประกันสังคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต้องมีการรายงานตัวผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ของสำนักงานจัดหางาน ทุก ๆ เดือน เพื่อให้มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคมต่อไป

          สรุปแล้วจะพบว่าหากเราโดนบอกเลิกจ้างโดยที่ไม่ได้ทำความผิด และไม่ได้สมัครใจที่จะออกแล้ว นอกจากจะได้รับเงินชดเชยจากนายจ้าง ซึ่งจำนวนเงินจะมากหรือน้อยนั้น ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่เราทำงานให้กับบริษัทนั้น ๆ และถ้าเรายังไม่สามารถหางานใหม่ได้ ก็ยังมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคมอีกด้วย


          ***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มนุษย์เงินเดือนรู้ไว้ ! ถูกเลิกจ้าง ประกันสังคมช่วยเหลืออะไรได้บ้าง อัปเดตล่าสุด 5 มกราคม 2564 เวลา 17:46:42 233,717 อ่าน
TOP