x close

เปิดเกณฑ์ใหม่ คุมบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล กระทบใครบ้าง ?

          เกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลแบบใหม่ มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง จะกระทบกับเรามากน้อยแค่ไหน มาเจาะรายละเอียดกัน

บัตรเครดิต

          การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในประเทศไทย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลายเป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกังวลอย่างมาก เพราะจากการสำรวจข้อมูลพบว่าปัจจุบันคนไทยมีปริมาณหนี้ต่อหัวสูงถึง 150,000 บาท รวมทั้งมีจำนวนคนที่เป็นหนี้อยู่ประมาณ 21 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีหนี้เสียมากถึง 16% หรือประมาณ 3 ล้านคน อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ มีสัดส่วนการก่อหนี้เร็วขึ้นอีกด้วย และปริมาณหนี้ก็ไม่ได้ลดลงเลย แม้จะเข้าสู่วัยเกษียณแล้วก็ตาม
   
          จึงน่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย หันกลับมาทบทวนหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องมีหลักประกันรองรับ ทำให้มีโอกาสก่อหนี้เสียได้ง่ายนั่นเอง ซึ่งล่าสุด มีความชัดเจนแล้วว่า เกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลแบบใหม่ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560

          วันนี้เราจะพามาเจาะรายละเอียดของมาตรการคุมสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีการปรับปรุง แบบชัด ๆ กันอีกสักครั้ง ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง และกระทบกับเรามากน้อยแค่ไหน

          เกณฑ์ใหม่มีการปรับอะไรบ้าง ?

          1. มาตรการสินเชื่อบัตรเครดิต

          มีการปรับหลักเกณฑ์อนุมัติวงเงินสูงสุดตามฐานเงินเดือน และปรับเพดานอัตราเรียกเก็บดอกเบี้ย ตามนี้

          - ปรับวงเงินอนุมัติบัตรเครดิต

          โดยมีการกำหนดวงเงินบัตรเครดิต ให้สะท้อนตามรายได้ของลูกค้า จากเดิมที่เพียงมีรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาท ก็สามารถขอวงเงินสูงสุดได้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้

          เกณฑ์ใหม่ กำหนดวงเงินอนุมัติตามฐานเงินเดือนตามนี้

 รายได้ วงเงินสูงสุด
 ไม่เกิน 30,000 บาท
 ไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้
 ไม่เกิน 50,000 บาท
 ไม่เกิน 3 เท่าของรายได้
 มากกว่า 50,000 บาท
 ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้

          อย่างไรก็ตาม สามารถขอเพิ่มวงเงินชั่วคราว เพื่อใช้ในยามฉุกเฉินได้ โดยจะพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า

          - ลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต

         
          กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเหลือ 18% จากเดิม 20% เพื่อเป็นลดภาระหนี้ให้กับคนไทย จากปัจจุบันมีจำนวนคนที่มีบัตรเครดิจอยู่ 6.7 ล้านราย ถือบัตรเครดิตรวม 19.8 ล้านใบ
         
          อย่างไรก็ดี จะไม่สามารถบังคับใช้กับรายการใช้จ่ายผ่านบัตรที่เกิดขึ้นไปแล้วในอดีต ที่มีการกำหนดระยะเวลาการผ่อนชำระที่ชัดเจน

สินเชื่อ

          2. มาตรการสินเชื่อส่วนบุคคล
 
          - ปรับวงเงินอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคล

          ปรับจากเกณฑ์เดิมที่ไม่มีการกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำ และอนุมัติวงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ โดยเกณฑ์ใหม่ยังคงไม่มีการกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำของผู้ขอสินเชื่อเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนการให้วงเงินสูงสุดสะท้อนตามฐานเงินเดือนของผู้ขอสินเชื่อแทน

โดยกำหนดวงเงินสินเชื่อให้มีความเหมาะสม ดังนี้

รายได้
วงเงินสูงสุด
น้อยกว่า 30,000 บาท
ไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้
* รับสินเชื่อจากผู้ให้บริการไม่เกิน 3 ราย   
 ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป
 ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้
* ไม่จำกัดจำนวนได้รับสินเชื่อ

          มาตรการนี้มีผลเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันเท่านั้น เช่น บัตรกดเงินสด แต่จะไม่มีผลกับสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีหลักประกัน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย, รถยนต์, รถจักรยานยนต์  รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันประเภทอื่น ได้แก่ สินเชื่อเพื่อการศึกษา, สินเชื่อเพื่อการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ, สินเชื่อเพื่อการศึกษา และสินเชื่อเพื่อสวัสดิการพนักงาน

บัตรเครดิต

          เริ่มเมื่อไหร่ มีผลกับใครบ้าง ?

          สำหรับมาตรการดังกล่าวทั้งหมด จะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นไป

          โดยการกำหนดวงเงินบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล จะมีผลบังคับใช้กับลูกค้ารายใหม่เท่านั้น ไม่มีผลกระทบกับรายเดิม และยังสามารถขอวงเงินฉุกเฉินเพิ่มเติมได้เหมือนเหมือนเดิม

          ส่วนการปรับเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตนั้น จะมีผลทั้งหมดกับลูกค้ารายเดิม และรายใหม่ เพื่อสะท้อนต้นทุนทางการเงินที่ลดลงของสถาบันทางการเงิน และประโยชน์สูงสุดของผู้ขอสินเชื่อ

          ทั้งนี้ การปรับหลักเกณฑ์ควบคุมบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ก็เพื่อช่วยลดโอกาสในการก่อหนี้สินล้นพ้นตัวของประชาชน และลดปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนอย่างยั่งยืนนั่นเอง
         
          สำหรับผู้ที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการคุมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือโทร. 0-2283-5353


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดเกณฑ์ใหม่ คุมบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล กระทบใครบ้าง ? อัปเดตล่าสุด 13 สิงหาคม 2562 เวลา 16:52:01 33,389 อ่าน
TOP