x close

ขายของออนไลน์สะเทือน ! สรรพากรเล็งให้ธนาคารเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย สูงสุด 15%

 
ขายของออนไลน์

           กรมสรรพากรเตรียมเสนอร่างกฎหมายจัดเก็บภาษี "e-Business" ให้ ครม. พิจารณา ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เล็งให้ธนาคารเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายได้เลย ตั้งเพดานสูงสุด 15% ของรายได้ ครอบคลุมทุกธุรกรรมการซื้อ-ขายสินค้าและโอนเงินที่เกิดขึ้นในไทย

           วันที่ 3 กรกฎาคม 2560 นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ขณะนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนของร่างกฎหมายเรียกเก็บภาษีจากการทำธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร โดยมีสาระสำคัญ คือ มีการปรับปรุงอัตราเรียกเก็บภาษี e-Business ที่ระดับเพดานสูงสุด 15% ของเงินได้ที่จ่าย จากเดิมที่มีแนวคิดจะจัดเก็บเพียง 5% ของเงินได้ที่จ่าย
           โดยจะครอบคลุมทุกธุรกรรมการซื้อ-ขายสินค้า และการโอนเงินที่เกิดขึ้นในไทย รวมถึงการดำเนินธุรกิจธุรกรรมการเงินรูปแบบใหม่อื่น ๆ แม้ผู้ประกอบการดังกล่าวจะไม่จัดตั้งอยู่ในประเทศไทยก็ให้ถือว่ามีสถานประกอบการในไทย และเข้าข่ายต้องชำระภาษีเช่นเดียวกันกับผู้ประกอบการในไทย
 
           ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้มีการปรับปรุงเพดานอัตราจัดเก็บภาษี e-Business สูงสุดไว้ที่ 15% ของเงินได้ที่จ่าย โดยอัตรานี้จะอิงตามมาตรา 70 ของประมวลรัษฎากร แต่อย่างไรก็ตามการเรียกเก็บภาษีจะมีหลายอัตราขึ้นอยู่กับประเภทธุรกรรม ซึ่งในร่างกฎหมายมีการแยกประเภทธุรกรรมไว้อย่างชัดเจน และมีข้อยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีให้ 
 
           อีกทั้งจะให้อำนาจแก่สถาบันการเงินเป็นผู้จัดเก็บภาษี หัก ณ ที่จ่าย แทนกรมสรรพากร ซึ่งเมื่อใดที่มีการโอนเงินเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ จะมีแบบฟอร์มให้กับสถาบันการเงินในไทย เพื่อให้ลูกค้าที่ทำธุรกรรมการโอนเงินใด ๆ กรอกว่าการรับโอนเงินนั้น เป็นการรับโอนตามปกติ หรือมีเป็นการรับโอนในเชิงธุรกิจ จากนั้นสถาบันการเงินจะส่งแบบฟอร์มนี้กลับมากรมสรรพากร เพื่อตรวจสอบอีกครั้ง
 
ขายของออนไลน์

           นายประสงค์ กล่าวต่อว่า ขั้นตอนการเสนอร่างกฎหมายนี้จะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นจากประชาชน ซึ่งจะใช้เวลา 15 วัน ทำให้คาดว่าจะสามารถเสนอร่างกฎหมายให้ระดับนโยบายพิจารณาภายได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งที่ผ่านมากรมสรรพากรได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมวางแนวทางจัดเก็บภาษี ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยี และการค้าขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซจากภาครัฐและเอกชน  

 
           สำหรับแนวคิดของการจัดเก็บภาษี e-Business เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจการค้ามีความเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการค้าขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งมีมูลค่าซื้อ-ขายบนโลกออนไลน์สูงถึงล้านล้านบาท ดังนั้นหากกฎหมายมีผลบังคับใช้ภาครัฐก็จะสามารถเก็บภาษีในส่วนนี้ได้

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
,
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ขายของออนไลน์สะเทือน ! สรรพากรเล็งให้ธนาคารเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย สูงสุด 15% อัปเดตล่าสุด 4 กรกฎาคม 2560 เวลา 17:33:15 7,391 อ่าน
TOP