x close

บลูมเบิร์ก เผยอัตราส่วนหนี้เสียประเทศไทย แย่กว่าจีน ชี้กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน

หนี้เสีย

          บลูมเบิร์ก เผยอัตราสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารประเทศไทย สูงกว่าประเทศจีน ส่งผลด้านลบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้น

          วันที่ 21 มิถุนายน 2560 เว็บไซต์บลูมเบิร์ก รายงานอ้างอิงข้อมูลจากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจาก ฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) เผยว่า สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารประเทศไทย มีแนวโน้มสูงขึ้นในปลายปี 2560 ซึ่งผลดังกล่าวอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้น ในฐานะเป็นหนึ่งในประเทศเอเชียที่มีตลาดหุ้นประสิทธิภาพแย่ที่สุดของปี
          นายพาสันติ์ สิงหะ ผู้อำนวยการอาวุโสภาคสถาบันการเงิน ของบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) เผยว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมีความซบเซา แต่ค่อนข้างคงที่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของหนี้เสีย ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า และจะพุ่งสูงขึ้นสูงสุดในช่วงปลายปีหรือหลังจากนั้นไม่นาน

          นายพาสันติ์ สิงหะ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับวัฏจักรของเศรษฐกิจ การเติบโตของเศรษฐกิจมีความอ่อนแอค่อนข้างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกันก็ดูเหมือนว่า สภาพแวดล้อมทางธุรกิจยังไม่ฝืดเคืองโดยพื้นฐาน และธนาคารได้ทำการปรับมาตรฐานการพิจารณารับประกันภัยให้เข้มงวดมากขึ้น

หนี้เสีย

          จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ให้เห็นว่า สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวมของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.94 ของเงินให้สินเชื่อทั้งหมดในไตรมาสแรก นับเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2554 ตอกย้ำความท้าทายสำหรับผู้ให้กู้ในสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาและเพิ่มระดับหนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น
          ฟิทช์ เรทติ้งส์ เผยว่า ในหมวดธุรกิจธนาคาร มีมูลค่าในตลาดรวมกันราว 2.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของมูลค่ารวมในดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้น ร้อยละ 2.3 ในปี 2560 ซึ่งเป็นระดับที่น้อย ท่ามกลางตลาดหุ้นเอเชีย ตามหลังตลาดหุ้นจีน 

          จากการคำนวณของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประมาณการอัตราสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของไทย อยู่ที่ร้อยละ 6.6 ในไตรมาสแรก ซึ่งรวมถึงสินเชื่อกรณีพิเศษ ที่อยู่ระหว่างค้างชำระ 1-3 เดือน ขณะที่ประเทศจีน มีอัตราสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ ร้อยละ 1.74 ในปลายเดือนมีนาคม

          ทั้งนี้จากการประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวคงที่ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 ในปี 2560 ซึ่งตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยคงที่มาตั้งแต่ปี 2558 หลังจากนักลงทุนภาคเอกชนเผชิญกับความท้าทายเมื่อครั้งรัฐบาลทหารทำการรัฐประหารปี 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บลูมเบิร์ก เผยอัตราส่วนหนี้เสียประเทศไทย แย่กว่าจีน ชี้กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน อัปเดตล่าสุด 22 มิถุนายน 2560 เวลา 15:30:12 4,783 อ่าน
TOP