x close

เรามาสำรวจความแข็งแรงทางด้านการเงินของเรากันเถอะ

 วางแผนการเงินครอบครัว

          วางแผนการเงินครอบครัวควรทำอะไรที่มากกว่าแค่จดบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้เราทราบถึงความมั่นคงทางการเงินในครอบครัวของเรา คราวนี้จะตัดสินใจลงทุนหรือสร้างหนี้จะได้ไม่ก้าวพลาด
   
          การเงินสำหรับชีวิตคู่หรือคนที่มีครอบครัวอาจเป็นเรื่องที่จะละเลยไม่ได้อีกต่อไป เพราะภายใต้การจับจ่ายใช้สอยและรายได้ที่เข้ามานั้น มีอนาคตของครอบครัวเราเป็นเดิมพัน ดังนั้นเพื่อความมั่นคงทางการเงิน และเพื่อที่เราจะได้ตัดสินใจกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ในครอบครัวได้ถูกทิศทาง คุณ nuohpuja สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ก็แนะนำให้ลองสำรวจความแข็งแรงทางด้านการเงินกันก่อน
 วางแผนการเงินครอบครัว

          เรามาสำรวจความแข็งแรงทางด้านการเงินของเรากันเถอะ โดยคุณ nuohpuja สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม

          อ้างอิงจากกระทู้ที่แล้วที่แชร์ไฟล์บัญชีรายรับรายจ่ายให้ทุกท่านได้ Download กันไปใช้งานตามกระทู้ "แจกฟรีไฟล์บริหารรายรับ-รายจ่ายสำหรับครอบครัวสามีภรรยาที่บริหารเงินร่วมกัน" ซึ่งการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายตามกระทู้นั้นเป็นการค้นหากระแสเงินสดรับ กระแสเงินสดจ่าย และกระแสเงินสดสุทธิ ของตัวเองหรือของครอบครัว เพื่อที่เราจะสามารถนำกระแสเงินสดสุทธิไปต่อยอดสร้างความมั่งคั่งต่อไป

          แต่กระทู้ในวันนี้อยากนำพาทุกท่านให้มาสำรวจความเข็งแรงทางด้านการเงินด้วยการใช้เครื่องมือตัวหนึ่งที่เรียกว่า งบดุลส่วนบุคคล หรือที่เรียกกันว่า Balance Sheet

          ผมเชื่อว่าคนที่ไม่ได้เรียนบัญชีมา หรือไม่ถนัดการใช้คอมพิวเตอร์ก็คงเกิดคำถามว่า มันคืออะไรเหรอ "งบดุลส่วนบุคคล" เนี่ย "แล้วเราจะทำงบดุลส่วนบุคคลยังไงกันล่ะ"

          วันนี้ผมจะมาตอบคำถามเหล่านี้ให้ทุกท่านได้เข้าใจถึงประโยชน์ของการทำงบดุลส่วนบุคคล รวมทั้งมีไฟล์มาแจกเช่นเคย สำหรับท่านที่มีความชำนาญ หรือเชี่ยวชาญเรื่องเหล่านี้อยู่แล้วก็ขออภัยด้วยนะครับ

งบดุลส่วนบุคคลคืออะไร
   
          งบดุลส่วนบุคคลมีความเหมือนกันกับงบดุลของบริษัทจำกัด ก็คือ ตารางที่แสดงสินทรัพย์ หนี้สิน และความมั่งคั่งสุทธิ ซึ่งในงบดุลของบริษัทจำกัดก็คือส่วนผู้ถือหุ้นนั่นเอง

          ซึ่งงบดุลส่วนบุคคลเป็นตารางที่แสดงให้เราเห็นภาพว่า ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่เราต้องการวัด เช่น สิ้นเดือน สิ้นปี เรามีสถานะของทรัพย์สิน สถานะของหนี้สิน และสถานะของความมั่งคั่งสุทธิเป็นเท่าใด

          ทั้งนี้สถานะของสินทรัพย์ก็แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

          1. สินทรัพย์สภาพคล่อง ซึ่งก็คือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง หรือมีความคล่องที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว เช่น เงินสดเอง หรือเงินออมทรัพย์ หรือเงินฝากประจำ หรือแม้กระทั่งกองทุนรวมตลาดเงิน สลากออมสิน

          2. สินทรัพย์เพื่อการลงทุน ซึ่งก็คือสินทรัพย์ที่เราไปลงทุนเพื่อให้โอกาสได้ผลตอบแทนมากกว่าที่จะเก็บไว้ในสินทรัพย์สภาพคล่องตามข้อ 1 เช่น อสังหาริมทร้พย์ กองทุนตราสารทุน กองทุนตราสารหนี้ หุ้น ประกันชีวิต ทองคำเพื่อการลงทุน Future Forex LTF RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และอื่น ๆ

          3. สินทรัพย์ส่วนตัว ซึ่งก็คือสินทรัพย์ที่เป็นของใช้ส่วนตัวเช่น บ้าน รถยนต์ ที่ดิน ทองคำเพื่อสวมใส่ นาฬิกาเพื่อสวมใส่ (บางท่านอาจมีนาฬิกาเพื่อการลงทุน หรือทองคำเพื่อการลงทุน ก็สามารถย้ายไปไว้ในสินทรัพย์เพื่อการลงทุนได้)

ในส่วนของหนี้สินแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่


          1. หนี้ระยะสั้น เช่น หนี้บัตรเครดิต เงินสดฉุกเฉิน บัตรกดเงินสด การผ่อนสินค้า

          2. หนี้ระยะยาว เช่น หนี้ผ่อนรถ หนี้ผ่อนบ้าน เป็นต้น

          ในส่วนของความมั่งคั่งก็คือ สินทรัพย์ ลบด้วย หนี้สิน ก็จะแสดงเป็นความมั่งคั่งสุทธิ ซึ่งจะเป็นค่าที่สามารถบอกได้ว่าเรามีความมั่งคั่งเท่าไร เช่น ถ้าเรามีสินทรัพย์รวม 1 ล้านบาท และมีหนี้สิน 1 ล้านบาท ความมั่งคั่งสุทธิก็เท่ากับ 1 ล้าน - 1 ล้าน = 0 บาท หมายถึงความมั่งคั่งสุทธิเป็น 0 ซึ่งก็หมายความว่าสินทรัพย์ที่เรามีทั้งหมดไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของเจ้าหนี้เรา
 
วางแผนการเงินครอบครัว

ทำไมเราต้องทำงบดุลส่วนบุคคล ?

          1. เพื่อดูว่า สินทรัพย์ของเรานั้นวางไว้ในที่ ๆ ถูกต้องหรือยัง เช่น สินทรัพย์สภาพคล่อง ควรมีไม่เกิน 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรวมต่อเดือน หรือมากกว่า 6 เท่าต่อเดือนก็ได้ หากรู้สึกไม่สบายใจ แต่มากเกินไปก็จะทำให้เสียโอกาส เนื่องจากที่เก็บของสินทรัพย์สภาพคล่องมักจะได้ผลตอบแทนของการเก็บต่ำมาก เช่น ฝากออมทรัพย์ เป็นต้น
   
          หรือในทางกลับกัน หากเราคงเงินไว้ในสินทรัพย์สภาพคล่องน้อยเกินไป หากเกิดวิกฤตที่เราคาดไม่ถึง ทำให้เราต้องใช้สินทรัพย์สภาพคล่องนั้นหมดไป อาจทำให้เราจำเป็นต้องไปดึงสินทรัพย์เพื่อการลงทุนมาใช้อย่างฉุกเฉิน ซึ่งในเวลานั้นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนของเราอาจยังไม่ได้ผลตอบแทนเท่าที่ควร หรือจำเป็นต้องเลิกลงทุนก่อนเวลาที่จะได้ผลประโยชน์ครบตามต้องการ เช่น จำเป็นต้องขายหุ้นในขณะที่ยังขาดทุนอยู่เพื่อมาใช้แก้วิกฤตทางการเงินเป็นต้น

          2. เพื่อดูว่า เรามีกำลังในการต่อสู้ต่อวิกฤตทางการเงินแค่ไหน ก็คือ หากเกิดวิกฤตของครอบครัว จำเป็นต้องใช้เงินฉุกเฉิน เราจะได้รู้ว่าเรามีสินทรัพย์สภาพคล่องที่สามารถใช้แก้วิกฤตได้แค่ไหน หลังจากสินทรัพย์สภาพคล่องหมดลง ก็จำเป็นต้องใช้สินทรัพย์เพื่อการลงทุน หากวิกฤตนั้นรุนแรง เราก็อาจจำเป็นต้องใช้สินทรัพย์ส่วนตัว ซึ่งเป็นสินทรัพย์ก้อนสุดท้ายของเรา เหมือนดังที่เราเคยได้ยินว่า ต้องขายบ้านขายรถมาแก้ปัญหา

          3. ในอีกมุมหนึ่งคือ ดูสัดส่วนของหนี้ที่มีอยู่ ซึ่งหนี้รวมทั้งหมด ทั้งหนี้ระยะสั้นและหนี้ระยะยาว ไม่ควรเกิน 40-45% ของรายได้ และเฉพาะหนี้ระยะสั้นไม่ควรเกิน 20-25% ของครอบครัว หากเกินกว่านี้ หรือเรารู้ว่ามันจะเกินก็จะได้หาทางปรับลดหนี้ หรือลดการก่อหนี้เพิ่ม หรือหาทางเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจเป็นหนี้
   
          ถ้าเรารู้ถึงเปอร์เซ็นต์ที่เป็นหนี้ทั้งหมดต่อรายได้ของครอบครัว ก็จะทำให้เรามีเวลาฉุกคิดว่าเราควรเป็นหนี้เพิ่มจากที่มีอยู่หรือไม่ จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์ที่อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล อยากได้ของที่เราต้องการโดยไม่ได้ดูสถานะทางด้านการเงินของตัวเอง

          ซึ่งจากทั้ง 3 ข้อข้างต้น ถ้าทุกคนได้สร้างงบดุลของครอบครัวตัวเองขึ้นมา ก็จะทำให้สามารถรู้และแก้ไขปัญหา หรือป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นกับครอบครัวตัวเองได้เป็นอย่างดี

          แรงบันดาลใจอีกอย่างที่นำมาบอกเล่ากันก็คือ ผมเห็นคำถามทีเกิดขึ้นมากมายใน Pantip ห้องสินธรว่า มีเงิน 200,000 ลงทุนอะไรดี มี 1,000,000 ทำใงให้ได้ 8% ผมเข้าใจเอาเองว่า ท่านที่ตั้งคำถามข้างต้น คงได้สำรวจความมั่งคั่งของตัวเองมาอย่างดีแล้ว ถึงได้มองหาช่องทางในการลงทุนเพื่อทำให้ความมั่งคั่งของตัวเองงอกเงย
   
          แต่ในทางกลับกัน หากท่านเหล่านั้นยังไม่ได้ทราบถึงความแข็งแรงของครอบครัวแล้วนำไปลงทุนทั้งหมด ก็อาจทำให้เกิดปัญหาตามมามากมายได้ เพราะฉะนั้นการได้รู้ถึงความมั่งคั่งของตัวเองจึงเป็นปัจจัยพื้นฐานอันแรกที่จะทำให้เราเดินหน้าต่อไปอย่างปลอดภัยและมีความมั่งคั่งเพิ่มพูนขึ้นไปเรื่อยเรื่อย ๆ

          ลำดับต่อไปเป็นส่วนรายละเอียดของโปรแกรม ซึ่งโปรแกรมนี้ก็เป็นไฟล์สเปรดชีตธรรมดา ที่สามารถทำงานได้ทั้ง excel หรือ google sheet ถ้าหากใช้ google sheet ก็สามารถใช้ฟังก์ชั่นทำงานแบบออนไลน์ได้เหมือนไฟล์บัญชีรายรับรายจ่ายของกระทู้ที่แล้ว

          ซึ่งไฟล์ที่ผมเขียนขึ้นมานั้นเขียนเพื่อให้ผู้ที่ไม่มีความรู้ทางด้านบัญชีสามารถบันทึกข้อมูลได้อย่างง่ายดาย จนสามารถสรุปออกมาเป็นงบดุลส่วนบุคคลของครอบครัวได้ และที่สำคัญตารางที่ใช้ในการบันทึกข้อมูลสามารถนำมาอ้างอิงเป็นบัญชีทรัพย์สินและบัญชีหนี้สินของครอบครัวได้

วางแผนการเงินครอบครัว

          โดยบัญชีทรัพย์สินนี้ เป็นบัญชีที่แสดงให้เห็นว่าเรามีรายการสินทรัพย์อยู่กี่รายการ แยกเป็นประเภทอะไรบ้าง รวมทั้งใครบ้างที่เป็นผู้ถือครองทรัพย์สินนี้ หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น คนที่เหลืออยู่ก็สามารถติดตามทรัพย์สินทั้งหมดให้กลับมาเป็นของครอบครัวเราได้เหมือนเดิม โดยไม่ต้องเสียเวลามารวบรวมอีกครั้ง หรือมาติดตามสำรวจทรัพย์สินว่ามีอยู่ที่ใดบ้าง

          ส่วนบัญชีหนี้สิน เป็นการรวบรวมว่า ณ ปัจจุบัน เรามีหนี้สินรวมอยู่แล้วเท่าไร ข้อดีของบัญชีนี้ก็จะทำให้เรารู้ว่าเราควรจัดการกับหนี้สินตัวใดก่อน และทำให้เรารู้ว่าเราควรเพิ่มหนี้สินของครอบครัวในเวลานี้แล้วหรือยัง

วางแผนการเงินครอบครัว
   
          เมื่อเรากรอกข้อมูลทั้ง 2 บัญชีได้ครบ ตัวไฟล์จะสร้าง “งบดุลส่วนบุคคล” มาให้โดยอัตโนมัติ ทำให้เราสามารถนำตารางนั้นไปใช้ประโยชน์ได้ทันที ไม่ว่าจะดูสถานะทางการเงินของตัวเอง หรือเตรียมเป็นข้อมูลเพื่อไปขอสินเชื่อกับทางธนาคาร

          หากท่านใดมีปัญหาในเรื่องของการกรอกข้อมูลหรือไม่เข้าใจสิ่งใด หลังไมค์มาสอบถามได้นะครับ
   
          หวังเป็นอย่างยิ่งนะครับว่าข้อมูลข้างต้นและไฟล์ที่นำมาแชร์กันจะเป็นประโยชน์ต่อบุคคลส่วนรวม ไฟล์นี้ไม่มีลิขสิทธิ์ใด ๆ ท่านสามารถนำไปเผยแพร่หรือแชร์ต่อให้เพื่อนได้โดยไม่มีมูลค่าใด ๆ ครับ
 
          ดาวน์โหลดได้ที่นี่

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
คุณ nuohpuja สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรามาสำรวจความแข็งแรงทางด้านการเงินของเรากันเถอะ อัปเดตล่าสุด 29 มิถุนายน 2559 เวลา 16:42:35 13,852 อ่าน
TOP