x close

วิธีผูกพร้อมเพย์ธนาคารต่าง ๆ เพื่อรับโอนเงินด้วยเบอร์มือถือ-เลขบัตรประชาชน

          พร้อมเพย์ (PromptPay) จะทำให้การโอนเงินเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องจำเลขบัญชีธนาคาร มีแค่เบอร์มือถือหรือเลขบัตรประชาชนก็โอนได้สะดวกทุกที่ และค่าธรรมเนียมยังถูกลงด้วย

พร้อมเพย์

           ต่อจากนี้ไปการทำธุรกรรมธนาคารจะสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเปิดบริการ "พร้อมเพย์" (PromptPay) ซึ่งเป็นบริการที่ใช้สำหรับโอนเงินและรับโอนเงินแบบใหม่ สามารถทำได้ง่าย สะดวก ปลอดภัย และทำได้ทุกที่ทุกเวลาโดยใช้เพียง Any ID เท่านั้น

           พูดอย่างนี้หลายคนคงสงสัยว่า "พร้อมเพย์" (PromptPay) คืออะไร จะใช้โอนเงินได้อย่างไร แล้วหากเราจะใช้บริการนี้ต้องทำอะไรบ้าง กระปุกดอทคอมนำข้อมูลมาขยายความให้เข้าใจชัด ๆ กันตรงนี้

พร้อมเพย์ PromptPay

พร้อมเพย์ (PromptPay) คืออะไร ?


           พร้อมเพย์ (PromptPay) เป็นระบบการเงินแบบอีเพย์เมนต์ (E-Payment) ซึ่งบริการที่ธนาคารไทย 15 แห่ง และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เปิดให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถโอนเงินได้สะดวกรวดเร็วขึ้น (เดิมใช้ชื่อว่า Any ID) โดยใช้เพียงเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือแทนการระบุเลขที่บัญชีเงินฝากของผู้รับเงิน

           เท่ากับว่าหากเราต้องการโอนเงินให้ใคร ก็ไม่จำเป็นต้องจำเลขที่บัญชีธนาคารของเขาอีกต่อไป รู้เพียงแค่เบอร์โทรศัพท์มือถือหรือหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับก็สามารถโอนเงินให้ปลายทางได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถโอนเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ, อินเทอร์เน็ต หรือตู้เอทีเอ็มก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปที่ธนาคาร

           ทั้งนี้ นอกจากจะเปิดให้บริการโอนเงินระหว่างบุคคลทั่วไปแล้ว หน่วยงานภาครัฐยังสามารถโอนเงินให้เราได้ด้วย เช่น เงินคืนภาษี รวมทั้งโอนเงินช่วยเหลือต่าง ๆ อย่างล่าสุดก็คือ โครงการสวัสดิการแห่งรัฐ 2566 หรือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รอบใหม่ ที่ให้ผู้ได้รับสิทธิต้องผูกพร้อมเพย์กับเลขบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อรับโอนเงิน


โอนเงินผ่านพร้อมเพย์ (PromptPay) คิดค่าธรรมเนียมอย่างไร ?


           ในการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์จะไม่คิดค่าธรรมเนียมแยกรายการเป็นแบบในเขต ข้ามเขต หรือรายการในธนาคารเดียวหรือต่างธนาคาร เหมือนกับการโอนเงินในรูปแบบเดิม แต่จะอ้างอิงวงเงินในการโอนเงินแต่ละครั้ง ซึ่งค่าธรรมเนียมจะถูกกว่า คือ

           - โอนเงินไม่เกิน 5,000 บาท ไม่คิดค่าธรรมเนียม
           - โอนเงินมากกว่า 5,000-30,000 บาท ค่าธรรมเนียมรายการละไม่เกิน 2 บาท
           - โอนเงินมากกว่า 30,000-100,000 บาท ค่าธรรมเนียมรายการละไม่เกิน 5 บาท
           - โอนเงินมากกว่า 100,000-วงเงินสูงสุดตามแต่ละธนาคารกำหนด ค่าธรรมเนียมรายการละไม่เกิน 10 บาท

พร้อมเพย์ PromptPay

ต้องทำอย่างไรถึงใช้ พร้อมเพย์ (PromptPay) รับโอนเงินได้ ?


           ผู้ที่สนใจจะใช้บริการรับโอนเงินพร้อมเพย์ต้องลงทะเบียนกับธนาคารก่อน เพื่อผูกบัญชีเงินฝากกับเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือของเราโดย...

           - เลือกบัญชีเงินฝากธนาคารแบบออมทรัพย์หรือกระแสรายวันที่ต้องการใช้เป็นบัญชีในการรับเงิน โดยต้องเป็นบัญชีเดี่ยวเท่านั้น ไม่ใช่บัญชีร่วม

           - แจ้งลงทะเบียนกับธนาคารที่เราเลือกผ่านช่องทางที่ธนาคารแต่ละแห่งเตรียมไว้ให้บริการ เช่น เอทีเอ็ม, Internet Banking, Mobile Banking หรือที่สาขาธนาคาร

           - แจ้งหมายเลขโทรศัพท์มือถือ และ/หรือเลขประจำตัวประชาชน

           - จัดเตรียมเอกสารประกอบการลงทะเบียนตามที่ธนาคารกำหนด เช่น สมุดบัญชีหรือเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคาร บัตรประจำตัวประชาชน โทรศัพท์มือถือที่ต้องการลงทะเบียน ซึ่งเราจะต้องเป็นทั้งเจ้าของบัญชีเงินฝากและเจ้าของเบอร์โทรศัพท์

           ทั้งนี้ หมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือเลขประจำตัวประชาชน 1 หมายเลข จะใช้ผูกหรือจับคู่กับบัญชีเงินฝากปลายทางได้ 1 บัญชีเท่านั้น จะผูกเลขเดียวซ้ำบัญชีไม่ได้ แต่ 1 บัญชีสามารถผูกได้ 3 หมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งเราสามารถยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงการผูกบัญชีได้ตลอดเวลา โดยปฏิบัติตามขั้นตอนที่ธนาคารแต่ละแห่งกำหนด

           อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เป็นฝ่ายโอนเงินนั้นไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนใช้บริการก็สามารถโอนเงินให้ผู้รับผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่แต่ละธนาคารกำหนดได้ เช่น ทางอินเทอร์เน็ต, ตู้เอทีเอ็ม หรือธนาคารสาขา แต่หากเราเป็นผู้รับโอนเงินจะต้องลงทะเบียนผูกบัญชีก่อน จึงจะสามารถรับโอนเงินได้

วิธีผูกพร้อมเพย์ของธนาคารต่าง ๆ


          ใครต้องการสมัครพร้อมเพย์ เพื่อรับโอนเงิน สามารถคลิกอ่านวิธีผูกพร้อมเพย์ของธนาคารต่าง ๆ ได้เลย

          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารกสิกรไทย 
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารกรุงไทย
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารออมสิน
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารทหารไทยธนชาต
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารทิสโก้
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารเกียรตินาคิน
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารไทยเครดิต
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารไอซีบีซี ไทย
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารยูโอบี
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

ประโยชน์ดี ๆ จากพร้อมเพย์ (PromptPay)


          - ใคร ๆ ก็โอนเงินมาให้เราได้โดยไม่ต้องถามเลขที่บัญชีธนาคาร จึงสะดวกและรวดเร็ว
          - เราสามารถรับเงินจากภาครัฐเข้าบัญชีได้โดยตรงด้วยเลขประจำตัวประชาชน เช่น การยื่นขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งหากสมัครพร้อมเพย์ไว้ จะได้รับโอนเงินคืนรวดเร็วกว่าการคืนภาษีด้วยเช็ค
          - ลดความเสี่ยงจากการพกพาเงินสด หรือส่งมอบเงินสด
          - สามารถตรวจสอบรายการโอนเงินย้อนหลังได้

          ทั้งนี้ การโอนเงินแบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาบริการชำระเงินของประเทศที่จะช่วยลดการใช้เงินสด เพิ่มความรวดเร็ว ถูกต้อง และสามารถตรวจสอบรายการย้อนหลังได้ และเชื่อว่าโครงการ อีเพย์เมนต์ จะช่วยลดต้นทุนได้ปีละกว่าหมื่นล้านบาท

          หากใครยังมีคำถามเกี่ยวกับการใช้พร้อมเพย์ เช่น

          - สมัครพร้อมเพย์แล้วยกเลิกได้หรือไม่ อย่างไร ?
          - สามารถโอนเงิน 5,000 บาท ได้สูงสุดวันละกี่ครั้ง ?
          - จะเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ที่ผูกกับบัญชีได้หรือไม่ ?
          - หากเราใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือกับ Mobile Banking ของธนาคารไหนแล้ว จำเป็นต้องใช้เลขที่บัญชีของธนาคารนั้นผูกกับเบอร์โทรศัพท์มือถือที่จะใช้บริการพร้อมเพย์หรือไม่ ?
          ฯลฯ

           สามารถไขข้อสงสัยคำถามยอดฮิตทั้งหมดนี้ได้ที่ วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ พร้อมเจาะ 20 คำถาม-คำตอบที่คนสงสัย
 

พร้อมเพย์

พร้อมเพย์
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก ศคง. 1213 


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : ธนาคารแห่งประเทศไทย, เฟซบุ๊ก ศคง. 1213

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีผูกพร้อมเพย์ธนาคารต่าง ๆ เพื่อรับโอนเงินด้วยเบอร์มือถือ-เลขบัตรประชาชน อัปเดตล่าสุด 9 มีนาคม 2566 เวลา 15:24:40 754,314 อ่าน
TOP