x close

เที่ยวเมืองนอก ถอนเงินสดจาก ATM หรือรูดบัตรเครดิตดี ?

ATM

          ไปเที่ยวต่างประเทศแต่ไม่อยากพกเงินไปเต็มกระเป๋า แล้วเราจะกดตู้ ATM หรือรูดบัตรเครดิตดี

          ในที่สุดก็ได้เวลาไปเที่ยวเมืองนอกเสียที ! ทำงานเก็บเงินมาทั้งปีเพื่อการนี้โดยเฉพาะ บางคนก็เก็บเยอะหน่อยหวังช้อปกระจายให้สะใจ แต่จะให้พกเงินสดเป็นปึก ๆ จากที่นี่ไปก็ใช่ว่าจะปลอดภัย งั้นจะใช้จ่ายเงินที่เมืองนอกยังไงดี ?

ATM

วิธีการจ่ายเงินในต่างประเทศ

          เวลาเราจ่ายเงินค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ต่างประเทศ ก็ไม่ต่างจากที่เราทำภายในประเทศไทยนัก คือพวกห้างร้านส่วนมาก อย่างร้านอาหารใหญ่ ๆ แหล่งช้อปปิ้ง ห้างสรรพสินค้า มักจะรับทั้งเงินสด บัตรเดบิต บัตรเครดิต แต่บางแห่งอาจจะรับบัตรเครดิตได้แค่ของเครือ VISA เท่านั้น หรืออาจจะรับแต่เงินสด

          ฉะนั้นก่อนจะเข้าไปซื้อสินค้าหรือบริการที่ไหน ให้สังเกตป้ายก่อนว่าจ่ายเงินแบบไหนได้บ้าง หรือจะถามพนักงานก็ได้ค่ะ

ATM

ใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิต สะดวกสบาย

          การพกบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตไปต่างประเทศเพื่อใช้จ่ายถือเป็นทางเลือกที่ดีเพราะไม่ต้องพกเงินสดจำนวนมาก ๆ ยิ่งเวลาไปช้อปปิ้ง รูดบัตรเพลินกว่าเยอะ

          สำหรับการใช้จ่ายเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ก็จะถูกเรียกเก็บเป็นเงินบาทไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารถูกเรียกเก็บจากบริษัท VISA, MasterCard หรืออื่น ๆ ตามวันที่ร้านค้าส่งรายการใช้จ่ายผ่านบัตรมาเรียกเก็บ

          โดยอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวนั้น ได้รวมค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน อีกร้อยละ 2.5 จากอัตราแลกเปลี่ยนที่ VISA, MasterCard หรืออื่น ๆ ประกาศ ณ วันนั้น

          ในส่วนของค่าธรรมเนียมและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับบริษัทที่ออกบัตรว่ามีนโยบายอย่างไร บางที่ก็ไม่คิดค่าธรรมเนียม บางที่ก็สามารถสะสมแต้มสำหรับแลกเงินคืนได้

ATM

ถอนเงินจากตู้ ATM อยากมีเงินสดก็กดได้

          เนื่องด้วยร้านค้าบางแห่งมีการลดราคาให้สำหรับลูกค้าที่จ่ายเงินสด หรือบางแห่งก็ไม่รับบัตรเครดิตหรือเดบิต ดังนั้นหลาย ๆ คนก็เลยชอบที่จะมีเงินสดไว้ด้วยระหว่างการท่องเที่ยว

          เวลาเราจะใช้บัตรเดบิตเบิกเงินสดทึ่ตู้ ATM ต่างประเทศ เราต้องตรวจสอบสัญลักษณ์ที่เหมือนกันบนหลังบัตร ATM กับตู้ ATM เสียก่อน เช่น ธนาคารบางแห่งในประเทศไทยออกบัตรเดบิตที่เราสามารถไปกดเงินจากตู้ ATM ใด ๆ ในโลกก็ได้ที่มีเครื่องหมาย Cirrus

          ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมในการถอนเงินมักจะอยู่ที่ 100-120 บาท ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดจากการถอนเงินจะเรียกเก็บเป็นสกุลเงินบาท โดยอ้างอิงจากอัตราแลกเปลี่ยนกลางของบริษัท Visa, MasterCard หรืออื่น ๆ ซึ่งรวมความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินไม่เกินร้อยละ 2.5 ด้วย

          การใช้บัตรเดบิตกดเงินน่าจะเหมาะกับคนที่ไม่อยากเผลอใช้เงินจนเกินงบ (เพราะใช้ได้เฉพาะจำนวนเงินที่มีในบัญชี) และเหมาะสำหรับคนที่ไม่อยากเสี่ยงกับการเจอดอกเบี้ยบัตรเครดิตแพง ๆ เมื่อไม่สามารถชำระเงินได้หมดในงวดนั้น

ติดต่อธนาคารไว้ก่อน

          บางคนอาจเคยเจอเหตุการณ์ จะกดเงินที่ต่างประเทศแล้วดันทำไม่ได้ เนื่องจากธนาคารบางแห่งมีมาตรการป้องกันความปลอดภัยให้แก่ลูกค้า พอมีการขอกดเงินในต่างประเทศซึ่งเป็นที่ต่างถิ่น เลยไม่ให้ คือให้นึกเอาว่าเหมือนกับธนาคารสงสัยว่านั่นเป็นใครไม่รู้อยู่ต่างประเทศ พยายามจะมากดเอาเงินของเราไป

          ดังนั้น ก่อนจะไปเที่ยวต่างประเทศ เพื่อความสบายใจ เราควรติดต่อธนาคารไว้ก่อนและแจ้งว่าต่อไปเราจะไปต่างประเทศและจะมีการทำรายการที่นั่น และนอกจากนี้ เราก็ควรหาทางติดต่อธนาคารไว้ตลอด เผื่อมีกรณีฉุกเฉินทางการเงินจะได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ได้

ATM

แลกเงินสดจากไทยพกไปบ้าง


          ทั้งนี้ แม้เราตั้งใจจะใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือกดเงินจากตู้ ATM ขณะอยู่ในต่างประเทศแต่เราก็ควรจะพกเงินสดที่เป็นเงินตราของประเทศนั้น ๆ เผื่อไว้ติดตัวจากไทยไปบ้าง

          เพราะเราไม่รู้ว่า พอไปถึงที่ประเทศนั้นแล้ว เราอาจต้องเจออะไรที่ต้องใช้เงินด่วน ธนาคารหรือบริษัทรับแลกเงินคิวยาวแต่เราไม่อยากเสียเวลารอ ดังนั้นถ้ามีเงินของประเทศนั้นพกไว้บ้างอยู่แล้ว พอต้องใช้เงินจะได้ไม่ต้องกังวล

ช่องทางการแลกเงิน

          เราสามารถแลกเงินกับธนาคารโดยตรง หรือบริษัทรับแลกเปลี่ยนเงินก็ได้ โดยที่เราควรดูก่อนว่า แลกที่ไหนได้เรทดีกว่า และคุ้มกับเงินที่แลกไปมากกว่า

          ปกติแล้วขาเที่ยวมักจะแนะนำให้ไปแลกกับบริษัทรับแลกเปลี่ยนเงิน เพราะมักให้เรทที่ดีกว่า กรณีนี้เหมาะกับคนที่อยากจะแลกทีละมาก ๆ เพื่อให้เราขาดทุนน้อยที่สุด แต่ถ้าคิดจะแลกจำนวนไม่มาก และเน้นสะดวก ก็ไปแลกกับธนาคารพาณิชยก็ได้

ตัวอย่างเช่น ธนาคาร AAA รับแลกเงินโดยมีเรทดังนี้ 

ATM

ส่วนบริษัทรับแลกเงิน BBB มีเรทอยู่ที่

ATM

          เราจะเห็นได้ว่า เลขของอัตราแลกเปลี่ยนทั้งสองแห่งมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง โดยถ้าเราต้องการจะแลกเงินเพื่อไปใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ เราจะต้องใช้เงิน 36,360 บาทเมื่อไปแลกที่ธนาคาร AAA แต่ถ้าที่บริษัท BBB เราจะต้องใช้เงิน 35,850 บาท

          ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่า เราจะได้เงินพกไปเที่ยวจำนวนเท่ากัน แต่เงินบาทที่เราต้องเสียต่างกันประมาณ 500 บาท ซึ่งก็ไม่ใช่เงินจำนวนน้อย ๆ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกด้วย

          ถ้าต้องนั่งรถ 3-4 ต่อ หรือขับรถเสียค่าน้ำมันเป็นชั่วโมง ๆ เพื่อฝ่าไปให้ถึงบริษัทแลกเงิน ส่วนต่าง 500 บาทอาจไม่คุ้มนัก สู้เดินไปห้างใกล้บ้านแล้วแลกเงินกับธนาคารสักแห่งอาจจะดีกว่า

          จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นการถอนเงินจากตู้ ATM หรือการใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิต ก็มีข้อดีและข้อเสียในตัวของมันเอง ทั้งนี้ เราขอแนะนำว่า เวลาไปต่างประเทศ ความเพลิดเพลินและความสุขอาจทำให้เราประมาท ใช้เงินจนไม่เหลือกลับบ้าน หรือรูดบัตรจนยอดเงินเต็ม ไม่มีเงินชำระตอนใบแจ้งหนี้บัตรเครดิตมาถึงบ้านได้ ซึ่งอาจนำมาสู่การเป็นหนี้บัตรเครดิต

          ดังนั้น ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไทย หรือไปเที่ยวต่างประเทศ ให้ยึดหลักการคล้าย ๆ กันคือ ให้ตั้งงบประมาณการใช้จ่ายไว้เสมอ และวางแผนการใช้จ่ายให้ดี ๆ อาจจะให้รางวัลตัวเองบ้างเพราะไหน ๆ ก็มาต่างประเทศทั้งที แต่อย่าให้เยอะเกินจนตัวเราเองเดือดร้อนทีหลังนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Masii.co.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เที่ยวเมืองนอก ถอนเงินสดจาก ATM หรือรูดบัตรเครดิตดี ? อัปเดตล่าสุด 15 มิถุนายน 2559 เวลา 09:52:17 25,416 อ่าน
TOP