x close

5 วิธีที่ลูกหนี้ทำได้ เมื่อเป็นหนี้แล้วไม่มีเงินจ่าย รู้ไว้ไม่เจอทางตัน

         เป็นหนี้ทำไงดี เมื่อเป็นหนี้แล้วไม่มีเงินจ่าย นี่คือวิธีที่คุณทำได้เพื่อผ่าทางตันปัญหาการเงิน

เป็นหนี้แล้วไม่มีเงินจ่าย

         ไม่ว่าจะเป็นใครก็คงไม่อยากอยู่ในสภาวะของการเป็นหนี้อย่างแน่นอน แต่ในบางครั้งเราก็ต้องรับสภาพการเป็นหนี้ ด้วยสาเหตุจำเป็นหรือเพราะวินัยการเงินที่ไม่ดี ซึ่งถ้ามีเงินผ่อนชำระจนครบก็ไม่ใช่ปัญหา แต่หากหนี้สินที่มีอยู่เกินกำลังที่มีก็จะกลายเป็นปัญหาน่าปวดหัว ไม่รู้จะหาเงินจากที่ไหนมาชำระ แต่ทุกปัญหาย่อมมีทางออก และนี่คือ 5 วิธีที่ลูกหนี้สามารถทำได้เมื่อเป็นหนี้แล้วไม่สามารถผ่อนชำระได้จริง ๆ เรียนรู้ไว้เพื่อผ่าทางตันเรื่องปัญหาการเงิน

1. พึ่งพาสินเชื่อจากกองทุนต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกอยู่

         เมื่อคุณเริ่มรู้สึกว่าเริ่มมีปัญหาการเงินติดขัด หนี้สินที่มีเริ่มจะผ่อนชำระไม่ไหว การหันไปพึ่งกองทุนต่าง ๆ ที่คุณเป็นสมาชิกอยู่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งก็มีทั้งที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเป็นกองทุนสวัสดิการพนักงาน หรือสหกรณ์ที่อยู่ภายในบริษัทที่คุณทำงานและเป็นสมาชิกอยู่ โดยสินเชื่อจากกองทุนเหล่านี้จะมีดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติ แต่ก็ขอเตือนว่าถ้าคิดจะใช้บริการของกองทุนเหล่านี้จริง ๆ คุณต้องมั่นใจว่าเงินที่จะได้รับมานั้นต้องสามารถลบล้างหนี้สินบางอย่างไปได้ ไม่ใช่ว่ากู้มาแล้วยิ่งกลายเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น ไม่อย่างนั้นยิ่งทำให้ปวดหัวกว่าเดิมแน่นอน

เป็นหนี้แล้วไม่มีเงินจ่าย

2. กู้สลากออมทรัพย์

         สำหรับคนที่มีเงินเก็บในรูปแบบของสลากออมทรัพย์ หากคุณพบกับปัญหาหนี้สิน ขอบอกว่าสลากออมทรัพย์เหล่านี้สามารถช่วยคุณได้โดยไม่ต้องถึงกับไถ่ถอนสลากนำเงินมาชำระหนี้ เพราะปัจจุบันนี้เราสามารถกู้เงินกับธนาคารนั้นโดยการนำสลากไปค้ำประกัน ซึ่งวิธีนี้เรียกว่าการกู้สลาก โดยเราสามารถกู้เงินได้ 90-95% ของมูลค่าสลาก แถมดอกเบี้ยก็จะถูกกว่าสินเชื่อแบบอื่น ๆ เพราะจะยึดตามอัตราดอกเบี้ยของสลากฉบับนั้น ๆ (* เงื่อนไขอาจมีการเปลี่ยนแปลง)

         อีกทั้งถ้าหากกู้แล้วก็สามารถรอให้ครบหนึ่งปีแล้วค่อยกลับมาชำระหนี้ทั้งหมด หรือจะทยอยผ่อนเป็นรายเดือนก็ได้ แต่ถ้าหากไม่สามารถไถ่ถอนหนี้สินได้ภายใน 1 ปี ก็ไปทำการต่อดอกโดยการจ่ายดอกเบี้ยแล้วยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปแบบปีต่อปีจนกว่าจะครบอายุสลาก วิธีนี้นอกจากจะไม่ทำให้คุณสูญเงินเก็บแล้ว คุณยังพอมีเวลาที่จะหมุนเงินเพื่อให้หลุดพ้นจากปัญหาหนี้สินได้ด้วยค่ะ นอกจากนี้แม้เราจะนำสลากไปค้ำประกันกับธนาคาร แต่เราก็ยังมีสิทธิ์ถูกรางวัลได้เหมือนเดิม

3. เจรจาประนอมหนี้

         ในกรณีที่ไม่สามารถชำระหนี้สินได้แล้วไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม อย่าหนีโดยเด็ดขาด แต่ให้เข้าไปปรึกษากับสถาบันการเงินตรง ๆ วิธีนี้เรียกว่าการเจรจาประนอมหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วสถาบันการเงินย่อมจะเปิดช่องทางในการเจรจาอยู่แล้ว เพียงแต่คุณต้องแสดงเจตนาอย่างชัดเจนว่าคุณนั้นต้องการจะชำระหนี้เหล่านี้จริง ๆ เพียงแต่ในขณะนั้นคุณไม่สามารถจะจ่ายชำระหนี้ได้ โดยในการเจรจาประนอมหนี้นั้นก็ได้แก่ การยืดระยะเวลาชำระหนี้ การผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ หรือการโอนหลักทรัพย์แทนการชำระหนี้ ทั้งนี้การเจรจาจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเครดิตของลูกหนี้ และการพิจารณาของสถาบันการเงินค่ะ

เป็นหนี้แล้วไม่มีเงินจ่าย

4. โอนหนี้ หรือรีไฟแนนซ์

         หากมีหนี้สินหลายอย่างจนผ่อนไม่ไหว อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยคุณได้นั่นก็คือการรีไฟแนนซ์ โดยการรีไฟแนนซ์ก็คือการขอยื่นกู้สินเชื่อก้อนใหม่เพื่อนำไปชำระหนี้สินก้อนเดิม ซึ่งในปัจจุบันก็มีการรีไฟแนนซ์หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นรีไฟแนนซ์บ้าน ที่เป็นการนำบ้านที่กำลังผ่อนชำระอยู่ไปค้ำประกันเพื่อยื่นกู้ใหม่อีกครั้ง หรือการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต ซึ่งเป็นการยื่นกู้สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิต หรือจะเป็นการรีไฟแนนซ์รถยนต์เพื่อนำเงินมาผ่อนชำระหนี้สินที่เกี่ยวข้องกับการซื้อรถยนต์นั่นเอง

         ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีสินเชื่อที่ช่วยให้ลูกหนี้สามารถโอนหนี้หลาย ๆ อย่างมาไว้เป็นหนี้สินเดียวอีกด้วย รวมทั้งโครงการคลินิกแก้หนี้ ที่แม้จะมีหนี้เสียบัตรเครดิตเพียงใบเดียว หรือมีเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายรายก็สามารถรวมหนี้ได้ ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยลดลง ง่ายต่อการชำระหนี้มากขึ้น สะดวกต่อการผ่อนชำระในระยะยาว 

หนี้บัตรเครดิต

5. ปรับโครงสร้างหนี้

         การปรับโครงสร้างหนี้ถือเป็นทางออกในการแก้ปัญหาหนี้สิน เมื่อไม่สามารถชำระหนี้สินได้ตามกำหนด หรือไม่มีกำลังพอที่จะชำระหนี้สินเดิมอีกต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสถาบันทางการเงินที่ยื่นข้อเสนอดังกล่าวมายังลูกหนี้ โดยการปรับโครงสร้างหนี้จะมี 2 วิธี คือ

- การปรับโครงสร้างหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นหนี้ใหม่

    วิธีนี้จะเป็นการนำหนี้สินเดิมมาทำข้อตกลงในจุดที่ทั้งทางสถาบันการเงินและลูกหนี้ยอมรับได้ แล้วจึงร่างเป็นสัญญาฉบับใหม่ ซึ่งสาระสำคัญของหนี้อาจเปลี่ยนไป ได้แก่ ยอดหนี้สินอาจเพิ่มขึ้น ระยะเวลาในการชำระหนี้ยาวนานขึ้น เปลี่ยนประเภทของหนี้สิน ดอกเบี้ยและวิธีการผ่อนชำระอาจลดลง เป็นต้น นอกจากนี้การปรับโครงสร้างหนี้ประเภทนี้ยังอาจเป็นการรวมหนี้สินหลาย ๆ ส่วนมาเป็นหนี้สินเดียวกันอีกด้วย

- การปรับโครงสร้างหนี้โดยการไม่แปลงเป็นหนี้สินใหม่

         การปรับโครงสร้างหนี้สินวิธีนี้จะเน้นไปที่เปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยและยอดที่ต้องชำระในแต่ละเดือน โดยไม่เซ็นสัญญาฉบับใหม่ นอกจากนี้ยังอาจมีการยืดเวลาในการชำระหนี้อีกด้วย ทำให้ลูกหนี้พอหายใจหายคอได้บ้าง

         การปรับโครงสร้างหนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีของการปรับโครงสร้างหนี้คือสามารถยืดระยะเวลาในการชำระหนี้ หรือรวบรวมหนี้สินเข้าไว้ด้วยกันเพื่อให้สะดวกต่อการชำระหนี้สิน และสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาการถูกฟ้องจากการผิดชำระหนี้หลาย ๆ ส่วนได้ ส่วนข้อเสียก็คือยอดหนี้จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินต้องบวกทั้งค่าปรับและดอกเบี้ยเข้าไปด้วย อีกทั้งถ้าหากเป็นการรวมหนี้สินหลาย ๆ ส่วนเข้าด้วยกันแล้วมีปัญหาไม่สามารถผ่อนชำระได้ก็จะทำให้ลูกหนี้ถูกฟ้องได้ง่ายขึ้น ดังนั้นลูกหนี้จึงต้องศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจค่ะ

         วิธีที่แนะนำไปข้างต้นล้วนแต่เป็นวิธีการแก้ปัญหาหนี้สินที่สามารถพาคุณผ่าทางตันไปได้ ฉะนั้นหากประสบปัญหาอย่าเพิ่งตัดสินใจแก้ไขด้วยการไปกู้นอกระบบเด็ดขาด เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้คุณหนี้สินลดลงแล้ว ยังเป็นการเพิ่มพูนหนี้สินอย่างมหาศาลอีกด้วย ค่อย ๆ ตั้งสติแล้วแก้ปัญหาหนี้สินไปอย่างใจเย็นดีกว่านะคะ



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 วิธีที่ลูกหนี้ทำได้ เมื่อเป็นหนี้แล้วไม่มีเงินจ่าย รู้ไว้ไม่เจอทางตัน อัปเดตล่าสุด 14 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 13:01:24 44,116 อ่าน
TOP