x close

เล็งสร้างสกายวอล์กเชื่อมสถานีบางซื่อ-BTS หมอชิต พาดผ่านสวนจตุจักร


เล็งสร้างสกายวอล์กเชื่อมสถานีบางซื่อ-BTS หมอชิต พาดผ่านสวนจตุจักร

          คมนาคม เล็งสร้างสกายวอล์กเชื่อมระหว่างสถานีกลางบางซื่อ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจตุจักร และบีทีเอสหมอชิต พร้อมเผยภาพจำลองสกายวอล์กพาดผ่านสวนจตุจักร เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท

          เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาทดสอบความสนใจนักลงทุน (Market Sounding) ที่จะลงทุนระบบเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณศูนย์คมนาคมพหลโยธินบริเวณบางซื่อ บนพื้นที่ 2,325 ไร่ โดยโครงการดังกล่าวจะกลายเป็นศูนย์กลางกรุงเทพมหานครในอนาคต จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เพื่อรองรับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนตามแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 10 สายทาง โดยเฉพาะสถานีกลางบางซื่อที่เป็นศูนย์กลางเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่สำคัญที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะเสร็จปี 2562 และการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรองด้วยรูปแบบการเดินรถโดยสารด่วนพิเศษ (บีอาร์ที)
          โดยนายออมสิน กล่าวว่า สำหรับการทดสอบความสนใจนักลงทุน 2 ส่วน ประกอบด้วย

          1. การพัฒนาโครงสร้างการเชื่อมต่อโครงข่ายการเดินทาง และสิทธิการพัฒนาพื้นที่รอบศูนย์กลางคมนาคม (โซน D) จำนวน 83 ไร่ โดยทำทางเดินเท้าเชื่อมต่อแบบเหนือดินหรือสกายวอล์ก  (Sky Walk) เชื่อมต่อสถานีกลางบางซื่อ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจตุจักร ระยะทางรวม 1.3 กิโลเมตร

          โดยสกายวอล์กดังกล่าวจะสร้างพาดผ่านสวนจตุจักร และมีการสร้างตอม่อบริเวณพื้นที่ถนนใกล้กับสวนสาธารณะ รวมทั้งจะมีการปรับทัศนียภาพบริเวณตอม่อเป็นทางขึ้น-ลง เพื่อเป็นจุดชมวิวคล้ายสวนลอยบาบิโลน และบริเวณทางเชื่อมระดับดินจากสถานีกลางบางซื่อไปยังสถานีย่อย บขส. ประมาณ 1.4 กิโลเมตร ซึ่งทางเดินเชื่อมนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท และประเมินว่าหากรวมมูลค่าการพัฒนาพื้นที่โซน D เต็มศักยภาพประมาณ 1 ล้านตารางเมตร ก็จะมีมูลค่าการลงทุนรวมสูงกว่า 20,000 ล้านบาท

          2. การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรองรูปแบบรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) ระยะทาง 10 กิโลเมตร พร้อมศูนย์ซ่อมบำรุงเนื้อที่กว่า 7 ไร่ เงินลงทุนประมาณ 1,700 ล้านบาท มี 16 สถานี เพื่อเชื่อมการเดินทางภายในโครงการ

          อย่างไรก็ดี ภายหลังจากรับฟังข้อคิดภาคเอกชนและประชาชนแล้ว ทาง สนข. จะนำข้อมูลไปปรับปรุงรายละเอียดของโครงการ และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ จะนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ หลังจากนั้นจะบรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าในโครงการ PPP ของกระทรวงการคลังต่อไป

ภาพจาก ทวิตเตอร์ @imtaiki

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เล็งสร้างสกายวอล์กเชื่อมสถานีบางซื่อ-BTS หมอชิต พาดผ่านสวนจตุจักร อัปเดตล่าสุด 9 พฤษภาคม 2559 เวลา 10:21:32 18,360 อ่าน
TOP