x close

คมนาคม ยืนยัน โครงการรถไฟไทย-จีน ยังมีอยู่แน่นอน




คมนาคม ยืนยัน โครงการรถไฟไทย-จีน ยังมีอยู่แน่นอน

                ยืนยัน โครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ยังมีอยู่แน่นอน เพียงแต่อาจจะชะลอการสร้างช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด เพราะความต้องการใช้ยังไม่ถึงเป้า เตรียมหารือร่วมจีนในเดือนนี้

               วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2559) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยถึงประเด็นการหารือเรื่องเส้นทางรถไฟเศรษฐกิจด้านใต้ กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-สระแก้ว-แหลมฉบัง จากการประชุมร่วมกับตัวแทนกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ที่กระทรวงคมนาคม โดยระบุว่า โครงการดังกล่าวทางญี่ปุ่นยังอยู่ระหว่างให้ที่ปรึกษาพิจารณาในรายละเอียด ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มสำรวจสภาพเส้นทางแล้ว

               สำหรับเส้นทางรถไฟ กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-สระแก้ว-แหลมฉบัง เป็นรางขนาด 1 เมตรที่มีการใช้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องดูว่าจะต้องปรับปรุงอะไร ในอนาคตก็ต้องเปลี่ยนจากรถไฟทางเดี่ยว เป็นทางคู่ เพื่อเชื่อมต่อกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของพม่า คาดว่าจะใช้เวลาศึกษา 1 ปี หรือตลอดทั้งปีนี้ จึงจะแล้วเสร็จ

               นอกจากนี้ยังมีการหารือในส่วนของรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่มีบางส่วนทับซ้อนกับรถไฟไทย-จีน โดยเฉพาะช่วงบ้านภาชี-บางซื่อ โดยมีประเด็นที่ต้องหารือ ดังนี้

               1. จะต้องแยกรางเดินรถ เพราะเป็นคนละเทคโนโลยี

              
2. เมื่อแยกแล้วการใช้พื้นที่ก็จะให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปพิจารณาว่ารถไฟจากสถานีบ้านภาชี-ดอนเมือง มีพื้นที่ใดต้องแบ่งปันกัน เพราะบางที่อาจต้องแบ่งใช้พื้นที่ หรือจัดหาพื้นที่ดินเพิ่มเติม

              
3. ส่วนตั้งแต่รังสิต-บางซื่อ เมื่อผ่านดอนเมืองจะมีพื้นที่จำกัดมาก ๆ ก็ต้องพิจารณาว่า เมื่อแยกรางแล้วจะมีที่เพียงพอหรือไม่

               ทั้งนี้กระทรวงคมนาคม ยืนยันจะเดินหน้าโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน กรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด ตามกระบวนการและแผนงานที่กำหนด และได้เดินทางไปยืนยันเรื่องดังกล่าวที่จีนแล้ว ในการเดินทางเมื่อวันที่ 28-29 มกราคมที่ผ่านมา

               อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่รองนายกรัฐมนตรีจีนเดินทางมาไทยก็ได้มีการหารือเรื่องนี้แล้ว แต่ด้วยต้นทุนที่จีนเสนอมาค่อนข้างสูง ทางไทยจึงต้องการให้จีนร่วมลงทุนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องตัดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกไป โดยที่ประชุมได้หารือร่วมกันว่าความต้องการใช้บริการช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด อาจจะยังไม่เพียงพอในขณะนี้ จึงอาจจะต้องชะลอก่อสร้างไปก่อน แต่ยืนยันว่าจะดำเนินการ โดยกำหนดไว้เป็นระยะที่ 2 และการชะลอโครงการยังช่วยลดต้นทุนดำเนินการลงได้ด้วย น่าจะราว 1.6 แสนล้านบาท จากวงเงินโครงการที่อยู่ในระดับ 5 แสนล้านบาท

               และเนื่องจากยังไม่มีการก่อสร้างช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด ทางจีนได้เสนอให้สร้างช่วงนครราชสีมา-หนองคาย เป็นทางเดี่ยว จากเดิมกำหนดเป็นทางคู่เพื่อให้รถวิ่งสวนทางกันได้ ซึ่งถือว่าไม่แปลก เพราะส่วนที่เป็นรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ในลาวก็เป็นทางเดี่ยว รถไฟที่วิ่งจากจีนเข้าเวียงจันทน์สามารถมาถึงกรุงเทพฯ ได้เลย อย่างไรก็ตามเรื่องทั้งหมดนี้จะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งในการประชุมครั้งที่ 10 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คมนาคม ยืนยัน โครงการรถไฟไทย-จีน ยังมีอยู่แน่นอน อัปเดตล่าสุด 5 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 16:09:10 7,140 อ่าน
TOP