x close

รถไฟไทย-ญี่ปุ่น เตรียมวิ่งทดสอบระบบ กาญจนบุรี-สระแก้ว ต้นปีหน้า

รถไฟไทย จีน ญี่ปุ่น

          คมนาคมเผย โครงการรถไฟไทย จีนและญี่ปุ่น เดินหน้ามาก ดันเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-สระแก้ว-แหลมฉบัง อันดับแรก พร้อมวางศิลาฤกษ์สถานีรถไฟเชียงรากน้อย


          วันที่ 19 ธันวาคมนี้ พิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อเริ่มต้นโครงการ เตรียมวิ่งทดสอบระบบช่วง ช่วงกาญจนบุรี-สระแก้ว ต้นปีหน้า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยความคืบหน้าโครงการรถไฟไทย-จีนและไทย-ญี่ปุ่นว่า มีความคืบหน้าต่อเนื่อง ซึ่งทางทีมทำงานของญี่ปุ่น เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-สระแก้ว-แหลมฉบัง ระยะทาง 574 กิโลเมตร โดยองค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ได้รายงานผลการศึกษา 5 เดือนที่ผ่านมา หลังไทยและญี่ปุ่นได้ลงนามบันทึกแสดงเจตจำนง (MOI) พัฒนาระบบรถไฟราง 1 เมตร และ 1.435 เมตร
 
          โดยเส้นทางรถไฟจะเชื่อมตะวันออก-ตะวันตกด้านใต้ และจะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOC) กับญี่ปุ่นในวันที่ 25-28 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งทางญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-สระแก้ว-แหลมฉบัง เป็นลำดับแรก แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ

          1. กรุงเทพฯ-กาญจนบุรี 180 กิโลเมตร

          2. กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ 255 กิโลเมตร

          3. กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง 139 กิโลเมตร


          นายอาคม กล่าวต่อว่า ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะมีการปรับปรุงเป็นช่วง ๆ ให้มีความแข็งแรงก่อนจะก่อสร้างเป็นรถไฟทางคู่ขนาด 1 เมตร และนำหัวรถจักรไฟฟ้ามาวิ่งให้บริการ ซึ่งในเดือนมกราคม 2559 ทางญี่ปุ่นจะนำรถตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 12 เมตร เป็นรถขนาดมินิไซส์ สามารถขนสินค้าได้ 15 ตู้ ของ JR Freight มาวิ่งทดสอบช่วงกาญจนบุรี-สระแก้ว เป็นการคิกออฟโครงการที่ร่วมมือกัน ส่วนการเดินรถร่วมกันต้องรอผลศึกษาให้เสร็จสิ้นในปีหน้า

          ด้านนายกมล ตั้งกิจเจริญชัย รองผู้ว่าการ รฟท. เปิดเผยว่า กำลังปรับปรุงเส้นทางช่วงฉะเชิงเทรา-คลองลึก ระยะทาง 176 กิโลเมตร และแยกหนองปลาดุก-กาญจนบุรี กว่า 100 กิโลเมตร เพื่อรองรับการเดินรถโครงการรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ที่จะเริ่มทดลองเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2559 ส่วนความคืบหน้ารถไฟไทย-จีน ได้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างไทยกับจีน ครั้งที่ 9 และจะลงนามกรอบความร่วมมือ วันที่ 3 ธันวาคมนี้ จากนั้นวันที่ 19 ธันวาคมนี้ จะมีพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อเริ่มต้นโครงการที่สถานีรถไฟเชียงรากน้อย ศูนย์ควบคุมและบริหารรถ

          นายกมล กล่าวต่อว่า สำหรับการก่อสร้างจะดำเนินการช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา มีกำหนดเริ่มสร้างเดือนพฤษภาคม 2559 หลังได้ข้อยุติแล้ว ส่วนพื้นที่ทับซ้อนกันในช่วงกรุงเทพฯ-บ้านภาชี จะต้องมีการหารือกันต่อไป เนื่องจากญี่ปุ่นต้องการแยกรางสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่ใช้ระบบชินคันเซ็น
 
          อย่างไรก็ตาม มีรายงานเพิ่มเติมว่า จากการตกลงเรื่องโครงการสร้างรถไฟนั้น ทางจีนยอมให้ปรับจุดเริ่มต้นโครงการจากเดิมสถานีบางซื่อไปอยู่ที่สถานีเชียงรากน้อยแทนเป็นจุดแรก เนื่องจากมีพื้นที่ทับซ้อนกับแนวรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งในอนาคตสถานีเชียงรากน้อยจะเป็นศูนย์ควบคุมการเดินรถไฟความเร็วปานกลางของจีนที่วิ่งด้วยความเร็ว 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และรองรับระบบรถไฟราง 1 เมตรที่มีอยู่ปัจจุบัน รวมทั้งเส้นทางรถไฟที่จะสร้างเพิ่มขึ้นในอนาคต

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รถไฟไทย-ญี่ปุ่น เตรียมวิ่งทดสอบระบบ กาญจนบุรี-สระแก้ว ต้นปีหน้า อัปเดตล่าสุด 27 พฤศจิกายน 2558 เวลา 17:14:47 15,925 อ่าน
TOP