x close

Special Economic Zone เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ "โอกาสทอง" SMEs ไทย

Special Economic Zone เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โอกาสทอง SMEs ไทย

           เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ คืออะไร แล้วจะเป็นโอกาสของธุรกิจ SMEs ไทย ได้อย่างไร มาทำความเข้าใจกับพื้นที่เหล่านี้ให้มากขึ้น

           เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ใน 6 พื้นที่ 7 ด่าน เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่ส่งผลดีโดยตรงต่อผู้ประกอบการ SMEs ของไทย นิตยสาร SME Today โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เลยจะพาไปเจาะลึกให้เข้าใจถึงจุดเด่น และศักยภาพของแต่ละพื้นที่เพื่อเป็นช่องทางสร้างโอกาส

           จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านสู่ "ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" ทั้งในเรื่องคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนตลอดจนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านธุรกิจ การค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการไทย ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปลายปี 2558 ที่จะถึงนี้

           หนึ่งในภารกิจสำคัญคือการจัดตั้ง "เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ" (Special Economic Zone : SEZ) ในระยะแรก จำนวน 6 พื้นที่ (7 ด่าน) ได้แก่ ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร สงขลา (สะเดาและปาดังเบซาร์) และหนองคาย โดยรัฐบาลได้มีมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสงค์จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษด้วยการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ผ่านศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร (SME One Stop Service : OSS) ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และพันธมิตร

Special Economic Zone เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โอกาสทอง SMEs ไทย

ทำไมต้องลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ?

           "เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ" เป็นพื้นที่ที่มีส่วนเชื่อมต่อกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ทิศเหนือ เชื่อมกับเมียนมาที่จังหวัดตากและกาญจนบุรี ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่เชียงราย มุกดาหาร หนองคาย และนครพนม ทิศตะวันออก เชื่อมกับกัมพูชา ที่สระแก้วและตราด ส่วนทิศใต้ เชื่อมกับมาเลเซียที่สงขลาและนราธิวาส

           ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2553-2557) มูลค่าการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านข้างต้น ทั้ง 4 ประเทศมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าเฉลี่ยสูงถึง 900,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มจะขยายตัวได้อีกมาก ภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในสิ้นปี 2558 ปัจจุบัน มีธุรกิจประเภทศูนย์กระจายสินค้า รวมถึงอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เริ่มสนใจเข้าไปลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากสามารถเข้าถึงแรงงานราคาถูก สะดวกในการกระจายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และให้การนำเข้าสินค้า วัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนต่าง ๆ เป็นไปอย่างง่ายดาย

           ในอนาคต เมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนย่อมต้องมีการติดต่อทางธุรกิจ เชื่อมโยงด้านวัตถุดิบและห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain) รวมถึงตลาดผู้บริโภคในประเทศที่จะมีการเชื่อมต่อกับชายแดนมากขึ้น นักลงทุนที่ต้องการเข้าไปลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากจะได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรที่มากกว่าการประกอบธุรกิจหรือการลงทุนในพื้นที่ทั่วไปแล้ว ยังจะได้รับประโยชน์จากการใช้แรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย

           นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายและมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ เช่น การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นเพื่อรองรับการลงทุน การจัดหาพื้นที่ให้เช่า รวมถึงการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จแบบครบวงจร One Stop Service (OSS) เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการและนักลงทุน

           สำหรับธุรกิจหรืออุตสาหกรรม ที่เหมาะจะลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ อุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก (Labor Intensive) อุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากประเทศใกล้เคียง ธุรกิจการค้าชายแดนที่ต้องมีการตั้งคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า เพื่อส่งไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน ธุรกิจสนับสนุนการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจบริการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชนโดยรอบ ที่ขาดไม่ได้คือ 13 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ตาก

           "ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศเครือข่ายอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น"
          
          มีพื้นที่ 14 ตำบล ใน 3 อำเภอ ที่ติดชายแดน ได้แก่ อ.แม่สอด อ.พบพระ อ.แม่ระมาด รวม 1,419 ตารางกิโลเมตร (886,875 ไร่)

          ด่านชายแดนแม่สอด เป็นจุดผ่านแดนถาวรที่เชื่อมต่อกับเมืองเมียวดี ของเมียนมา มีมูลค่าการค้าระหว่างไทย - เมียนมา สูงเป็นอันดับหนึ่ง (ไม่นับรวม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ)

ศักยภาพ และโอกาส

          ตั้งอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor)
          สามารถเชื่อมต่อไปยังอินเดีย และจีนตอนใต้
          ฝั่งตะวันตกสามารถเป็นประตูเชื่อมต่อไปยังย่างกุ้ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเมียนมา
          พื้นที่ชายแดนฝั่งเมียนมายังมีแรงงานจำนวนมากพร้อมรองรับการจ้างงานที่แม่สอด รวมทั้งสามารถดำเนินกิจการในลักษณะ "อุตสาหกรรมการผลิตร่วม" (co-production) กับนิคมอุตสาหกรรมเมียวดี

มุกดาหาร

           "ศูนย์ค้าส่งและขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ"

          มีพื้นที่ 11 ตำบล ใน 3 อำเภอที่ติดชายแดน ได้แก่ อ.เมืองมุกดาหาร อ.หว้านใหญ่ อ.ดอนตาล รวม 578.5 ตารางกิโลเมตร (361,542 ไร่)

          ด่านชายแดนมุกดาหาร เป็นจุดผ่านแดนถาวรเชื่อมต่อกับแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว มีมูลค่าการค้าระหว่างไทย กับ สปป.ลาว สูงเป็นอันดับสอง

ศักยภาพ และโอกาส


          ตั้งอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ลาวและเวียดนาม และต่อเนื่องไปยังประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน

          เป็นช่องทางที่สำคัญในการขนส่งสินค้า เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลไม้ เครื่องดื่ม ไปยังเวียดนาม และจีนตอนใต้

          สามารถร่วมดำเนินกิจการในลักษณะ "อุตสาหกรรมการผลิตร่วม" (co-production) กับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน (สปป.ลาว) ซึ่งมีการลงทุนที่หลากหลายจากต่างประเทศ เช่น โรงงานผลิตชิ้นส่วนกล้องถ่ายรูปจากญี่ปุ่น (Nikon) และโรงงานผลิตเบาะและอุปกรณ์บนเครื่องบินจากเนเธอร์แลนด์ (Aeroworks)

ตราด

           "ศูนย์กลางการค้าส่ง ขนส่งต่อเนื่องระหว่างประเทศ และศูนย์กลางให้บริการการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค"

          มีพื้นที่ 3 ตำบล ใน อ.คลองใหญ่ ที่ติดชายแดน ได้แก่ ตำบลคลองใหญ่ ตำบลหาดเล็ก ตำบลไม้รูด รวม 50.2 ตารางกิโลเมตร (31,375 ไร่)

          ด่านชายแดนบ้านหาดเล็กเป็นจุดผ่านแดนถาวร เชื่อมต่อกับจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา

ศักยภาพ และโอกาส

          ตั้งอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้สามารถเข้าถึงท่าเรือแหลมฉบัง (ประมาณ 340 กม.) รวมถึงท่าเรือสีหนุวิลล์ (กัมพูชา) (ประมาณ 250 กม.)

          มีฐานการท่องเที่ยวในพื้นที่ สามารถเชื่อมโยงกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง (กัมพูชา) ซึ่งมีการลงทุนจากต่างชาติ เช่น โรงงานผลิตรถยนต์เกาหลี (Hyundai) โรงงานผลิตลูกวอลเลย์บอล (Mikasa) และโรงงานผลิตสายไฟในรถยนต์ (Yazaki) จากญี่ปุ่น

หนองคาย

           "การค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ"

          มีพื้นที่ 13 ตำบล ใน 2 อำเภอ ที่ติดชายแดน ได้แก่ อ.เมืองหนองคาย และ อ.สระใคร

ศักยภาพ และโอกาส

          เป็นช่องทางการค้าชายแดนของไทย กับ สปป.ลาว ที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงที่สุด เมื่อเทียบกับการค้าชายแดนผ่านด่านอื่น ๆ ระหว่างสองประเทศนี้ รวมทั้งอยู่ใกล้กับสนามบินอุดรธานี (ประมาณ 60 กม.)

          สามารถเชื่อมโยงกับเวียงจันทน์ (ลาว) (ประมาณ 26 กม.) ได้ทั้งทางถนน และทางรถไฟ ซึ่งเป็นเส้นทางต่อเนื่องลงมาถึงกรุงเทพฯ ดังนั้นหนองคายจึงมีโครงข่ายการขนส่ง ทั้งทางถนน รถไฟ และทางอากาศ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ระหว่างหนองคาย สปป.ลาว (เวียงจันทน์ / หลวงพระบาง) และกรุงเทพฯ นอกจากนั้น ความเป็นเมืองน่าอยู่ของหนองคาย จะช่วยดึงดูดนักลงทุนและเจ้าของกิจการ ทั้งไทยและต่างชาติ ให้เข้ามาพักอาศัยมากขึ้น

สระแก้ว

           "ศูนย์อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ"

          มีพื้นที่ 4 ตำบล ใน 2 อำเภอ ที่ติดชายแดน ได้แก่ อ.อรัญประเทศ อ.วัฒนานคร รวม 332 ตารางกิโลเมตร (207,500 ไร่)

          ด่านชายแดนอรัญประเทศ เป็นจุดผ่านแดนถาวร เชื่อมต่อกับจังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา มีมูลค่าการค้าระหว่างไทย-กัมพูชา สูงที่สุด

ศักยภาพ และโอกาส

          เป็นพื้นที่ค้าส่งระหว่างประเทศและค้าปลีกที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากอรัญประเทศ ตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง (250 กม.) และกรุงเทพฯ (260 กม.)

          อยู่ในแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญของไทยในการขนส่งสินค้าไปยังพนมเปญและเวียดนามตอนใต้ รวมทั้งสามารถดำเนินกิจการในลักษณะอุตสาหกรรมการผลิตร่วมกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษปอยเปต-โอเนียง (กัมพูชา) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากนักลงทุนไทย เช่น โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า กล่องใส่เครื่องประดับ ซึ่งใช้แรงงานเข้มข้น

          ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้กับสินค้าที่ผลิตในประเทศที่กำลังพัฒนาโดยลดหรือยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าที่อยู่ในกลุ่มได้รับสิทธิ (Generalized System of Preferences : GSP)

สงขลา

           "อุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อการส่งออกการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ"

          มีพื้นที่ 4 ตำบล ใน อ.สะเดา ที่ติดชายแดน ได้แก่ ตำบลสะเดา ตำบลสำนักขาม ตำบลสำนักแต้ว ตำบลปาดังเบซาร์ รวม 552.3 ตารางกิโลเมตร (345,187.5 ไร่)

          ด่านชายแดนสะเดา และด่านชายแดนปาดังเบซาร์ เป็นจุดผ่านแดนถาวร เชื่อมต่อกับรัฐเคดาห์และรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงสุดอันดับหนึ่งและสองตามลำดับ

ศักยภาพ และโอกาส

          เป็นจังหวัดศูนย์กลางของภาคใต้มีด่านสะเดาและด่านปาดังเบซาร์ซึ่งเป็นด่านทางบกที่มีมูลค่าการค้าสูงสุด ทั้งสองพื้นที่อยู่ใกล้ท่าเรือปีนัง และท่าเรือกลางของมาเลเซีย มีการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย-มาเลเซีย ผ่านทางปาดังเบซาร์ มีฐานการผลิตในพื้นที่ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา อาหารทะเล และอิเล็กทรอนิกส์

          เป็นพื้นที่ภายใต้โครงการความร่วมมือเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ให้ขยายออกสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโอกาสการพัฒนาเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษร่วม ระหว่างสะเดากับบูกิตกายูฮีตัม (มาเลเซีย) เพื่อการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและบริการ เป็นการขยายความร่วมมือทางการค้าการลงทุนต่อเนื่องในแนวทางด่วนเหนือ-ใต้ (North-South Expressway) ในมาเลเซีย เข้าสู่พื้นที่ตอนใน
ของมาเลเซีย

ทำธุรกิจ คิดคนเดียวทำไม ?

           สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้นำร่องเปิดศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจรขึ้นทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่ ในกรุงเทพมหานคร ณ ที่ทำการของ สสว. และในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 6 จังหวัด ได้แก่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก (สำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ) จังหวัดสระแก้ว (ศาลากลางจังหวัด) จังหวัดมุกดาหาร (ศาลากลางจังหวัด) จังหวัดตราด (ศาลากลางจังหวัด) จังหวัดหนองคาย (ศาลากลางจังหวัด) และจังหวัดสงขลา (ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค) เป็นที่เรียบร้อย

           โดยบริการของศูนย์ OSS ของ สสว. จะครอบคลุมการให้บริการคำปรึกษาและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเงินและบัญชี ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ด้านการตลาด ด้านการผลิต คุณภาพ และมาตรฐาน รวมถึงการจัดอบรมให้ความรู้ ที่สอดรับกับความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs

ภาพจาก นิตยสาร SME Today
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

โดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
โดย กองบรรณาธิการ, A Guide to Investment in the Special Economic Zone


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Special Economic Zone เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ "โอกาสทอง" SMEs ไทย อัปเดตล่าสุด 2 ตุลาคม 2558 เวลา 17:42:55 7,325 อ่าน
TOP