x close

เมื่อเริ่มทำงานใหม่ ๆ ต้องบริหารเงินอย่างไรดี

เมื่อเริ่มทำงานใหม่ ๆ ต้องบริหารเงินอย่างไรดี

            เมื่อเริ่มทำงานควรวางแผนบริหารเงิน โดยเก็บออมเงินสม่ำเสมอทุกเดือน วางแผนซื้อบ้านหรือรถ และวางแผนภาษีตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อความมั่งคั่งและมั่นคงในระยะยาว
   

            เมื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงานอย่างเต็มตัว ทุก ๆ สิ้นเดือนก็จะมีเงินโอนเข้าบัญชี หลายคนดีใจที่สามารถหาเงินได้ด้วยตัวเอง แต่ก็แอบกังวลไม่ได้ว่าจะบริหารจัดการเงินก้อนที่ได้รับอย่างไรดีเพื่อให้มีเงินใช้ไปนาน ๆ และสามารถบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้น K-Expert มีคำแนะนำในการบริหารเงินที่ได้รับจากการทำงานมาฝากค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บออมเงิน วางแผนซื้อบ้านและรถ รวมถึงการวางแผนภาษี ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลยค่ะ

ทำอย่างไรให้เก็บเงินอยู่

            ปัญหาหนึ่งที่วัยเริ่มต้นทำงานหลายคนมักจะเจอคือ การเก็บเงินไม่อยู่ ต้องใช้แบบเดือนชนเดือน หรือบางคนแย่กว่านั้นถึงขั้นต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้เลยก็มี ที่เป็นแบบนี้เนื่องจากรายจ่ายในแต่ละเดือนมากกว่ารายรับ การปรับลดรายจ่ายจึงเป็นวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ค่ะ แนะนำให้เริ่มต้นจากการจดบันทึกรายรับรายจ่ายซึ่งจะช่วยให้เรารู้ว่า ในแต่ละเดือนเราหมดเงินส่วนใหญ่ไปกับค่าใช้จ่ายอะไร เช่น หากเราหมดเงินส่วนใหญ่ไปกับค่าเสื้อผ้าหรือการไปปาร์ตี้สังสรรค์ ก็ให้ปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงโดยลดการไปช้อปปิ้งหรือลดการไปปาร์ตี้สังสรรค์ลงบ้างก็จะช่วยให้เรามีเงินเหลือมาเก็บออมมากขึ้นค่ะ

            และเพื่อให้เราเก็บเงินอยู่ และมีเงินเก็บทุกเดือน แนะนำให้เก็บออมก่อนใช้ค่ะ หากเพิ่งเริ่มออมให้เริ่มจากการออมก่อนใช้อย่างน้อย 10% ของรายได้ในแต่ละเดือน และควรออมไว้ในบัญชีเงินฝากหรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นเพื่อเป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เมื่อออมเงินส่วนนี้ครบแล้วค่อยนำเงินออมในแต่ละเดือนไปลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้มากขึ้น อาจเริ่มจากการลงทุนในกองทุนรวมก่อนค่ะ เพราะมีสินทรัพย์ให้เลือกลงทุนหลากหลายตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และมีผู้จัดการกองทุนเป็นผู้บริหารเงินลงทุนให้เราค่ะ

เมื่อเริ่มทำงานใหม่ ๆ ต้องบริหารเงินอย่างไรดี

บ้านหรือรถ ซื้ออะไรก่อนดี

            สำหรับคนที่สงสัยว่า ควรจะซื้อบ้านหรือรถก่อนกัน เชื่อว่าคงไม่มีคำตอบตายตัวค่ะ เพราะแต่ละคนก็มีความจำเป็นที่แตกต่างกัน เช่น หากงานที่เราทำจะต้องออกไปพบปะลูกค้าในสถานที่ต่าง ๆ เป็นประจำ การซื้อรถเพื่อใช้ในการทำงานก็ถือว่ามีความจำเป็นมากกว่า แต่หากเราเป็นคนต่างจังหวัดแล้วได้งานทำในกรุงเทพฯ การซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ก็เป็นสิ่งจำเป็นมากกว่าการซื้อรถค่ะ โดยทั่วไปแล้ว การซื้อบ้านก่อนซื้อรถจะมีความคุ้มค่ามากกว่า เพราะเมื่อจ่ายเงินซื้อบ้านไปแล้ว มูลค่าของบ้านมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมากกว่ามูลค่าของรถ นอกจากนี้ การใช้รถมักมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งค่าน้ำมัน ค่าประกันภัยรถ และค่าบำรุงรักษา เป็นต้น

            เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะซื้อบ้านหรือรถ ขั้นตอนต่อมาคือ เลือกขนาดของบ้านและรถให้เหมาะสมค่ะ เนื่องจากในการขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านหรือรถนั้นควรประเมินว่า เรามีความสามารถในการผ่อนได้มากน้อยแค่ไหน โดยภาระผ่อนสินเชื่อทั้งหมดไม่ควรเกิน 30% ของรายได้ต่อเดือนค่ะ และควรพิจารณาเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงานประกอบด้วย เนื่องจากการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เป็นการผ่อนสินเชื่อระยะยาว โดยทั่วไปรถผ่อนประมาณ 4-7 ปี ส่วนบ้านผ่อนประมาณ 20-30 ปีค่ะ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อบ้านหรือรถ อย่าลืมพิจารณาปัจจัยเหล่านี้เพื่อป้องกันไม่ให้บ้านหรือรถต้องกลายเป็นภาระทางการเงินของเราต่อไปในอนาคตค่ะ

เมื่อเริ่มทำงานใหม่ ๆ ต้องบริหารเงินอย่างไรดี

วางแผนภาษีอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด

            การวางแผนภาษีถือเป็นเรื่องใหม่ของคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน ซึ่งโดยปกติแล้วคนที่มีรายได้เป็นเงินเดือน หากรายได้ทั้งปีมากกว่า 240,000 บาท และไม่ได้ใช้สิทธิค่าลดหย่อนต่าง ๆ ก็จะต้องเริ่มเสียภาษี แต่หากต้องการลดภาระภาษีก็ควรทำความรู้จักกับค่าลดหย่อนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าลดหย่อนตนเองและสมาชิกในครอบครัว เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัวของผู้มีเงินได้ ค่าลดหย่อนบิดามารดา ค่าลดหย่อนบุตร หรือค่าลดหย่อนจากการออมและลงทุน เช่น เงินสมทบกองทุนประกันสังคม เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และค่าเบี้ยประกันชีวิต เป็นต้น

            สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มทำงานในปีแรกแล้วยังไม่มีภาระภาษีเกิดขึ้น ก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจว่าตัวเองไม่ต้องยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90 หรือ 91) นะคะ เพราะกฎหมายกำหนดว่า หากเรามีรายได้ที่เป็นเงินเดือน (รายได้ตามมาตรา 40(1)) ตั้งแต่ 50,000 บาทต่อปีขึ้นไป ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 หรือ 91 ด้วย โดยหากมีรายได้เฉพาะเงินเดือนต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 แต่หากมีรายได้ประเภทอื่นด้วยต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 ค่ะ

            หวังว่า 3 เทคนิคบริหารเงินเมื่อเริ่มทำงานที่นำมาแนะนำข้างต้นคงไม่ยากเกินไป สามารถนำไปใช้ได้จริง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่เริ่มต้นทำงานบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีเงินใช้ไปนาน ๆ เพื่อสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงได้ในระยะยาวค่ะ ติดตามบทความที่เกี่ยวข้องกับ "บริหารเงินอย่างไรเมื่อเริ่มทำงาน" ได้ที่ www.askKBank.com/K-Expert หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติมสามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทยได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com

K-Expert Action

         จดบันทึกรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือน และปรับลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลง
         วางแผนซื้อบ้านหรือรถตามความจำเป็น โดยเตรียมเงินดาวน์ไว้ล่วงหน้า
         ศึกษาข้อมูลเรื่องการลดหย่อนภาษี และวางแผนภาษีตั้งแต่เนิ่น ๆ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อเริ่มทำงานใหม่ ๆ ต้องบริหารเงินอย่างไรดี อัปเดตล่าสุด 14 ตุลาคม 2558 เวลา 16:53:39 5,902 อ่าน
TOP