x close

เคล็ด (ไม่) ลับ จำให้ขึ้นใจ อยากช้อปปิ้งออนไลน์ให้ปลอดภัย ต้องทำตามนี้

เคล็ดไม่ลับ อยากช้อปปิ้งออนไลน์ให้ปลอดภัย

          ช้อปปิ้งออนไลน์ แม้จะสะดวกสบายก็จริง แต่ก็ต้องระวังให้ดี ไม่อยากโดนโกงให้ปวดใจต้องรู้ให้ทัน !

          นับวันเทคโนโลยีก็ยิ่งเพิ่มความสะดวกสบายให้กับเรา จนเราแทบจะไม่ต้องลุกจากเก้าอี้ไปไหนก็สามารถช้อปปิ้งของที่ถูกใจได้แล้ว แต่บางทีก็ต้องอย่าลืมว่าการช้อปปิ้งออนไลน์นั้นก็มีช่องโหว่ที่อันตรายเหมือนกัน และก็อาจจะมีมิจฉาชีพบางรายซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังร้านออนไลน์ที่ดูน่าเชื่อถือ ฉะนั้นถ้าไม่อยากให้ตัวเองต้องมาเจ็บหนักกับการถูกฉ้อโกง ต้องมาอ่านที่เว็บไซต์ Lisa นำมาฝากกัน เพื่อจะได้รู้เท่าทันไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

          ประการแรกที่เราต้องทำความเข้าใจนั่นคือ สินค้าที่เราเล็งไว้ไม่ได้เห็นด้วยตา จับด้วยมือ หรือสวมใส่ก่อนซื้อจริง บ้างก็สวยเว่อร์อยู่บนจอคอมพิวเตอร์ที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าระดับโปรเฟสชั่นแนล รู้ดีว่าภาพสวย ๆ นั้นจะทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการง่ายขึ้น ฉะนั้นผู้ซื้ออย่างเราต้องเตรียมใจไว้ด้วยว่าอาจจะโดนหลอกได้ด้วยภาพ นอกจากว่าสินค้าชิ้นนี้ แบรนด์นั้นเรารู้จักดีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม "ของสวยแต่รูป" นี้ยังเป็นความ ‘ไม่เวิร์ก" ที่เบสิกมากสำหรับนักช้อปออนไลน์ เพราะพิษภัยอันตรายจากการช้อปปิ้งด้วยวิธีนี้มันลามไปได้ไกลกว่านั้น

แม่ค้าวายร้าย-เชิดเงินหนี

          คุณชิ แม่ค้าออนไลน์ได้มาระบายความทุกข์ใจไว้ในเว็บไซต์พันทิปเพื่อเป็นอุทาหรณ์พร้อมประจานความขี้โกงของแม่ค้าออนไลน์ด้วยกัน ที่เชิดเงินค่ารองเท้าของเธอไปหลายพันบาท เธอไม่ใช่คนเดียวที่โดนหลอกให้จ่ายเงินไปก่อน แต่ยังมีลูกค้าเพจเฟซบุ๊กขายรองเท้านี้อีกหลายรายที่เสียเงินไปแต่ไม่ได้ของ รวม ๆ แล้วผู้ร้ายในคราบเจ้าของร้านออนไลน์ได้เงินไปร่วมแสน หนำซ้ำยังไม่แคร์ที่โดนลูกค้าเข้ามาด่าผ่านสื่อ เพราะการแจ้งความของคุณชิ กลับทำอะไรคนขายไม่ได้

          กรณีเช่นนี้นักช้อปออนไลน์ตัวยงไม่หลงกลง่าย ๆ แต่หลายครั้งก็พลาดได้ เพราะความไว้ใจและราคาออนไลน์มันยวนใจนัก (สินค้าออนไลน์มักราคาถูกกว่าในช็อปเนี่ยสิ) แถมส่งของถึงบ้านอีกต่างหาก เลยกลายเป็นช่องทางหาเงินของมิจฉาชีพ เพราะการซื้อของออนไลน์ต้องชำระเงินก่อนเท่านั้นจึงจะจัดส่ง เนื่องจากแม่ค้าก็กลัวถูกลูกค้าโกงในทางกลับกัน

          นอกเหนือไปจากการเชิดเงินหนี อีกกลโกงที่พบเจอบ่อย ๆ คือแม่ค้าวายร้ายขายของปลอม โดยใช้ราคาที่ถูกเว่อร์เป็นตัวล่อ มักเกิดขึ้นกับสินค้าแบรนด์เนมทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม ถึงจะโดนเชิดเงินหรือได้ของย้อมแมว ผู้ซื้ออย่างเรายังพอจะป้องกันตัวเองได้ และสามารถแจ้งความดำเนินคดี แต่หากเป็นเว็บช้อปปิ้งออนไลน์ที่รับจ่ายด้วยบัตรเครดิต ภัยที่ตามมาน่าปวดหัวกว่าเยอะ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าบัตรเราอาจจะถูกนำไปใช้โดยบุคคลที่สาม

เคล็ดไม่ลับ อยากช้อปปิ้งออนไลน์ให้ปลอดภัย

ขโมยข้อมูลบัตรเครดิตทำได้


          ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่า แฮกเกอร์แดนมะกันทำแสบ ฉกข้อมูลบัตรเครดิตนับล้านใบไปขายในตลาดมืดและบนอินเทอร์เน็ต บางธนาคารไม่รู้เรื่องเลยด้วยซ้ำ ส่วนบางแห่งก็ยังลังเลว่าจะยกเลิกบัตรดีหรือไม่ เพราะใกล้ช่วงเทศกาลที่คนจับจ่ายใช้สอยมากกว่าปกติ จึงแก้ปัญหาด้วยการซื้อข้อมูลลูกค้ากลับมาจากตลาดมืด โดยปกปิดเรื่องนี้ไว้ หวานคอแฮกเกอร์เลยสิ

          วิธีการขโมยข้อมูลบัตรเครดิตง่ายนิดเดียว คือ สร้างหน้าเว็บปลอมสวมรอยหน้าเว็บจริง หรือที่เรียกว่า เว็บ Phishing เพื่อดักขโมยข้อมูลซึ่งมีหลายรูปแบบมากทั้งแบบหน้าเว็บร้านค้า ธนาคาร หรือเว็บจ่ายเงิน ฉะนั้นไม่ว่าเราจะเป็นคนชาติไหน หากเข้าไปซื้อของออนไลน์ที่โยงใยกันทั่วโลก โดยเฉพาะเว็บแบรนด์เนมสากลต่าง ๆ ก็มีสิทธิ์โดนทั้งนั้น อย่างในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ที่พบว่าการหลอกลวงในรูปแบบฟิชชิ่งเพิ่มขึ้นถึง 585% เลยทีเดียว โดยครอบคลุมแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมากกว่า 300 แบรนด์ทั่วโลก

          นอกจากนี้ก็ยังมีวิธีหลอกล่อให้ดาวน์โหลดมัลแวร์โดยไม่รู้ตัว จำพวกป๊อปอัพให้คลิกดาวน์โหลดเป็นต้น โปรแกรมมัลแวร์ก็จะเข้าไปสิงสู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ถ้าเป็นโน้ตบุ๊กหรือคอมพิวเตอร์ที่โยงเป็นระบบเครือข่ายอย่างในสถานที่ทำงาน ก็จะทำลายระบบและโจรกรรมข้อมูลกันได้ง่าย ๆ การช้อปปิ้งออนไลน์กลายเป็นการขายข้อมูลบริษัทไปซะงั้น รู้อย่างนี้แล้ว สาว ๆ ต้องป้องกันตัวเองให้ดี ที่สำคัญอย่าเผลอหลงเชื่อกลต่าง ๆ ไม่ว่าราคาที่ยวนใจผิดปกติ การโหลดข้อมูลที่ไม่ต้องการ และเช็กตรวจสอบฟีดแบ็คของผู้ขายนั้น ๆ บ้างหากมีช่องทาง เพื่อความปลอดภัยสบายใจไว้ก่อน

ถ้าโดนโกงทำอะไรได้บ้าง

          สำหรับภัยร้ายที่เกิดจากกลโกงของแม่ค้า หากเป็นการโอนเงินผ่านธนาคาร สามารถแจ้งธนาคารว่า เป็นการโอนผิดบัญชี ธนาคารก็จะตรวจสอบไปยังบัญชีปลายทาง หากแม่ค้ามีใบเสร็จยืนยันหรือหลักฐานการขายสินค้าก็แล้วไป แต่ถ้าไม่มีธนาคารก็จะโอนเงินกลับมายังบัญชีเรา นอกจากนี้หากมีผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกับเราเยอะ ให้รวมตัวกันและนำหลักฐานที่โดนโกงไปแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ถ้ามียอดโกงมากถึงขั้นแถลงข่าวกันได้เลย

เคล็ดไม่ลับ อยากช้อปปิ้งออนไลน์ให้ปลอดภัย

ช้อปอย่างไรให้ปลอดภัย

         เลือกช้อปกับร้านค้าที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือช้อปผ่านเว็บไซต์ขายของอย่าง Weloveshopping และ Tarad เป็นต้น เพราะแม่ค้าพ่อค้าในนี้ต้องลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชน และหมายเลขบัญชี อย่างน้อยถ้าโกงเราก็ยังสามารถตามตัวได้ง่าย

         สินค้าที่มีราคาสูงอาจต่อรองด้วยการขอจ่ายมัดจำก่อน และนัดดูของกัน เมื่อรับสินค้าเรียบร้อยจึงจ่ายเงินที่เหลือให้

         ถ้ากลัวถูกแฮกข้อมูลบัตรเครดิตต้องพิจารณาก่อนคลิกทุกครั้งที่เปิดหน้าเว็บเพจใด ๆ ก็ตาม โดยเฉพาะ Web search เช่น Google, MSN และ Yahoo พวกนี้เป็นเว็บที่ต้องระวังเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นที่รวมของลิงก์ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งอาจมีลิงก์มัลแวร์แฝงตัวอยู่ และเมื่อจะต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวอย่างข้อมูลบัตรเครดิต ก็สังเกตที่ช่อง URL ว่ามีการเข้ารหัสความปลอดภัยแบบ https หรือไม่

         อัพเดทโปรแกรมแอนตี้ไวรัส หมั่นสแกนไวรัสและมัลแวร์ในเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่เสมอ จะได้ไม่ถูกโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวไปแบบไม่รู้ตัว

          ไม่ใช่เรื่องยากเลยใช่ไหมกับทริคเหล่านี้ที่นำมาฝาก แค่เพียงคุณหันกลับมาใส่ใจป้องกันสิทธิ์และเงินในกระเป๋าของตัวเองให้มากขึ้น คุณจะได้ช้อปปิ้งได้สบายใจ สบายกระเป๋ามากกว่าเดิมอย่างแน่นอน


ขอบคุณข้อมูลจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เคล็ด (ไม่) ลับ จำให้ขึ้นใจ อยากช้อปปิ้งออนไลน์ให้ปลอดภัย ต้องทำตามนี้ อัปเดตล่าสุด 11 สิงหาคม 2558 เวลา 11:03:52 3,553 อ่าน
TOP