x close

เอาแน่ ! รถไฟไฮสปีด กทม.-เชียงใหม่ เริ่มก่อสร้างไม่เกินปลายปี 60

รถไฟไฮสปีด กทม.-เชียงใหม่ เริ่มก่อสร้างไม่เกินปลายปี 60

          รัฐบาลไทย-ญี่ปุ่น เตรียมลงนาม MOU เริ่มสำรวจเส้นทางปลายปีนี้ ก่อสร้างไม่เกินปลายปี 60 คาดหากนั่งจาก กทม.-เชียงใหม่ ใช้เวลา แค่ 3 ชม.

          วันที่ 16 เมษายน 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่นั้น ทางรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นจะร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อร่วมกันศึกษาและออกแบบรายละเอียดโครงการ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มสำรวจเส้นทางในปลายปีนี้ และจะเริ่มก่อสร้างไม่เกินปลายปี 2560 คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 3-4 ปี

          อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าขณะนี้นั้น ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาเส้นทางเสร็จแล้ว โดยมีระยะทางรวม 672 กิโลเมตร ซึ่งโครงการนี้ใช้เงินลงทุนรวม 426,898 ล้านบาท มี 12 สถานี แต่ละสถานีจะมีการออกแบบเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดนั้น ๆ  ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างขออนุมัติ รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

          ทั้งนี้ในเบื้องต้นคาดว่าจะมีการเวนคืนที่ดิน 7,724 ไร่ และจำนวนแปลงที่ดิน 2,700 แปลง คิดเป็นค่าเวนคืน 10,814 ล้านบาท โดยแนวเส้นทางที่จะก่อสร้างมี 2 ระยะคือ
 
ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก

          มีระยะทาง 384 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 212,893 ล้านบาท พาดผ่านพื้นที่ 8 จังหวัด มี 7 สถานี ได้แก่

          สถานีบางซื่อ

          ดอนเมือง

          อยุธยา

          ลพบุรี (ป่าหวาย)

          นครสวรรค์

          พิจิตร

          พิษณุโลก

          ทั้งนี้จะมี 2 สถานีที่สร้างอยู่บนที่ใหม่ ได้แก่ สถานีลพบุรีจะสร้างอยู่ป่าหวาย ห่างจากตัวเมือง 5 กิโลเมตร และสถานีพิจิตร ห่างจากตัวเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร อีก 5 สถานีที่เหลือจะสร้างอยู่ที่เดิมเป็นสถานีรถไฟในเมือง มีศูนย์ซ่อมบำรุงที่สถานีเชียงราก

          สำหรับรูปแบบการก่อสร้างใน ช่วงกรุงเทพฯ-อยุธยา นั้นจะต้องออกแบบโครงสร้างให้เป็นทางยกระดับ ระยะทาง 67 กิโลเมตร เนื่องจากมีจุดตัดถนนเป็นจำนวนมาก ในของส่วนช่วงผ่านเมืองลพบุรีจะขุดอุโมงค์ยาว 4 กิโลเมตร ลึกลงไปในชั้นใต้ดินผิวทางรถไฟเดิมประมาณ 20-30 เมตร และช่วงผ่านบึงบอระเพ็ดเป็นทางยกระดับยาว 8.5 กิโลเมตร ที่เหลือเป็นคานดิน

ระยะที่ 2 ช่วง พิษณุโลก-เชียงใหม่

          มีระยะทาง 285 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 214,005 ล้านบาท เป็นเส้นทางตัดใหม่ช่วงจังหวัดสุโขทัย-ลำปาง โดยจะเริ่มต้นจากจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเมื่อออกจากพิษณุโลก แนวเส้นทางยังคงใช้พื้นที่ในเขตทางรถไฟเดิม ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 12 เลี้ยวซ้ายไปทางทิศตะวันตกผ่านพื้นที่อำเภอพรหมพิราม อำเภอกงไกรลาศ ก่อนถึงสุโขทัยเลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านอำเภอศรีสำโรง อำเภอสวรรคโลก และอำเภอศรีสัชนาลัย จากนั้นแนวเส้นทางจะผ่านอำเภอวังชิ้นเข้าสู่ อำเภอลอง ยกระดับรถไฟข้ามทางหลวงหมายเลข 1023 ก่อนที่จะเป็นอุโมงค์ลอดใต้ทางหลวงหมายเลข 11 (เด่นชัย-แขวงลำปาง) ขนานไปตามทางหลวงหมายเลข 11 ผ่านอำเภอแม่ทะ เข้าสู่สถานีรถไฟลำปาง

          สำหรับช่วงลำปาง-เชียงใหม่ จะมีแนวเส้นทางตัดใหม่และใช้พื้นที่เขตทางรถไฟเดิม โดยผ่านช่วงหนองวัวเฒ่า-สถานีห้างฉัตร เส้นทางรถไฟอยู่ในเขตทางรถไฟเดิม จากสถานีห้างฉัตร-ลำพูน เป็นแนวเส้นทางตัดใหม่ เริ่มต้นจากสถานีห้างฉัตร จะเบี่ยงแนวไปทางซ้ายของทางรถไฟเดิมไปอำเภอแม่ทา ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 11 และทางรถไฟเดิมบริเวณสถานีศาลาแม่ทา ไปบรรจบกับทางรถไฟเดิมก่อนถึงสถานีรถไฟลำพูนประมาณ 10 กิโลเมตร วิ่งไปตามเขตทางรถไฟเดิมจนถึงสถานีรถไฟลำพูนและปลายทางที่สถานีเชียงใหม่

มี 5 สถานีได้แก่

          สถานีสุโขทัย

          ศรีสัชนาลัย

          ลำปาง

          ลำพูน

          เชียงใหม่

          ทั้งนี้จะเป็นสถานีใหม่ 2 แห่ง คือสุโขทัย ห่างจากตัวเมือง 6 กิโลเมตร และศรีสัชนาลัย ห่างจากตัวเมือง 3 กิโลเมตร ส่วนอีก 3 สถานี จะใช้พื้นที่ของสถานีรถไฟเดิมอยู่ในตัวเมืองและมีศูนย์ซ่อมบำรุงที่จังหวัดเชียงใหม่

          ในด้านการใช้ประโยชน์จะขนส่งได้ทั้งคนและสินค้า ซึ่งคาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการปีแรก 24,800 เที่ยวคนต่อวัน และขนส่งสินค้าประเภท สินค้าไปรษณียภัณฑ์เร่งด่วน และสินค้าที่ขนส่งทางอากาศ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ต้องการความรวดเร็วในการขนส่ง ราคาสูงและเน่าเสียง่าย

สำหรับอัตราค่าโดยสารจะคิดตามระยะทาง แยกเป็น 3 ชั้น ดังนี้

          ชั้นวีไอพี มี 3 ที่นั่งต่อแถว ค่าแรกเข้า 200 บาท ค่าโดยสาร 4 บาทต่อกิโลเมตร

          ชั้นธุรกิจ มี 4 ที่นั่งต่อแถว ค่าแรกเข้า 100 บาท ค่าโดยสาร 2.50 บาทต่อกิโลเมตร

          ชั้นมาตรฐาน มี 5 ที่นั่งต่อแถว ค่าแรกเข้า 70 บาท ค่าโดยสาร 1.50 บาทต่อกิโลเมตร

          รวมค่าโดยสารแล้ว หากนั่งจากกรุงเทพฯ ยาวถึงเชียงใหม่ จะใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมง 16 นาที เสียค่าโดยสารประมาณ 1,100-2,900 บาทต่อเที่ยว



ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เอาแน่ ! รถไฟไฮสปีด กทม.-เชียงใหม่ เริ่มก่อสร้างไม่เกินปลายปี 60 อัปเดตล่าสุด 16 เมษายน 2558 เวลา 18:14:32 1,322 อ่าน
TOP