x close

ดร.สามารถ ชี้รถไฟทางคู่ไทย อย่าให้จีนชี้นำ


ดร.สามารถ  ราชพลสิทธิ์
ดร.สามารถ  ราชพลสิทธิ์



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก ดร.สามารถ  ราชพลสิทธิ์

             ดร.สามารถ ชี้รถไฟทางคู่ไทย อย่าให้จีนชี้นำ หรือดัดแปลงแนวเส้นความเร็ว เนื่องจากไทยอาจจะไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด

             วันนี้ (23 พฤศจิกายน 2557) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เฟซบุ๊ก ดร.สามารถ  ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และอดีตรองผู้ว่าราชการ กทม. ได้โพสต์ข้อความระบุว่า รถไฟทางคู่ไทยอย่างให้จีนมาชี้นำหรือดัดแปลงแนวเส้นความเร็ว เนื่องจากไทยอาจจะไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด ดังนี้.. 

             "รถไฟทางคู่ของรัฐบาลประยุทธ์ได้ดัดแปลงแนวเส้นทางของรถไฟความเร็วสูงมาจากรัฐบาลอภิสิทธิ์โดยมีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านราคาและเส้นทางแต่ไม่มีการศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) มาตามลำดับ ดังนี้


1. รถไฟทางคู่ครั้งที่ 1

             ในปลายเดือนกรกฎาคม 2557 ก่อนมีรัฐบาลประยุทธ์ มีการประโคมข่าวใหญ่โตว่าจะมีการก่อสร้างรถไฟทางคู่โดยใช้รางกว้าง 1.435 เมตร ซึ่งเท่ากับรางของรถไฟความเร็วสูง แต่มีความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ประกอบด้วย 2 เส้นทาง ดังนี้

             (1) หนองคาย-โคราช-สระบุรี-แหลมฉบัง-มาบตาพุด ระยะทาง 737 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 392,570 ล้านบาท หรือค่าก่อสร้างเฉลี่ย 532.66 ล้านบาท/กิโลเมตร

             (2) เชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี-แหลมฉบัง ระยะทาง 655 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 348,890 ล้านบาท หรือค่าก่อสร้างเฉลี่ย 532.66 ล้านบาท/กิโลเมตร

             ผมได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเป็นไปไม่ได้ที่ค่าก่อสร้างเฉลี่ยต่อกิโลเมตรจะเท่ากันทั้งสองเส้นทางคือ 532.66 ล้านบาท/กิโลเมตร เพราะลักษณะภูมิประเทศของเส้นทางทั้งสองต่างกัน อีกทั้ง ได้วิจารณ์ว่าเป็นราคาค่อนข้างสูง เพราะมีราคาพอ ๆ กับค่าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในแผนเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท (สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์) ซึ่งมีค่าก่อสร้างเฉลี่ย 541.50 ล้านบาท/กิโลเมตร แต่การก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั้งสองสายดังกล่าวไม่ใช่เป็นการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 250-300 กิโลเมตร/ชั่วโมง ดังนั้น ค่าก่อสร้างรถไฟทางคู่จะต้องถูกกว่า

2. รถไฟทางคู่ครั้งที่ 2

             จากรถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง ก็ถูกเปลี่ยนเป็น 3 เส้นทาง ในปลายเดือนตุลาคม 2557 ประกอบด้วย (1) กรุงเทพฯ-นครราชสีมาและนครราชสีมา-มาบตาพุด (2) กรุงเทพ-ระยอง และ (3) นครราชสีมา-หนองคาย พร้อมทั้งปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดเป็น 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

             ผมได้วิจารณ์ว่าเป็นการเปลี่ยนเส้นทางโดยไม่มีการศึกษาความเหมาะสม ทำให้ได้เส้นทางที่ดูแปลกๆ นั่นคือเส้นทางจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมาและนครราชสีมา-มาบตาพุด ผมนึกไม่ออกว่าจะมีใครคิดจะเดินทางหรือขนส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ ไปมาบตาพุดโดยผ่านนครราชสีมาซึ่งเป็นเส้นทางที่อ้อมให้เสียเวลา

3. รถไฟทางคู่ครั้งที่ 3

             ในเดือนพฤศจิกายน 2557 หลังจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กลับจากประชุมเอเปค ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มีการแถลงว่าจะก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดราง 1.435 เมตร วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยความร่วมมือกับจีน 3 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย ช่วงแก่งคอย-กรุงเทพฯ และช่วงแก่งคอย-ชลบุรี-มาบตาพุด ระยะทางรวม 867 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 392,570 ล้านบาท รถไฟทางคู่นี้จะใช้ขนทั้งคนและสินค้า ซึ่งต่อไปจะพัฒนาเป็นรถไฟความเร็วสูง

             ผมได้วิจารณ์ว่าค่าก่อสร้างรถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง เฉลี่ย 452.79 ล้านบาท/กิโลเมตร แม้จะลดลงจากเดิมก็ยังถือว่าแพง

             ก่อนที่จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ภายในเดือนธันวาคม 2557 ที่ประเทศจีน ผมขอให้ความเห็นเพื่อบรรจุไว้ในเอ็มโอยู ดังนี้

             1. จะต้องระบุให้มีการศึกษาความเหมาะสมเพื่อหาเส้นทางที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย นั่นคือ เป็นเส้นทางที่มีผู้โดยสารมาก ผมถือว่าเส้นทางมีความสำคัญมาก หากได้เส้นทางไม่ดีก็เจ๊งตั้งแต่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง ดังนั้น รัฐบาลจะต้องฟังเสียงคนไทย เพราะคนไทยรู้จักเส้นทางดีกว่าคนจีน

             2. จะต้องคำนวณราคาก่อสร้างใหม่ให้เหมาะสม ซึ่งควรถูกลง ไม่ใช่ 452.79 ล้านบาท/กิโลเมตร ซึ่งแพง! หากยังคงยืนยันว่าจะต้องเสียค่าก่อสร้าง 452.79 ล้านบาท/กิโลเมตร ก็สร้างเป็นรถไฟความเร็วสูงเสียเลย

             3. จะต้องเลือกรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม การคาดหวังให้ประเทศจีนช่วยหรือลงทุนให้นั้น เป็นไปไม่ได้ที่จีนจะไม่หวังผลตอบแทนจากเราในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

             4. หากต้องการขนสินค้าด้วย จะต้องหาปริมาณสินค้าและประเภทของสินค้าที่จะมีการขนส่งระหว่างสองประเทศ ไทยจะขนอะไรไปจีน และจีนจะขนอะไรมาไทย ที่สำคัญ หลังจากเปลี่ยนจากรถไฟทางคู่เป็นรถไฟความเร็วสูง จะต้องตอบให้ได้ว่าจะขนสินค้าได้อย่างไร

             5. ไทยจะต้องมีอิสระในการเลือกเทคโนโลยี รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์และผู้รับเหมาก่อสร้าง

             6. ควรศึกษาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียในการก่อสร้างรถไฟทางคู่กับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 250-300 กิโลเมตร/ชั่วโมง

             ผมทราบมาว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานโครงการรถไฟทางคู่ขนาดราง 1.435 เมตร ซึ่งวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง หนักใจกันมาก เขาบอกว่าควรเร่งก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตร ที่มีการศึกษาและออกแบบไว้แล้วดีกว่า ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งได้ใกล้เคียงกัน แต่ใช้เงินน้อยกว่ามาก ซึ่งผมก็มีความเห็นเช่นนั้น เพราะรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตร จะสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้ามีการแก้ปัญหาจุดตัดระหว่างทางรถไฟกับถนน โดยก่อสร้างถนนลอดใต้ทางรถไฟ หรือก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ เช่นเดียวกับรถไฟทางคู่ขนาดราง 1.435 เมตร จะวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้นั้นก็ต้องแก้ปัญหาจุดตัดระหว่างทางรถไฟกับถนน

             ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ก็เพราะไม่ต้องการให้จีนชี้นำ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยไม่ได้รับประโยชน์สูงสุดครับ





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดร.สามารถ ชี้รถไฟทางคู่ไทย อย่าให้จีนชี้นำ อัปเดตล่าสุด 27 พฤศจิกายน 2557 เวลา 17:50:16
TOP