x close

คมนาคม ทุ่ม 2 ล้านล้าน ลุยโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมเดินหน้ารถไฟรางคู่


รถไฟไทย


           กระทรวงคมนาคม ทุ่ม 2 ล้านล้าน ลุยโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง พร้อมเดินหน้าขยายรถไฟรางคู่ 6 เส้นทาง เตรียมตั้งกรมการขนส่งทางรางรองรับ

           เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2557 มีรายงานว่า นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ได้เผยถึงกรอบลงทุนแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง (Action Plan) ในยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย 10 ปีข้างหน้า ใน 4 เป้าหมาย 5 แผนงาน โดยมีกรอบเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 2.006 ล้านล้านบาท เป็นโครงการระยะเร่งด่วนปี 2558 วงเงิน 68,977 ล้านบาท และระยะยาว 10 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2568 วงเงินรวม 1.938 ล้านล้านบาท ดังนี้

             1. แผนงานการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง 509,640 ล้านบาท 

            2. แผนงานการพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 631,291 ล้านบาท 

            3. แผนงานการเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเชื่อมโยงฐานการผลิตและเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน 587,437 ล้านบาท 

            4. แผนงานการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ 76,666 ล้านบาท

            5. แผนงานการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศ 132,974 ล้านบาท
        
      
             สำหรับโครงการจะเริ่มต้นในปี 2558 วงเงิน 68,977 ล้านบาท ประกอบด้วย 

            1. พัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงประตูการค้าระหว่างประเทศ

            2. พัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงกับประตูการค้าชายแดน

            3. พัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงกับเมืองหลักในภูมิภาค

            4. แก้ปัญหาการจราจรจากเมืองหลักในภูมิภาคสู่ปริมณฑลและกรุงเทพฯ

            5. พัฒนารถไฟทางคู่


             ทางด้าน พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า โครงการตาม Action Plan ของกระทรวงคมนาคมจะแล้วเสร็จในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ว่าสุดท้ายแล้วโครงการลงทุนพัฒนาด้านต่าง ๆ จะใช้เงินลงทุนสุดท้ายเท่าไหร่ แล้วจะนำเสนอให้ ครม. อนุมัติต่อไป เนื่องจากได้ปรับแผนการลงทุนจากเดิมที่ คสช. อนุมัติไว้ 8 ปี เป็น 10 ปี เพื่อสอดคล้องกับการทำงบประมาณ

             ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้มีแผนจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางขึ้น เพื่อลงทุนและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางราง รวมทั้งการกำกับดูแลด้านความปลอดภัย กำกับดูแลทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานและกฎระเบียบที่จำเป็น ซึ่งจะเป็นการแยกบทบาทหน้าที่ด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการกำกับดูแลออกจากการประกอบการหรือการให้บริการอย่างชัดเจน โดยคาดว่าจะได้เห็นเป็นรูปธรรมภายในปี 2558

             โดย พล.อ.อ. ประจิน ระบุว่า ปัจจุบันการขนส่งทางรางโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย  (ร.ฟ.ท.) ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศรวมระยะทางประมาณ 4,000 กิโลเมตร และขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายที่จะก่อสร้างรถไฟทางคู่รวมระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร รวมทั้งผลักดันการก่อสร้างทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร ระยะทางประมาณ 3,000 กิโลเมตร จึงมีความจำเป็นที่ต้องจัดตั้งหน่วยที่รับผิดชอบในการขนส่งทางรางโดยเร็ว

              อนึ่งรัฐบาลได้กำหนดโครงการเร่งด่วนปี 2557-2558 ประกอบด้วย ขยายรถไฟทางคู่เดิม 6 เส้นทาง และรถไฟทางคู่แบบขนาดทางมาตรฐาน ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 2 เส้นทาง และโครงข่ายถนนสายหลักเชื่อมเมืองหลักกรุงเทพฯ และปริมณฑล และรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน หรือรางขนาด 1.435 เมตร ความเร็ว 160 กม./ชม. ซึ่งหากสามารถขยายได้ตามแผนจะทำให้ขบวนรถไฟที่ให้บริการวันละ 288 เที่ยว/วัน เพิ่มเป็น 800 เที่ยว/วัน 


             โดยโครงการรถไฟทางคู่ ระยะเร่งด่วน 6 เส้นทาง 887 กม. ประกอบด้วย 

              (คาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2558-2561)

              1. ชุมทางจิระ-ขอนแก่น

              2. ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 

              3. นครปฐม-หัวหิน

              (ระยะเวลาดำเนินการ 2559-2563)

              4. มาบกะเบา-นครราชสีมา 

              5. ลพบุรี-ปากน้ำโพ 

              6. หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
  



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คมนาคม ทุ่ม 2 ล้านล้าน ลุยโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมเดินหน้ารถไฟรางคู่ อัปเดตล่าสุด 11 ตุลาคม 2557 เวลา 01:59:12
TOP